xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” มอบนโยบายงบ 59 เมินปรับ ปตท. ปัด พ.ร.บ.ไซเบอร์ล้วงตับ จี้แยกปรองดองให้ออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ประชุมจัดทำงบฯ 59 ย้ำปรับให้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้ใช้จ่ายงบเสียหาย เข้มโกง จี้ลดราคากลาง หวังมั่นคงตามหลัก ศก.พอเพียง มุ่งทำให้เกษตรกรรายได้สูง ยันชิงสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รับพลังงานทำราคาแค่สอดคล้องตลาด เมิน ปรับ ปตท. โวไตรมาส 2-3 เห็นผลงาน แจงรัฐต้องช่วยส่งออก ติงสื่ออย่ายั่วไล่บี้จัดซื้อ โต้ พ.ร.บ.ไซเบอร์ล้วงตับ ปชช. ให้ร่างไปก่อน โยงดูแลผิด ม.112 บี้แยกให้ออกปรองดองคืออะไร



วันนี้ (21 ม.ค.) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 จัดโดยสำนักงบประมาณ โดยมีคณะรัฐมนตรี และผู้บริหารจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นเข้าร่วม

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการจัดทำงบประมาณเพื่อให้เกิดการบูรณาการและความพร้อมในการบริหารใช้จ่ายให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล วันนี้การจัดทำงบประมาณจำเป็นต้องมีประสิทธิภาพเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยทุกคนต้องทราบว่าประเทศต้องการอะไร ในวันนี้เราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งต่อประเทศในทุกมิติ เพื่อเข้าสู่วิสัยทัศน์มั่นคง มั่นคงและยั่งยืน ในช่วงปี 2015-2020 ทุกกระทรวงต้องนำไปขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นและตีความว่าหน่วยงานของตนเองจะต้องดำเนินการอย่างไรตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งที่ผ่านมาเราขาดความเข้มแข็งพื้นฐานทางเศรษฐกิจขยายตัวจำกัด ไม่มีต่อเนื่อง มั่นคง จึงต้องปรับปรุงสิ่งที่เป็นอุปสรรค โดยต้องสร้างระบบเศรษฐกิจของเราที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา เราต้องสร้างระบบที่ดี โดยข้าราชการที่เข้าต้องทำตามระบบ เพราะมีทั้งคนดีไม่ดี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วงเงินงบประมาณปี 59 ได้กำหนดไว้แล้ว โดยจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบงบประมาณปี 58 โดยมี คตร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจสอบ ไม่ได้ต้องการจับผิด เพียงแต่จะขับเคลื่อนให้ทำงานให้ดีที่สุด เพราะต้องเร่งรัดให้ทันเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนประเทศภายใน 1 ปี เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สำหรับการจัดทำงบประมาณทุกหน่วยงานได้เน้นย้ำว่าจะต้องปรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก โดยการพัฒนาประเทศมีทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ซึ่งภายนอกคือสิ่งที่ประชาคมโลกสนใจ เช่น ความเชื่อมโยง สาธารณูปโภคพื้นฐาน ความขัดแย้งของมหาอำนาจต่างๆ โรคระบาด การก่อการร้าย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่บ้านเราไม่มีปัญหาดังกล่าว หลายเรื่องได้มีการเตรียมการไว้แล้ว อย่ากังวลตรงนั้นว่าจะทำให้กระทบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม เจตนารมย์ของรัฐบาลต้องการให้ประเทศมีความมั่นคงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งต้องตีความให้ออกว่ามันคืออะไร การลงทุนและทำงานต้องมีความรู้คุ่คุณธรรม สิ่งที่เราทำวันนี้มี 3 ระยะ โดยระยะเร่งด่วนได้ทำไปแล้วในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา คู่ขนานไปกับการทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะกลางคือการออกกฎหมาย โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงความคิดเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทุกคนทำงานคู่ขนานเพื่อให้ประเทศเกิดความยั่งยืนในอนาคต ส่วนระยที่ 3 คือการส่งต่อให้รัฐบาลถัดไป ทั้งนี้ต้องมีฐานรากที่เข้มแข็งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งซ้ำรอยในวันหน้า

