ประชุม สนช. ซักฟอก “นิคม - สมศักดิ์” หลังเปิดคดี “วิชา” ซัด “นิคม” อย่าใช้เอกสิทธิ์ประธานขัดรัฐธรรมนูญ ชี้สภาผัว - เมีย เสียหายทางสังคม - การปกครอง “สมเจตน์” ถามรีบแก้ รธน. หวังให้ทันเลือกตั้ง ส.ว. รอบใหม่แล้วได้สิทธิ์ลงอีกสมัยหรือไม่ เจ้าตัวเฉไฉบอกแก้เพื่อคืนอำนาจประชาชน อ้างขั้นตอนเยอะ อย่าเพิ่งมโน เหน็บ สนช. ก็สภาผัวเมียทำไมไม่พูด ด้าน “สมศักดิ์” ปัดปลอมเอกสาร อ้างทำไมไม่ท้วง โวอะลุ่มอล่วยมามาก นัดปิดคดีด้วยวาจา 21 ม.ค.
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.30 น. ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ในวันพุธที่ 21 ม.ค. จะมีการประชุม สนช. เพิ่มอีก 1 วัน เพื่อพิจารณาคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. โดยมิชอบ และการแถลงปิดคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ส่วนวันที่ 22 ม.ค. จะแถลงปิดคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากนั้นในวันที่ 23 ม.ค. จะลงมติถอดถอนทั้งสองคดี โดยเป็นการประชุมลับ เพื่อลงมติใช้วิธีขานชื่อ และให้สมาชิกเข้าคูหากาบัตรลงคะแนน พร้อมทั้งกำชับสมาชิก หากไม่ติดภารกิจจำเป็นจริงๆ ขอให้มาร่วมประชุมเพื่อลงมติ และขอให้สมาชิก สนช. อย่าแสดงความเห็นใดๆ เพราะถือว่าคดีดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชน และมีความสำคัญอาจกระทบต่อกระบวนการถอดถอน ซึ่งการกระบวนการทุกเรื่องของ สนช. ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อบังคับการประชุม สนช. ที่สมาชิกต้องปฏิบัติตาม ส่วนสมาชิกจะมีความเห็น หรือมีดุลพินิจเรื่องการถอดถอนอย่างไร ขอให้เก็บไว้ในใจ
จากนั้นทางคณะกรรมาธิการซักถามฯ ได้เริ่มซักถามคำถามต่างๆ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กล่าวหานายนิคม แทนสมาชิก สนช. ทั้ง 8 ข้อ ได้แก่ 1. เหตุใด ป.ป.ช. จึงยืนยันส่งคดีถอดถอนนายนิคม ให้ สนช. ทั้งที่ไม่ใช่วุฒิสภา 2. ขอให้ ป.ป.ช. ระบุฐานความผิดที่ส่งให้ สนช. ดำเนินการให้ชัดเจนว่านายนิคม มีความผิดตามกฎหมายใดบ้าง 3. การที่ ป.ป.ช. ระบุว่าการตัดสิทธิการอภิปราย มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือวาระซ่อนเร้นขอให้ขยายความว่ามีผลประโยชน์ซ่อนเร้นอย่างไร
4. พฤติการณ์ของนายนิคมมีความผิดทางอาญาหรือไม่ และการดำเนินการถอดถอนจะกระทบต่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองหรือไม่ 5. การกระทำของนายนิคมที่บอกว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมายสร้างความเสียหายให้ใคร อย่างไร 6. นายนิคมอ้างว่าทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมข้อ 59 ที่ระบุว่า เมื่อมีผู้เสนอญัตติปิดอภิปรายก็ต้องให้ลงมติปิดอภิปราย เป็นการตีความข้อบังคับโดยถูกต้องใช่หรือไม่ 7. การที่นายนิคมระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิเด็ดขาดของสมาชิกรัฐสภาผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องไม่ได้ แต่เหตุใด ป.ป.ช. ยังคงชี้มูลความผิดนายนิคม และส่งเรื่องให้ สนช. ถอดถอน 8. ป.ป.ช. เห็นอย่างไรกับกรณีที่นายนิคมอ้างว่าเมื่อมีการลงมติปิดอภิปราย ประธานจะทำอย่างอื่นไม่ได้ เหตุใด ป.ป.ช. ไม่ยอมรับคำโต้แย้งดังกล่าว
จากนั้นนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอบข้อซักถามต่างๆ ว่า คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. นอกจากระบุถึงฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ยังระบุถึงความผิดฐานมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรม นูญและกฎหมาย และการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 58 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ด้วย และหลังจาก ป.ป.ช. ลงมติไปแล้ว ปรากฏว่า เกิดการยึดอำนาจ แม้จะให้รัฐธรรมนูญปี 50 ยุติไปแล้ว แต่มีประกาศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กฎหมาย ป.ป.