xs
xsm
sm
md
lg

ถกร่วม ครม.-คสช. เน้นดำเนินการผู้กระทำผิดความมั่นคง แก้แล้ว 6 ปัญหากระทบรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
ทีมโฆษกเผยผลถกร่วม คสช.-ครม. กำชับเรื่องมั่นคง ดำเนินการผู้กระทำผิดทั้งใน-นอกประเทศ เปิดช่องให้แก้ต่าง สร้างความเข้าใจเห็นต่าง ให้ระวังคอร์รัปชัน แจง คสช.เดินหน้าทุกมติ แก้ปัญหากระทบรัฐ ดำเนินการแล้ว 6 เรื่อง เทิดทูนสถาบัน แก้ยากจน-เหลื่อมล้ำ สร้างความปลอดภัย ปชช. และชง 6 เรื่อง ครม. แนะ สำรวจความเห็น ปชช. ลดค่าครองชีพ แก้เรื่องร้องศูนย์ดำรงธรรมให้ชัด

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้กำชับแนวทางในการทำงานของทุกส่วนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง ได้แก่ การดำเนินการต่อผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ทั้งผู้ที่อยู่ในประเทศ และต่างประเทศ ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องใช้ช่องทางที่เหมาะสมในการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบว่ากำลังทำผิดกฎหมายในเรื่องใด พร้อมเปิดช่องทางให้กลับมาเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรม

โฆษก คสช.กล่าวอีกว่า ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเดินหน้าสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจและมีข้อมูลไม่ครบถ้วน ในเรื่องการแก้ไขปัญหาและการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะนักศึกษา โดยให้พิจารณาวิธีการที่เหมาะสมและไม่ทำให้เกิดความรู้สึกในเชิงลบต่อกัน สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างและโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น ทั้งในส่วนของภาคเอกชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ให้กำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้สังคมเกิดความมั่นใจในการดำเนินงานของรัฐบาล

ขณะที่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช.กล่าวว่า คสช.ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงผลการบริหารราชการแผ่นดินและการผลักดันนโยบายคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินงานไปตามเจตนารมณ์และแผนงานที่กำหนดไว้ โดย คสช.ได้ดำเนินการในทุกมิติต่อเนื่อง เน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำความเป็นธรรมทางสังคม และสร้างสภาพแวดล้อมของประเทศให้มีความปลอดภัย โดยมีผลการดำเนินการ 6 เรื่อง ได้แก่ 1. การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจัดกิจกรรมและโครงการเฉลิมพระเกียรติการจัดกิจกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการดำเนินการต่อผู้ที่กระทำไม่เหมาะสมกับสถาบันหลักของชาติ 2. ปัญหาความยากจน ได้น้อมนำแนวพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ โดยเน้นการสร้างอาชีพ และรายได้ให้ประชาชน มีผู้ได้รับการบรรจุงานแล้ว 37,000 คน, การแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของประชาชน โดยให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะ 402,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 89,235 ครัวเรือน และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเชิงรุก ทั้งด้านการจัดหาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ

3. ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมในสังคม ได้สร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมด้วยการรักษากฎหมาย และให้การบริการประชาชน เช่น การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว 4. การสร้างความปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ได้บูรณาการกำลังทหาร ตำรวจฝ่ายปกครอง และภาคประชาชนในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมอาชญากรรม และการจัดระเบียบสังคม ได้แก่ การจัดชุดตรวจสถานประกอบการ, ติดตั้งระบบส่องสว่าง 180,000 จุด และกล้องวงจรปิด 30,000 จุด ตามจุดเสี่ยงในพื้นที่ 50 จังหวัด เพื่อป้องปรามอาชญากรรม, ฝึกซ้อมการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและผู้ประสบภัยทางทะเลและพื้นที่ป่าเขา สกัดกั้นลักลอบค้ายาเสพติด การลักลอบหลบหนีเข้าเมือง และการทำลายป่า รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอาสาสมัครภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเร่งรัดสอบสวนคดีสำคัญที่มีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

5. การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างสภาพแวดล้อมที่ที่ดี โดยบูรณาการกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ และฝ่ายปกครอง ตรวจสอบการครอบครองพื้นที่ป่าไม้ และดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, จัดทำโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเฉลิมพระเกียรติ, โครงการผืนป่าอาเซียน, จัดระเบียบทางเท้าใน กทม., การแก้ไขปัญหาขยะตามโรดแมปของรัฐบาล 6. การจัดระเบียบการให้บริการขนส่งสาธารณะรับจ้างของ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ได้จัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะในระยะเร่งด่วน โดยการทำป้ายราคา ติดตั้งสายด่วน ปรับจุดจอดให้เป็นระเบียบ ออกใบรับรองวิน ส่วนในระยะยาวจะแก้ไขผลกระทบทุกด้านอย่างยั่งยืนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยดำเนินการจดทะเบียนให้เรียบร้อย นอกจากนี้ได้จัดระเบียบรถแท็กซี่ และการจัดระเบียบรถตู้สาธารณะ ให้ความสำคัญ ๓ เรื่อง คือ ความปลอดภัย การจราจร และกำจัดผู้มีอิทธิพล รวมทั้งการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในเรื่องการเดินรถ การควบคุมรถตู้ สนับสนุนการใช้รถมินิบัสแทนการใช้รถตู้

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ยังกล่าวว่า การประชุมในวันนี้ คสช.ได้มีข้อเสนอแนะให้กับคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการจำนวน 6 เรื่อง ดังนี้ 1. การวางกลยุทธ์การทำงานของรัฐบาลจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน คาดหวังให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพ ข้าวของราคาแพง การทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาทางด้านสังคม ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ปัญหาความแตกแยกในสังคม ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และด้านการศึกษา โดย คสช.ได้เสนอการวางกลยุทธ์ในการดำเนินงานของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างเร่งด่วนใน 4 เรื่อง คือ ด้านเศรษฐกิจ เน้นค่าครองชีพ และราคาพืชผลทางการเกษตร, การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างชัดเจน, การปราบปรามการค้ายาเสพติดและลดปัญหาอาชญากรรม และการจัดระเบียบสังคม ซึ่งในทุกการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ควรมีตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรม และมีการพัฒนาที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในอนาคต และการประชาสัมพันธ์ถึงการทำงานของรัฐบาลให้ประชาชนรับรู้ เป็นจริง ไม่ปิดบัง เข้าใจง่ายในหลายช่องทางอย่างต่อเนื่อง

2. มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนระยะเร่งด่วน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการร่วมกัน ในการลดค่าครองชีพภาคครัวเรือน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ให้ครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยที่เช่าอาศัยในอาคารชุดหรือห้องเช่า, เร่งรัดการจัดตลาดนัดชุมชนจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดอย่างทั่วถึง โดยแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม 3. การแก้ปัญหาคนขอทาน เสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักหารือร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาขอทานแบบยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ต้นเหตุถึงปลายเหตุ นอกเหนือจากการจัดระเบียบขอทานที่ได้ดำเนินการมาแล้ว

4. การแก้ไขปัญหาการร้องทุกข์ของประชาชน เสนอให้กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดศูนย์ดำรงธรรม พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาการร้องทุกข์ของประชาชน ให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนเหมาะสม เช่น การวางระดับของการแก้ปัญหา และเครือข่ายการสื่อสารต่อกระบวนการแก้ปัญหา รวมทั้งต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบด้วยในทุกช่องทาง 5. การแก้ปัญหาความขัดแย้งของมูลนิธิ/อาสาสมัครกู้ภัย ที่เกิดปัญหาในหลายด้าน อาทิ ผลประโยชน์ ระบบการควบคุม การแอบอ้างชื่อมูลนิธิไปกระทำผิดกฎหมาย โดยเสนอแนวทางการแก้ไขในภาพรวม โดยกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการตรวจสอบการประกอบกิจการของมูลนิธิให้ถูกกฎหมาย รวมทั้งการรับสมัครของอาสาสมัครอย่างถูกต้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำกับดูแลการปฏิบัติงานของอาสาสมัครหรือมูลนิธิ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทย อบรมให้ความรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ อย่างถูกวิธี มีใบรับรอง และมีการประเมินผล

6. การแก้ไขปัญหาคลองแสนแสบ เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการปัญหาน้ำเสียในแม่น้ำ ลำคลอง จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาในภาพรวม โดยให้ดำเนินการปรับปรุงทัศนียภาพฝั่งคลอง ให้มีความสวยงาม การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องปัญหามลพิษทางน้ำกับชุมชนและสถานประกอบการ, การนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย, ดำเนินมาตรการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์เรื่องปัญหามลพิษ เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของ คสช.ดังกล่าวมุ่งหวังเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรี และ คสช.ที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่ประชาชน รวมทั้ง ให้เป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดโดยมีเป้าหมายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ และการเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น