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นโครงสร้างใหญ่ๆ ยังไม่สามารถปรับปรุงได้ชัดเจน เช่น การปรับโครงสร้างกระทรวง ปรับระบบการศึกษา ปรับโครงสร้างตำรวจ หรือหน่วยงานต่างๆนั้นยังทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะเวลามีแค่นี้ ฉะนั้นสิ่งที่ทำในวันนี้คือบริหารงานในขณะที่โครงสร้างเหล่านี้ยังมีอยู่ แต่อาจจะต้องมีการปรับแก้ภายในโดยผู้บังคับบัญชาต้องสั่งการว่าจะมีหน้าที่ใดเพิ่มเติม หน่วยงานใดงานน้อยต้องปรับเพิ่ม

สำหรับโครงสร้างพลังงานเราแก้ได้แต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับราคาตลาด เราไม่ได้พูดว่าจะปรับกระทรวงพลังงาน ปตท.อย่างไร เป็นคนละเรื่อง อย่านำเรื่องดีๆมาตีเรื่องที่ไม่ดีให้พังไปทั้งหมด วันนี้เราต้องทำอย่างไรที่จะเดินหน้าประเทศ สร้างความไว้ใจให้กับประชาชน คนทั่วไปมาห่วงว่ามีกลุ่มอำนาจ มันไม่มีทั้งนั้น มีไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าวันนี้ วันไหนก็มีไม่ได้ มีแต่เพียงอำนาจในการบริหารราชการ ปกครองบังคับบัญชาในหน่วยงานแค่นั้น การแสวงผลประโยชน์จะต้องไม่มีเด็ดขาด คนในประเทศต้องเข้าใจว่าเราพูดทำไม เราบอกได้เพียงว่าเราไม่ต้องการผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น สลึงเดียวก็ไม่ต้องการ และอยากให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและการทำงานในช่วงที่ 2 ทุกหน่วยงานต้องทำให้ดีที่สุดและช่วยอธิบายสร้างเข้าใจแทนตนเองด้วย ซึ่งคณะทำงานต่างๆ ที่ตั้งมานั้นตั้งขึ้นเพื่อทำงานไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ โดยในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 58 คาดว่าสิ่งที่เราได้ทำทั้งการปราบปรามการค้ามนุษย์ จัดระเบียบประมง การตรวจสอบการทุจริตนั้นทั้งหมดจะเห็นผลงานออกมา