ช. ยังคงใช้ได้ต่อเนื่อง รวมทั้งให้บทบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาล และกระบวนการยุติธรรมยังใช้ได้อยู่ต่อไป ดังนั้นแม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะถูกยกเลิก แต่ ป.ป.ช. ยังมีอำนาจส่งเรื่องให้ สนช. ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและเห็นว่า นายนิคมมีการกระทำส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จากกรณีการตัดสิทธิผู้อภิปราย ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิของอดีตสมาชิกรัฐสภาที่ประสงค์จะอภิปราย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 291 ตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกฎหมายป.ป.ช.มาตรา 56, 58, 61 และ62 นอกจากนี้พฤติการณ์ของนายนิคมยังส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ และขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงด้วย
ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ถูกกล่าวหานั้น ป.ป.ช. เห็นว่า กรณีนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. ว่า ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว จะไม่มี ส.ว. สรรหาต่อไป จึงถือว่านายนิคมมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็น ส.ว. อยู่ด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขให้ ส.ว. ปัจจุบันลงสมัคร ส.ว. รอบใหม่ได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค ถือว่าได้รับผลประโยชน์เต็มที่ในการแก้ไข ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังในการตัดสิทธิผู้อภิปราย ทำไมต้องรีบร้อน ซึ่ง ป.ป.ช. มองว่า เป็นการส่อหรือไม่ เพราะการส่อหมายความว่า แสดงให้คนอื่นไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ หรือไปเข้าข้างฝ่ายใด การทุจริตไม่ได้หมายถึง กินสินบน แต่หมายถึงการรักษาความเป็นกลางด้วย ดังนั้นการดำเนินการในฐานะประธาน ต้องหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆที่อาจทำให้ตนได้รับผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีฉายาแห่งการทุจริต
ส่วนที่ถามว่า การกระทำของนายนิคมเป็นการทำผิดกฎหมายอาญาหรือไม่นั้น ป.ป.ช. เห็นว่า ไม่ใช่ความผิดทางอาญา เพราะคดีอาญาจะมีการแยกพิจารณาออกไปจากกัน ส่วนจะกระทบต่อการปรองดองหรือไม่นั้น หลักการปรองดองต้องไม่ลืมหลักนิติรัฐ นิติธรรม คือกระบวนการทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย เมื่อต้นทางเดินมาโดยวิธีแห่งกฎหมายแล้ว จะให้ ป.ป.ช. ยุติเรื่องเหล่านี้ เพราะขัดต่อการปรองดองคงไม่ได้ ถือว่าไม่ใช่หลักปรองดอง แต่เป็นหลักความอำเภอใจ ดังนั้น ป.ป.ช. ต้องดำเนินการไต่สวนต่อไป ส่วนจะถอดถอนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ดุลยพินิจของ สนช. กระบวนการชี้มูลความผิด เพื่อถอดถอนบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศออกจากตำแหน่ง จะก่อให้เกิดแนวทางให้เกิดความปรองดอง ยิ่งเสียกว่าการวางเฉยไม่ดำเนินการใดๆ เรื่องการถอดถอนที่ผ่านมาถือว่ายาก เพราะทำเรื่องถอดถอนมาหลายเรื่อง ไม่เคยถอดถอนใครได้ แสดงว่า กระบวนการที่ผ่านมาไร้ซึ่งการบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงมีความหวังอย่างยิ่งกับสภาฯ แห่งนี้จะแยกระหว่างความปรองดอง กับหลักนิติรัฐ นิติธรรมออกจากกัน
นายวิชากล่าวว่า ผลจากการกระทำของนายนิคม มีผลกระทบสำคัญต่อการใช้อำนาจ ซึ่งกระบวนแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการของรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อที่มา ส.ว. จากเดิมมี 2 ทาง จากการเลือกตั้ง และสรรหา เปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งอย่างเดียว ส่งผลกลับไปเป็นเหมือนปี 2540 ที่เป็นสภาผัวเมีย แต่หากจะพูดเรื่องความเสียหายเป็นตัวเงินคงไม่สามารถชี้ชัดได้ แต่เรื่องความเสียหายทางสังคม การปกครอง เป็นเรื่องสำคัญสูงสุด การเปลี่ยนแปลงต้องใช้ความรอบคอบ ไม่ใช่ขู่เข็ญ หรือการห้ามพูดของฝ่ายคัดค้าน ซึ่งถือว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วทั้งทางสังคม และการปกครอง จนมีการต่อต้านจากสังคม ทำให้ประชาชนออกมาต่อต้านจำนวนมาก จนเกิดการรัฐประหาร
