ชาวอยุธยา-ปราจีนบุรีร้องกรรมการสิทธิฯ โวยก่อส่งก๊าซ ปตท.กระทบธุรกิจ ทำกล้วยไม้ไม่ออกดอก มีสารตกค้างจนปลูกพืชไม่ได้ แถมดินสไลด์ทำปลาตายด้วย ด้าน “หมอนิรันดร์” เตรียมลงพื้นที่ 20 ก.พ.
วันนี้ (9 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) นายวริทธิ์ธร กลิ่นภู่ ตัวแทนชาวบ้าน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และนายภิญโญ จันทวงษ์ ตัวแทนชาวบ้าน จ.ปราจีนบุรี ได้เข้ายื่นคำร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ขอให้ตรวจสอบกรณีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) วางแนวท่อส่งก๊าซ เส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) ทับที่ดินชาวบ้านกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่
โดยนายวรินทธิ์ธรกล่าวว่า ตนประกอบอาชีพทำสวนกล้วยไม้ การวางแนวท่อส่งก๊าซของบริษัท ปตท. และบริษัทกัลฟ์ เจพี ยูที จำกัด ที่เป็นบริษัทฯ รับซื้อก๊าซจาก ปตท.เพื่อขายให้กับโรงไฟฟ้าอุทัย มีการใช้สารเบนโทไนต์ ในการทำลายดินเพื่อจะได้เจาะลอดวางท่อในใต้ดินได้ สารเคมีดังกล่าวแพร่กระจายอยู่ใต้ดินในรัศมี 40 เมตร ส่งผลทำให้กล้วยไม้ที่ปลูกในพื้นที่ 23 ไร่ได้รับผลกระทบไม่ออกดอก เป็นเชื้อรา แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการร้องเรียนไปยังนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด บริษัทปตท. บริษัท กัลฟ์ ซึ่งได้มีการเข้ามาเก็บกู้สารดังกล่าวออกไป แต่การตกค้างยังคงอยู่ ก่อนหน้านี้ตนได้เก็บดินที่มีสารเบนโทไนต์ไปให้กรมวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบก็ระบุว่ามีค่าเกลือสูงถึง 4,000 มิลลิกรัม ไม่สามารถปลูกพืชได้
ขณะที่นายภิญโญกล่าวว่า ใน จ.ปราจีนบุรี นอกจากสวนสมุนไพรอภัยภูเบศร์จะได้รับผลกระทบแล้ว ตอนนี้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้รับผลกระทบด้วย โดยพบว่าจุดที่มีการวางท่อแล้วไม่มีการนำดินมากลบฝัง มีปัญหาดินสไลด์ลงบ่อปลาทำให้ปลาตาย
ด้าน นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการยื่นคำร้องต่อกรณีดังกล่าวแล้ว 3 สำนวน ถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ในการใช้ที่ดินเพื่อการทำกิน คือ กรณีการทำสวน และการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ คือ กรณีของสวนสมุนไพรอภัยภูเบศร์ ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแล้วการจะดำเนินโครงการใดที่จะมีผลกระทบต่อชาวบ้านชุมชน เจ้าของโครงการตองรับฟังความเห็นของชาวบ้านและตอบชาวบ้านให้ได้ว่าจะรับผิดชอบ เยียวยา และฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ต้องคุยกันให้เสร็จก่อนที่จะเริ่มฝังท่อ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทางกรรมการสิทธิฯ จะมีหนังสือไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พิจารณาระงับการวางท่อไว้ก่อน และจะมีลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 20 ก.พ.นี้