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้นแล้วในไตรมาสที่ 4 เมื่อปี 57 หลายคนกังวลว่ารัฐบาลเข้ามาแบบนี้แล้วจะไม่มีคนมาเที่ยวเพราะมีกฎหมายพิเศษ แต่ตนไม่เห็นว่าเขาจะตื่นเต้นอะไร ซึ่งรัฐบาลมีงบประมาณกองทุนในการแก้ปัญหากรณีมีอุบัติเหตุเราก็ชดเชยให้เขา บริษัทไม่ประกันก็ไม่เป็นไร เราต้องดูแลคนต่างชาติให้เหมือนเป็นคนของเราเอง โดยวันนี้ถือว่านักท่องเที่ยวเข้าประเทศเป็นไปตามเป้าหมายถึงแม้จะตั้งไว้ 25 ล้านคน แต่เข้ามา 23 ล้านคนก็ตาม เพราช่วง 6 เดือนแรกคนไทยยังมีการทะเลาะเบาะแวงกัน วันนี้เศรษฐกิจโลกมีการผันผวน การส่งออกทำได้ไม่เต็มที่ เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีการส่งออกเต็มที่ต้องเริ่มจากสร้างความเข้มแข็ง ด้านการตลาด กำหนดอุปสงค์อุปทาน คือสิ่งที่ต้องเอามาคิด วันนี้ภาคเอกชนไม่สามารถทำได้มากนัก ที่ผ่านมาภาคเอกชนสามารถเดินได้ตลอดถึงแม้จะเปลี่ยนกี่รัฐบาลก็อยู่ได้ แต่เราต้องปรับเปลี่ยนเนื่องจากถ้ายังเดินอย่างนั้นจะยังเข้มแข็งไม่พอ รัฐบาลต้องเป็นส่วนเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่เสียประโยชน์ของชาติ แต่อย่าเอากฎกติกามาทำให้ติดขัดทางธุรกิจ จ้องทำโดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ให้เกิดผลกระทบในการทุจริต ซึ่ง สนช.ก็พร้อมแก้กฎหมายให้เกิดประโยชน์การติดต่อราชการต้องเป็นวันสตอปเซอร์วิสและได้คำถามตามระยะตามกำหนด ถ้ามีการรายงานมาก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งตนได้สั่งการไว้หมดแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 58 ยังต่ำอยู่ โดยเฉพาะงบลงทุน อาจจะเป็นเพราะเหตุผลบางประการต้องดูว่าทำอย่างไร บางครั้งทำแต่หัวข้อหลักๆ แต่ไม่มีรายละเอียด ซึ่งต้องจัดลำดับให้ได้ เชื่อว่าในปี 59 นี้จะดีขึ้น โดยสิ่งที่ต้องคำนึงคือจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งจะต้องเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนให้เกิดการสร้างงานต่อไปเพราะเราไม่สามารถนำเงินไปอุดหนุนให้ทุกกลุ่ม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐคือสิ่งที่รัฐบาลและคสช.ให้ความสำคัญต่อ โดยที่ผ่านมามีการตรวจสอบแต่ยังไม่อะไรที่เสียหายร้ายแรง ยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นเด็ดขาด หากเกิดขึ้นก็จะต้องลงโทษ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามามีการปรับลดราคากลางได้ถึงร้อยละ 20-30 คิดเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท จึงขอให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาว่าจะสามารถปรับลดราคากลางแต่ละโครงการได้อย่างไร และบางคดีอย่าให้ค้างอยู่ที่ศาล วานนี้ตนหงุดหงิดกับสื่อมาถามตนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเรือท้องแบนของกองทัพ ตนจะรู้ไหม ตระกูลเขาไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร นักข่าวมายั่วอารมณ์แบบนี้ทุกวัน แล้วมาบอกว่านายกฯ ต้องอารมณ์ดี ลองมาเป็นท่านบ้างแล้วกัน อย่ามาถามเรื่องแบบนี้กับตน ให้ไปถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนได้ตอบว่าให้ไปแจ้งความ เขาบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของสื่อที่จะร้องเรียนแล้วหน้าที่มันคืออะไร พูดกวนอารมณ์หรืออย่างไร มันไม่ใช่ เรื่องดีๆ ไม่เคยพูดไม่เคยถาม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับกรอบวงเงินปีงบประมาณ 59 ได้กำหนดไว้แล้วที่ 2.7 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 58 ร้อยละ 5.6 ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุล เพราะต้องตั้งให้ขาดทุนไว้ไม่เช่นนั้นจะไม่มีงบลงทุน โดยจะควบคุมการขาดดุลในงบประมาณที่อยู่ในกรอบของความยั่งยืน และตั้งเป้าไว้ประมาณร้อยละ 2.9 ของจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้แม้งบประมาณปี 59 จะเพิ่มขึ้นแต่รัฐบาลพยามยามจะควบคุมรายจ่ายประจำ ไม่เช่นนั้นจะมากขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือน เงินช่วยเหลือ โดยต้องลดความซ้ำซ้อนของงานให้รายจ่ายประจำคงที่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะไปอยู่ในการปฏิรูป ส่วนการลงทุนต้องพิจาณาว่าจะปรับลดรายจ่ายประจำได้อย่างไร เช่น ราคาน้ำมันที่ลดลจะปรับส่วนใดได้บ้างซึ่งน่าจะทำได้ ทั้งนี้งบประมาณปี 59 มีการตั้งแผนงาน 19 เรื่องที่ครอบคลุมนโยบายสำคัญของรัฐบาล อยากให้ทุกกระทรวงไปดูว่างานของตนเกี่ยวข้องกับอะไร ไม่ใช่กระทรวงของใครของมันใช้งบประมาณของตัวเองทำให้ผลออกมาไม่ชัดเจน เกิดความซ้ำซ้อนและไม่ทั่วถึง วันนี้จึงต้องรับทำร่วมมือบูรณาการให้ทุกส่วนได้รับประโยชน์เป็นการทำงานจากบนลงล่าง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการจัดทำงบประมาณปี 59 ได้ให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ คือประเทศเรามีเกษตรกรเป็นหลักทำอย่างไรให้มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งจะต้องพัฒนาในด้านการตลาดและเทคโนโลยีในการเพาะปลูกมากขึ้นและสร้างเสถียรภาพของผลผลิตทางการเกษตร ไม่ก่อให้เกิดภาระของประเทศและไม่ถูกนำมาใช้ในทางการเมือง ต้องเข้าไปดูเรื่องต้นทุนการพัฒนา อย่างเช่น ข้าวที่ต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านแล้วจะไปแข่งขันได้อย่างไร เพราะคุณภาพก็พอๆ กัน จึงต้องไปปรับปรุงคุณภาพด้วย