แม้นายนิคมจะยืนยันว่า การปิดอภิปรายทำถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม แต่ประธานต้องใช้ดุลยพินิจเพราะยังมีผู้ขออภิปรายเหลืออยู่ จึงไม่ควรตัดสิทธิผู้อภิปราย ทำให้ญัตติการปิดอภิปรายใหญ่กว่าญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการรับญัตติสั่งปิดอภิปรายยังมีข้อยกเว้นว่า ไม่ให้ใช้บังคับกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนที่นายนิคมอ้างเรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา จะนำไปฟ้องร้องไม่ได้นั้น เอกสิทธิดังกล่าวไม่ใช่เอกสิทธิเด็ดขาด ซึ่งเอกสิทธิที่อ้างต้องตั้งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะมาทำลายหลักการเหล่านี้ไม่ได้ การอ้างเอกสิทธิไม่ให้ถูกฟ้องร้องมีข้อยกเว้นให้ใช้เฉพาะกับการแสดงความเห็น และการลงมติเท่านั้น แต่เรื่องอื่นๆ ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครอง
จากนั้นเป็นขั้นตอนซักถามนายนิคม โดยมีคำถามทั้งหมด 7 ข้อ โดยถามว่าการตัดสิทธิ์สมาชิกทั้ง 57 คนที่สงวนคำแปรญัตติไม่ให้อภิปรายถือเป็นการรวบรัดเพื่อลงมติให้ผ่านเป็นการเร่งพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อเสร็จทันก่อนที่ ส.ว. เลือกตั้งจะครบวาระในการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ในวันที่ 2 มี.ค. 2557 เพื่อตัวเองจะได้มีสิทธิ์ลงเลือกตั้ง ส.ว. ต่อไป รวมทั้งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผิดจะมีผลอย่างไร และการกระทำดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับการประชุมและกฎหมาย และอยู่ในอำนาจที่จะวินิจฉัยในที่ประชุมหรือไม่ ซึ่งในในฐานะที่เป็นรองประธานรัฐสภาจะต้องปรึกษาหารือกับประธานรัฐสภาในการปิดอภิปรายเพื่อลงมติหรือไม่
นายนิคม ได้ตั้งข้อสงสัยการขยายเวลาในการตั้งคำถามของ สนช. ใช้ข้อบังคับการประชุมข้อไหนซึ่งต้องเสนอก่อนการประชุมแถลงเปิดคดี โดยวันนี้จะตอบคำถามให้กระจ่างและขออนุญาตจะสอนวิชากฎหมายกับอาจารย์สอนกฎหมายด้วย ข้อกล่าวหาของป.ป.ช.ที่กล่าวหาว่าตนจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเร่งรัดกฎหมายให้ทันวันที่ 2 มี.ค.นั้น คนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน การคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเลือกตัวแทนขึ้นมา การแก้ให้ทันวันที่ 2 มี.ค.คงไม่ใช่ เพราะยังมีขั้นตอนเยอะ นายกฯต้องเสนอขึ้นทูลเกล้า ไม่รู้ว่าต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดอีกหรือไม่ และจะมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ นอกจากนี้ยังให้ กกต. ไปร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งดูแล้วจะทันเวลาหรือไม่ จะใช้เวลานานแค่ไหนก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นท่านอย่าได้มะโน อย่างสร้างจินตนาการ ว่าคนที่แก้แล้วจะได้รับสิทธิ์
นายนิคม กล่าวว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ผิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านสภา ต่อไปจะมีแต่ส.ว.เลือกตั้ง ไม่มีสรรหาอีก เรื่องที่ห่วงสภาผัวเมีย ตนเห็นสภานี้ก็มีเต็มไปหมดทำไมไม่พูด เวลานี้ในที่ประชุมแห่งนี้ก็มี สามีภรรยา สำหรับข้อกล่าวหาการเสนอปิดประชุมโดยรวบรัด นั้น ญัตติมี 2 ประเภทคือญัตติหลัก และญัตติประกอบ ญัตติหลักเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการศึกษาเรื่องใด ๆ แต่ญัตติประกอบคือเป็นญัตติเพื่อใช้ให้ญัตติหลักประสบความสำเร็จ เช่นกรณีญัตติการปิดประชุม เมื่อมีการเสนอมาก็ต้องถามว่าจะมีใครเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่ 47 วรรค 2 ยุติการอภิปราย การไม่ส่งชื่อให้ตนทำให้การประชุมเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ขัดข้อบังคับ 38 ตนพยายามที่จะเดินตามข้อบังคับการประชุมข้อ 5 ข้อ 6 ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 137
