xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ แย้มคุยปรองดองต่อ เลี่ยงตอบปมสัมปทานปิโตรฯ-ลุยปฏิรูปสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ไม่จุ้นของร้อน แย้มพิจารณาปมปรองดอง คุยต่อพัทยา เลี่ยงตอบสัมปทานปิโตรฯ ส่อขัดหลักการปฏิรูปพลังงานให้ปิโตรฯ เป็นทรัพยากรชาติ อ้างร่าง รธน.ยังไม่มีผล ยกเครื่องสิ่งแวดล้อม เพิ่ม คกก.2 คณะ บูรณาการ กม. ทำบัญชีสีเขียว ปรับโครงสร้างทั้งระบบ ห้ามเจ้าของโรงงานจ้างทำอีไอเอ-เอชไอเอ แก้ปัญหาซูเอี๋ย ปูดคนระยองทุกข์หนักนิคมฯ ก่อมะเร็งเพิ่ม 4 เท่า



วันนี้ (18 ก.พ.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิรูปคาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ สำหรับเรื่องการปรองดองถ้าพิจารณาไม่ทันในวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์นี้จะนำไปพิจารณาต่อที่โรงแรมฮอลิเดย์อิน พัทยา ในการประชุมนอกสถานที่ รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับระบบการเมืองต่างๆ ด้วย

ส่วนเรื่องการปฏิรูปด้านพลังงานนั้น มีการกำหนดว่าต้องบริหารจัดการพลังงานอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน ให้ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นเป็นทรัพยากรของชาติและมีไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง และดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้น ให้การสำรวจ การผลิต และการใช้ปิโตรเลียมหรือพลังงานอื่นใดต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนและชุมชน อีกทั้งต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าถึงและเข้าใจในข้อมูลด้านพลังงาน และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงานทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งการติดตามและตรวจสอบการดำเนินนโยบายและแผนนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ขัดแย้งกับหลักการที่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมและให้ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรของชาติหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวเลี่ยงว่า เนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ทุกรัฐบาลก็ต้องฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเห็นด้วย ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องชั่งน้ำหนักเพื่อตัดสินใจในการบริหารประเทศ

ด้านนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การปฏิรูปสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจำเป็น เพราะปัจจุบันมีปัญหาอุตสาหกรรมสกปรกที่สร้างมลพิษ กระทบกับสุขภาพของประชาชน เช่น จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมีคนเป็นโรคมะเร็งมากกว่าจังหวัดอื่นถึง 4 เท่าตัว ในรอบรัศมี 5 กิโลเมตรของนิคมเด็กเกิดใหม่จะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กทั่วไป อีกทั้งยังมีขยะพิษฝังกลบแบบผิดกฎหมายทำให้เกิดการปนเปื้อน สิ่งเหล่านี้จะต้องปฏิรูปเพื่อแก้ไข

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การปฏิรูปสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์สำคัญซึ่งต้องมีการปฏิรูปโครงสร้าง ระบบ องค์กร และกฎหมาย โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการประมวลกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและคณะกรรมการประมวลกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติ ขึ้นมาทำหน้าทั้งบูรณาการกฎหมายเดิมและร่างกฎหมายใหม่ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับน้ำ ขยะ มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยปรับปรุงระบบการคำนวณต้นทุนความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม การเยียวยาความเสียหาย องค์กรและสถาบันเกี่ยวกับความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม การบังคับคดีด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับปรุงกลไกและกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างแท้จริง

นายบัณฑูรกล่าวว่า ระบบการจัดทำรายงานอีไอเอ และอีเอชไอเอ จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เจ้าของโรงงานเป็นผู้จ้างตรงอีกต่อไป เนื่องจากมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ รวมถึงเครื่องมือเรื่องการผังเมืองให้ใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่อลดความขัดแย้ง และจะมีการปรับปรุงกลไกการบริหารจะดการทรรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดทำต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติ บัญชีธรรมชาติสีเขียว จัดภาษีสิ่งแวดล้อม และเครื่องมือเศรษฐศาสตร์ในการจัดการสิ่งแวดล้อม

กำลังโหลดความคิดเห็น