ส่วนราคายางพาราจะทำให้ราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท ได้อย่างไรในเมื่อทั้งโลกเปลี่ยนแปลงเราต้องปรับตัวทั้งคู่ รัฐต้องดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่านประชาชนก็ต้องเตรียมตัวไม่ใช่อะไรก็ไม่ได้ ใครมาเป็นรัฐบาลก็ทำไม่ได้ บอกแบบนี้ เราพยายามทำให้เต็มที่ไม่ได้ไปเปิดศึกกับใคร สำหรับโครงสร้างพื้นฐานเราต้องสร้างให้ได้ เพราะถ้าไม่สร้างเราจะเสียโอกาสในการเป็นประเทศศูนย์กลางการเชื่อมต่อ เราต้องชิงความได้เปรียบในปีนี้ ถ้าไม่ทำก็ไปตามก้นประเทศอื่นในอาเซียน

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึง พ.ร.บ.ดิจิตอลว่า “เป็นเรื่องของกฎหมาย ส่วนที่ดีไม่มีใครพูด อะไรที่ไม่ดีอย่างจะถูกปิดกั้นนั้นบอกว่าไม่ได้ปิดกั้น เปิดดูในโทรศัพท์สิ มีไหม ที่เขียนอะไรไม่ดีน่ะมีไหม ที่มาจากต่างประเทศ เรื่องสถาบัน แล้วมาด่าว่าทำไมผมไม่ดูแล แต่เวลาผมจะดูแลก็ไม่ให้ดู ผมไม่ได้จะไปล้วงตับท่าน ไม่ได้ไปดูส่วนตัวท่านซะหน่อย ร่างไปก่อน อีกตั้ง 3 กรรมาธิการ มันไม่ออกมาง่ายๆ หรอก เดี๋ยวเขาก็คิดออกมาเองหรอก วันนี้มีกฎหมาย 100 กว่าร่าง ต้องเร่งออกให้ได้ เพราะมันไม่เคยออก แต่จะออกมาอย่างไรให้ไปพิจารณากันใน สนช. ก็ไปฟังเขาบ้าง นี่ไม่ฟัง คิดเองหมด อย่างนี้ไม่ต้องเป็นประเทศแล้วมั้ง”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า เราจะพัฒนาเรื่องซอฟต์แวร์ ระบบการให้บริการ การขาย ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวของท่านก็ไม่มีใครไปยุ่ง แต่ถ้าทำผิดก็ต้องเข้าไปดูแล อย่างที่มาหาว่ารัฐบาลไม่เข้ามาดูแลกรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เว็บไซต์เหล่านั้นเปิดอยู่ในต่างประเทศ ปิดไม่ได้ เพราะต่างชาติเขาไม่มีกฎหมายแบบเรา เขาไม่ให้ แล้วทำไมไม่ทำประเทศเราให้มันสงบปลอดภัย ในเมื่อบ้านเราไม่เหมือนบ้านเขา คนไทยไม่เหมือนฝรั่ง เรากินข้าวเขากินขนมปังก็ไม่เหมือนกันแล้ว เรามีความเป็นไทยแท้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องความมั่นคงทางด้านการเมือง ไปแยกให้ออกว่าปรองดองคืออะไร ปรองดองคือทุกคนอยากจะคุยกัน ไปมาหาสู่กัน ดูแลกัน นี่คือปรองดอง ไม่มีศัตรู ไม่ได้โกรธเคืองกัน นี่คือปรองดอง อะไรคือกฎหมายก็ไปเข้ากระบวนการยุติธรรม วันนี้รัฐบาลมีสนช. ก็ให้เกียรติเขา ก็เหมือนสภา คนมันบังคับกันไม่ได้ เขาไปทำหน้าที่แทน ก็ต้องเชื่อมั่นในระบบ ถ้าไม่เชื่อเขาวันหลังก็ไม่ต้องเชื่อสภา ทำไมเชื่อก็บอกว่าประชาชนเลือกมา ก็เลือกเอาแล้วกัน กระบวนการยุติธรรมเขาจะบอกเองถูกหรือผิด ฟ้องก็ไปฟ้อง มึกลไกอยู่แล้ว ต่อสู้คดีได้ก็สู้ไป ถ้าติดคุกแล้วก็ไปขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมก็ไปหาข้อมูลมา ตนไม่รู้เรื่องกฎหมาย










กำลังโหลดความคิดเห็น