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการตอบคำถาม นายนิคมแสดงอาการหงุดหงิดอย่างชัดเจน และชี้แจงด้วยท่าทางขึงขัง โดยช่วงหนึ่งได้กล่าวเหน็บแนมว่า “บางคนเคยเป็น ส.ว. แค่ไม่กี่วัน ไม่กี่ปี ผมขออนุญาตสอนท่าน วันนี้พลทหารขอถามพลเอก ขออย่าเอาความรู้สึกอคติเกลียดชังมาเป็นเหตุให้ถามผมแบบนี้” ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สนช. ได้ลุกขึ้นตำหนิว่า วันนี้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมาชี้แจง ตอบคำถาม ไม่ใช่มาอวดความรู้เพื่อที่จะสั่งสอนสภานี้ เพราะทุกคนมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ และจะไม่นำตัวอย่างที่ไม่ดีมาปฏิบัติแน่นอน ขณะที่ นายพรเพชร ได้ขอให้นายนิคม ชี้แจงในประเด็นอย่ามากไปกว่านั้น
นายนิคม ชี้แจงต่อว่า การทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมทำตามข้อบังคับการประชุมข้อ 5 ข้อ 6 และรัฐธรรมนูญมาตรา 122 มาตรา 125 มาตรา 126 ต้องปฏิบัติหน้าที่แทนประธานรัฐสภา เมื่อประธานสภาไม่อยู่หรือได้รับมอบหมาย ดังนั้นการทำหน้าที่จึงอาศัยข้อบังคับการประชุม ไม่จำเป็นต้องปรึกษาใคร สำหรับคำถามที่ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งที่มีสมาชิกทักท้วงว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ นั้นนายนิคม ตอบว่า ตนลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือมาตรา 190 และมาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 ส่วนการแก้ไขที่มา ส.ว. ไม่ได้ร่วมลงชื่อ ซึ่งการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมยึดหลักข้อบังคับการประชุมเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย แต่กลับบอกให้หยุดทำหน้าที่ ก็เหมือนกรณีที่ตนได้ทำหนังสือคัดค้านให้ สนช. ที่เป็นอดีต ส.ว. จำนวน 16 คนให้หยุดทำหน้าที่เพราะกล่าวหาตน และต้องลงมติถอดถอนด้วย ท่านก็อ้างว่าอาจถูกกล่าวหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 ดังนั้นท่านก็อย่าไปคาดการณ์ว่าผู้ที่ทำหน้าที่จะไม่วางตัวเป็นกลาง ทั้งนี้ถ้าให้ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่จะเหลือประธานรัฐสภาทำหน้าที่เพียงคนเดียว
นายนิคม ยังได้ปฏิเสธคำถามที่ถามว่า มีใช้อำนาจวุฒิสภาเพื่องดการประชุมวุฒิสภามาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผ่านก่อนวันที่ 2 มี.ค. 57 ว่า การกำหนดการประชุมรัฐสภาไม่ใช่อำนาจหน้าที่รองประธานรัฐสภา แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานก็ยึดตามข้อบังคับการประชุม ไม่ใช่ว่าเข้าใจโดยสุจริต แต่เป็นหลักปฏิบัติมานาน ยืนยันไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ เมื่อตนและนายสมศักดิ์เป็นประธานก็แก้เกมการเมืองตลอด ท่านแปรญัตติแต่ท่านก็ไม่ทำตามข้อบังคับ พูดจาวกวน เวลาลงมติผู้ที่ร้องคัดค้าน เสียงข้างน้อยไม่ลงมติสักคน
“ผมไม่ได้ทำหน้าที่ด้วยอารมณ์หรือให้ทันวันที่ 2 มี.ค. ผมไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสรรหา ส.ว. ครั้งที่สอง เพราะเพื่อนที่เป็นมุสลิมลงสมัครสรรหา 30 กว่าคน มี 8 คนเป็นดอกเตอร์ เป็นศาสตราจารย์ แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลสักคน เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง วันนี้ถึงบอกว่าไม่ได้ทำตามตามอำเภอใจ แต่มาบอกความจริง วันนี้มาบอกว่าผมมีประโยชน์ทับซ้อน ความจริงคนที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ โดยในนั้นมีสนช.ที่เป็นอดีตส.ว.อย่างนี้จึงมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะท่านกำลังรักษาสถานภาพของความเป็น ส.ว. สรรหาเอาไว้ เพราะรู้ว่าหากปล่อยให้รัฐธรรมนูญไปท่านจะหมดสถานะ ผมขอเรียกร้องให้ลงไปเลือกตั้ง ขอร้องไปสมัครเถอะ ท่านเป็นนักประชาธิปไตยอย่าเกลียดประชาชนเลย วันนี้ขอระบายความในใจแม้กระทั่งเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ส.ว. ก็มีมติยับยั้ง แต่กลับกล่าวว่าไปรับเงินจากคนแดนไกล จากรัฐบาล ผมกับท่านก็มีเจตนาเดียวกัน ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย สงบ”นายนิคม กล่าว
ต่อมาเป็นกระบวนการซักถามนายสมศักดิ์ โดยกรรมาธิการซักถามได้ซักถามนายวิชาซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของข้อกฎหมายและการใช้ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. อาทิ ขณะนี้รัฐธรรมนูญ 50 สิ้นผลแล้ว นายสมศักดิ์ ยังคงจะมีความผิดในฐานใด อีกทั้งเมื่อนายสมศักดิ์พ้นจากตำแหน่งแล้ว จะถอดถอนอีกได้หรือไม่ และเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ และเหตุใด ป.ป.ช. ให้ความสำคัญเอาผิดกับเรื่องการเสียบบัตรแสดงตนแทนกัน ทั้งที่ไม่มีผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งที่ผ่านมา ป.ป.ช. ไม่ได้ชี้มูลกรณีสมาชิกรัฐสภา 310 คน ลงชื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ทั้งที่ก็มีการฟ้องคดีตามรัฐธรรมนูญ 50 แต่กลับมีการชี้มูลในคดีของนายสมศักดิ์ และนายนิคม จึงต้องการทราบว่า 2 คดีการพิจารณาของ ป.ป.ช. แตกต่างกันอย่างไร
นายวิชาชี้แจงว่า เมื่อ คสช. ออกประกาศให้ พ.ร.ป. ป.ป.ช. มีผลบังคับใช้ต่อไป ทำให้ ป.ป.ช. ต้องชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ และเมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 5 ให้อำนาจ สนช. ทำหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงมีหน้าที่พิจารณาถอดถอน แม้ความผิดของนายสมศักดิ์ คล้ายกับนายนิคมแต่มีประเด็นมากกว่า โดยนายสมศักดิ์ได้ลงนามเพื่ออนุญาตบรรจุร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส. เป็นผู้เสนอญัตติขอแก้ไข แต่ได้มีการสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไปเปลี่ยนกับร่างฉบับเดิม ซึ่ง ป.ป.ช. กำลังไต่สวนเพื่อชี้มูลในคดีอาญาต่อไป
นอกจากนี้ การใช้ดุลยพินิจ รับญัตติ สั่งปิดอภิปราย ทั้งที่ยังมีสมาชิกฯ ต้องการอภิปรายอยู่ การกำหนดวันแปรญัตติย้อนหลังไปถึงวันรับหลักการ ทั้งที่ควรนับจากวันลงมติรับหลักการ ทำให้เหลือวันแปรญัตติเพียง 1 วัน ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้ชัดว่า สมศักดิ์สามารถใช้ดุลพินิจตามหลักนิติธรรม ไม่แสดงให้เห็น อคติ ลำเอียงหรือผลประโยชน์ทับซ้อน การปิดอภิปรายต้องระมัดระวังไม่ทำลายเสียงข้างน้อย และประธานต้องแสดงให้เห็นมีความพยายามรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย แต่สิ่งที่นายสมศักดิ์กระทำกลับตรงข้ามจึงเป็นการผิดหลักนิติธรรม เป็นเหตุให้ ป.ป.ช. ชี้มูลถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 270 และมาตรา 274 ประกอบ พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 56 มาตรา 58 มาตรา 61 และมาตรา 62 โดยการถอดถอนแม้นายสมศักดิ์พ้นจากตำแหน่งแล้ว ป.ป.ช. ก็ต้องดำเนินการ เพราะมีเรื่องโทษการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี
ส่วนที่สมาชิกฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลคดี 310 สมาชิกรัฐสภาเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม นั้น ขอชี้แจงทำความเข้าใจว่า ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบสำนวนดังกล่าวเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และพบว่าการเสนอร่างนิรโทษกรรมของ 310 สมาชิกรัฐสภา มีการกระทำผิดอาญา และเข้าข่ายการถอดถอน ยืนยันคดียังไม่สิ้นสุด หากพบว่าส่อกระทำผิด ก็จะส่งเรื่องมาให้ถอดถอนต่อไป
ต่อมาเป็นการซักถามนายสมศักดิ์ โดยนายมารุต วัฒนโกเมน กมธ.ซักถาม ถามว่า หลังจากนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี ยื่นให้แก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญต่อนายสมศักดิ์ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2556 เพื่อดำเนินการแก้ไขในประเด็นเลือกตั้ง ส.ว. โดยแก้มาตรา 111, 112, 115, 117, 118 ยกเลิกมาตรา 113, 114 แต่เมื่อส่งร่างให้รัฐสภาพิจารณากลับมีการเพิ่มมาตรา 116 วรรค 2 และมาตรา 141 ถามว่าเมื่อมีการยื่นไปแล้วยังแก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อความหรือเพิ่มมาตรใดๆ ได้อีกหรือไม่ หากทำได้มีกระบวนการและขั้นตอนอย่างไร ในฐานะที่ทำหน้าที่ประธาน ทราบหรือไม่ว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในตัวร่างดังกล่าว ถ้าทราบได้ดำเนินการอย่างไร การกระทำดังกล่าวอยู่ในอำนาจประธานที่จะวินิจฉัยหรือไม่ ขณะเดียวกันผู้เสนอแก้ไขมีความผิดหรือไม่อย่างไร
นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า เมื่อนายอุดมเดชได้ยื่นมาตามข้อบังคับการประชุม และรัฐธรรมนูญแล้ว ทางสำนักประชุมก็ตรวจสอบและเห็นว่าถูกต้องเสนอตามขั้นตอน จากนั้นส่งมาถึงตน เมื่อตรวจดูแล้วเห็นว่าผ่านการอนุมัติ เพียงแต่มีข้อความเพิ่มเติมว่าให้มีการแก้ไขเรื่องนี้ ในฐานะประธานก็ต้องรับผิดชอบและถือเป็นสำคัญ แต่เพื่อความรอบคอบ ก็ได้เชิญ ผอ. สำนักประชุมมาชี้แจง ก็ได้รับการยืนยันว่า ทุกอย่างถูกต้องตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญและถือแนวปฏิบัติอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร เมื่อมีการเสนอมาตนต้องบรรจุในวาระภายใน 15 วัน ถ้าไม่บรรจุก็จะขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นการแก้ไขขั้นตอนธุรการ เพราะยังไม่ได้บรรจุระเบียบวาระ ถ้าบรรจุแล้วถอนออกไปแก้ไขเพิ่มเติมอีกไม่ได้ต้องนำเข้าสภาให้อนุมัติ ตนพึงต้องกระทำเพราะทุกอย่างข้าราชการยืนยันถูกต้องแล้ว จะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่อนุมัติให้บรรจุระเบียบวาระ ที่สำคัญหลังจากบรรจุวาระแล้วมีร่างเดียวเท่านั้น คือ ร่างของนายอุดมเดช ที่ผ่านการตรวจสอบของสภาเท่านั้น ถือเป็นของแท้ โดยในวาระ 1 เจ้าของร่างก็ต้องเป็นผู้นำเสนอร่างที่มีการแก้ไขที่ตนอนุมัติบรรจุวาระ ที่ประชุมไม่มีใครทักท้วงว่าเป็นเอกสารปลอม พิจารณาต่อมาวาระ 2 วาระ 3 ก็ไม่มีใครท้วง เพราะมันไม่ผิด ฉะนั้นสิ่งที่น่าจะเป็นสาระที่ควรพูดกันคือ ร่างที่แก้ไขบังเอิญแก้แล้วไม่ได้ขอรายเซ็น ส.ส. ส.ว. ใหม่อีก มากกว่า เรื่องปลอมไม่ปลอมไม่ใช่สาระ เพราะไม่มี มีแต่ของแท้
“เราพิจารณาหลายวัน ทั้งกลางวันกลางคืนไม่หลับไม่นอน ทำไมไม่ทักท้วง ปล่อยมาถึงขนาดนี้ได้อย่างไร ก็เพราะมันไม่ผิด ถามว่าที่เคยปฏิบัติกันมา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอโดยประชาชน หมอเหวง (โตจิราการ) ก็มีการแก้ไขในขั้นตอนธุรการเช่นกัน ก็ไม่เห็นต้องให้ประชาชนเซ็นชื่อใหม่ และอีกหลายฉบับแก้ไขในขั้นธุรการ ไม่เห็นผิด หลายฉบับเสนอแล้วให้ ส.ส. แก้ใหม่ ของประชาธิปัตย์ก็มี เพื่อไทยก็เยอะ สมมุติว่าผิด ผิดข้อไหน ไม่มีอะไรบัญญัติ แต่ถ้าผิดไม่ถูกใจก็เขียนให้มันถูกใจในข้อบังคับใหม่ให้ชัดๆ แต่นี่ไม่มีแล้วจะให้ทำอย่างไร สรุปแล้วทำแบบผมทำไม่ผิด แต่ถ้าทำแบบนี้ผิดแน่นอน ถ้าจะปลอมก็ฉบับที่ร่างเดิมที่ท่านอุดมเดชถือกลับบ้าน ก็แปลกใจว่าทำไมร่างจริงจะกลายเป็นร่างปลอม ร่างปลอมกลายเป็นร่างจริง ผมก็งง” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายกิตติ วะสีนนท์ กมธ. ซักถาม ถามว่าข้อกล่าวหากรณีกำหนดเวลาแปรญัตติไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภา เมื่อที่ประชุมพิจารณารับหลักการวาระ 1 แล้ว มีผู้เสนอกำหนดเวลาขอแปรญัตติ 15 วันและ 60 วัน ต้องให้ที่ประชุมพิจารณาลงมติ แต่ก่อนลงมติเกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ จึงยังไม่ได้ลงมติ แต่นายสมศักดิ์ได้สั่งให้กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน แต่มีผู้ทักท้วง จึงนัดอีกครั้ง และที่ประชุมจึงมติกำหนด 15 วัน แต่นายสมศักดิ์ให้เริ่มนับย้อนหลังไปวันประชุมครั้งแรก ทำให้ไม่ครบกำหนด เพราะเหลือให้สมาชิกแปรญัตติเพียง 1 วันและ ป.ป.ช. ก็ชี้มูลว่าชี้จงใจทำหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 50 ถามว่าการตัดสินใจเช่นนั้นมีเหตุผลใด
นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้กล่าวหาบิดเบือนข้อเท็จจริง และตนไม่มีโอกาสชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ฟังความข้างเดียว และวินิจฉัยผิดอย่างชัดเจน รวมทั้ง ป.ป.ช. ด้วย ซึ่งข้อบังคับการประชุมที่ 96 เขียนชัดว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในขั้นกรรมาธิการ วาระ 2 ผู้ใดไม่เห็นด้วยและต้องการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการฯ ภายใน 15 วัน นับจากวันถัดจากที่รับหลักการ เว้นแต่ที่ประชุมกำหนดแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น ในวันนี้มีผู้เสนอให้กำหนด 15 วัน กับ 60 วัน แต่แต่เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ก็ทำอะไรไม่ได้ ตนต้องปิดประชุม แต่ เมื่อปิดประชุมแล้ว กมธ. ต้องเริ่มทำงานทันทีเลย ถ้ายังไม่มีมติเป็นอื่น คือต้องยึด 15 วันอยู่ ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการกฎหมายเดินหน้าต่อเนื่อง ซึ่งตนก็ได้แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า
“ยืนยันว่าผมไม่ได้ทำให้เขาเสียสิทธิ์ แต่เป็นปกป้องสิทธิไม่ให้ตกขบวนด้วยซ้ำ และเมื่อมีการเรียกประชุมใหม่เพื่อขอมติในญัตติที่ค้างอยู่ว่าจะเอาอย่างไร ในวันที่ 18 เม.ย. ที่ประชุมมีมติชัดเจนยืนยัน 15 วัน หมายความว่า 15 วัน นับจากวันที่รัฐสภารับหลักการ คือตีสองวันที่ 4 เม.ย. คือเริ่มนับจากวันที่ 5 เม.ย. แต่ถ้านับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจคือ 19 เม.ย. นั่นแหละผิดเจ๋งเป้งเลย” นายสมศักดิ์ กล่าว
ต่อมานายนิรวัชญ์ ปุณณกันต์ กมธ.ซักถาม ถามว่า การประชุมรัฐสภาหรือ ส.ส. หากระหว่างการประชุมปรากฏว่าสมาชิกบางคน บางกลุ่มนำบัตรสมาชิกคนอื่นมากดแทนกัน อาจรวมถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ถามว่าเคยทราบหรือไม่ว่ามีการกระทำดังกล่าว มีผู้ทักท้วงร้องเรียนหรือไม่ การกระทำดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อนี้ชี้แจงง่ายมาก คือตนไม่ทราบว่ามีจริงหรือเปล่า ต่อให้มีจริงหรือผิดจริงก็ไม่เกี่ยวกับตน และตนก็ทราบตอนเป็นข่าว แต่ก็ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทำเกินกว่านี้ไม่ได้ ต่อให้เป็นเรื่องจริง ผิดจริงก็เป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวกับการถอดถอนของตนเลยคนละเรื่องกัน
ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกะวาทิน ถามว่า ในฐานะประธานมอบหมายให้นายนิคมทำหน้าที่ประธานที่ประชุม และมีการตัดสิทธิ์ผู้สงวนคำแปรจำนวนมากนั้น การกระทำดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับการประชุมหรือกฎหมายหรือไม่ และอยู่ในอำนาจการวินิจฉัยของประธานในขณะนั้นหรือไม่
นายสมศักดิ์ ตอบว่า ประเด็นนี้ครอบคลุมไม่ชัดเจน เพราะการเสนอขอปิดอภิปรายขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ เช่น หากเป็นการอภิปรายปกติ เมื่อไม่มีผู้อภิปรายก็ปิด หรือกรณีถ้าถามสมาชิกท่านใดเป็นอื่นหรือไม่ และไม่มีใครเป็นอื่นก็ถือว่าเห็นชอบตามนี้ แต่ในกรณีหรือสถานการณ์ที่ไม่ปกติ คือขั้นตอนการเสนอคำแปรญัตติ มีคนขอแปรญัตติเข้ามาเป็นรายบุคคล ซึ่งข้อบังคับที่ 99 ระบุว่า ถ้ากรรมาธิการสงวนความเห็น หรือสมาชิกสงวนคำแปร จะต้องได้สิทธิ์ ประธานจะขวางไม่ได้ แต่มีบรรทัดสุดท้ายว่า ทังนี้เว้นแต่ที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติเป็นอย่างอื่น ถ้าที่ประชุมขอปิดอภิปรายก็ปิดได้
“ข้อกล่าวหาผมว่ารอบรัดตัดตอน จำกัดสิทธิ์ผู้อภิปราย ไม่ให้ความสำคัญกับเสียงข้างน้อย ขอบอกว่าตั้งแต่มีรัฐสภาไทย มา พูดได้อย่างภาคภูมิ ว่าไม่มีประธานคนใดที่อะลุ่มอล่วย ให้สิทธิสมาชิกมากเท่าผมแล้ว กรรมาธิการได้แจ้งว่ากรรมาธิการทั้ง 57 คนเสนอแปรญัตติขัดข้อบังคับ คือเลยกำหนดเวลาแล้ว แต่ก็ไม่ยอม เลยนำเสนอต่อที่ประชุมให้พิจารณา ผมในฐานะประธานการประชุมมีอำนาจโดยชอบที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้ได้ทันที แต่กลับอะลุ่มอล่วยให้มีการปรึกษาหารือเรื่องนี้ร่วม10 ชั่วโมง ทั้งที่คุยแค่ 10 นาทีก็จบ ผมยังอดทน ไม่มีท่านใดอดทนเท่านี้อีกแล้ว สุดท้ายมีคนนำเสนอให้ปิดการหารือ และมีมติตามนั้น แต่มีคนขอหารือว่า มตินั้นขัดหรือไม่ขัด ทั้งที่ผมมีอำนาจโดยชอบที่จะวินิจฉัยเองอยู่แล้ว ผมกลับไม่ทำ ปล่อยให้ยืดเยื้อ จนต้องใช้มติที่ประชุม ตามข้อ117 ว่าทั้ง 57 คนขัดหรือไม่ขัด เมื่อมีมติว่าขัดหลักการก็ถือเป็นเข็ดขาด แค่นี้จบได้หรือยัง แต่ก็ยังไม่จบ ถ้าผมยึดถือข้อบังคับและกฎหมายอย่างเดียว ไม่มีสิทธิ์อภิปรายได้แม้แต่คนเดียว แต่ผมก็อนุญาตให้ทั้ง 57 คนได้สิทธิ์อภิปราย แล้วไปรวบรัดตรงไหน ถ้ากล่าวหาหน้าที่ยืดเยื้อก็คงใช่ แต่รวบรัดนี่ไม่ใช่” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายยุทธนา ทัพเจริญ กมธ. ซักถาม ถามว่า นายสมศักดิ์และนายนิคมเคยร่วมลงชื่อหรือเป็นแกนนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่จำได้ของตนไม่แน่ใจ แต่ยื่นด้วยกันนั้นไม่มี และโดยมารยาทตนก็ไม่ได้ลงนามเสนอกฎหมายอยู่แล้ว นอกจากวันนั้นสมาชิลงชื่อไม่ครบ มีพรรคพวกมาขอร้องก็มีเผลอไปบ้างจำไม่ได้ แต่ไม่มีเจตนาอะไร ถึงลงก็ไม่ผิดเพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่แล้ว
ต่อมานายมารุต ถามว่า การที่ไม่ไปรวมแถลงเปิดคดีวันที่ 8 ม.ค. 58 แต่วันที่ 19 พ.ค. 56 ได้ไปร่วมแถลงกับบุคคลอื่นว่าไม่รับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่มีการวินิจฉัยการแก้ไขที่มา ส.ว. ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติ เหตุใดไม่ยอมรับระบบการตรวจสอบการถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยเสียเอง
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในชีวิตตนอยู่ในการเมืองมากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตเกือบ 32 ปี แล้ว ตนเป็นนักประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้งทุกยุคสมัย ฉะนั้นตนเคารพทุกองค์กรในระบอบประชาธิปไตย ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. ก็เป็นหนึ่งที่ตนให้ความเคารพ โดยเฉพาะสภาแห่งนี้ยิ่งต้องเคารพ ส่วนที่ไปแถลงไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผิดเรื่องข้อกฎหมาย แล้วจะให้ตนว่าอย่างไร และวันที่ 8 ม.ค. ที่ไม่มาแถลงเปิดคดี เพราะตนได้ชี้แจงลายลักษณ์อักษรครอบคลุมครบถ้วน ชัดเจนทุกประเด็นแล้ว ถ้าอ่านก็จะเข้าใจทั้งหมด โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาชี้แจงอีก ตนเลยไม่อยากรบกวนสภาแห่งนี้เพราะมีค่า หวังว่าสมาชิกอ่านแล้วจะเข้าใจและหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม เลยตัดสินใจไม่ได้มา แต่หลังจากได้ฟังประชุมวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านก็เห็นว่าไม่มาไม่ได้ เพราะมีบางอย่างทำให้สมาชิกอาจจะเข้าใจสับสน หรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น เรื่องเอกสารปลอม ถ้าไม่มาอะไรจะเกิดขึ้น แค่กล่าวหาประธานอนุมัติเอกสารปลอม แค่นี้ก็ตายแล้ว ตนถึงต้องมา
“ผมขอพูดเพิ่มเติมว่า เรากำลังพิจารณาเรื่องอะไร ถอดถอนใช่หรือไม่ ถ้าอ้างรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 270 ที่ว่ากรณีจะเข้าข่ายการถอดถอนต้องมีสองลักษณะ คือมีความผิดก่อนแล้วค่อยมาดูว่าเข้าลักษณะจงใจ มีเจตนาหรือเปล่าด้วย ไม่ใช่ผิดเฉยๆ ก็ถอดถอน ผิดแล้วต้องเจตนาด้วย สมมุติถ้าผิดจริงแล้วระดับไหน ไม่ใช่เขียนเอกสารผิดก็ถอดถอน วินิจฉัยพกพร่องอาจผิดพลาดพลั้งเผลอก็ถอนไม่ได้ การถอดถอนจริงต้องมีผลสำคัญกับกฎหมายฉบับนั้น และต้องมีเจตนา สรุปคือผมไม่มีอะไรผิด แม้แต่ผิดพลาดยังไม่มีเลย อย่าว่าแต่เจตนาเลย ไม่เข้าข่ายถอดถอนตามมาตรา 270 แน่นอน กรณีเอกสารปลอมไม่มีเจตนาอย่างแน่นอน ถ้าผมติดคุกก็ติดกันทั้งหมด เพราะทุกยุคทุกมัยก็ทำแบบนี้ ถ้าติดเพราะความพกพร่อง มองอย่างไรก็ไม่เข้าข่าย แค่หาข้อผิดพลาดยังหาไม่ได้เลย หาก่อนแล้วดูเจตนาตรงไหน นี่ยังไม่ต้องพูดเลยไปถึงไม่มีรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ที่ผมมาสภาวันนี้ ผมมาเพื่อตามหาความยุติธรรม ถ้าสภาแห่งนี้ให้ความเป็นธรรมไม่ได้ก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนอีกแล้ว ผมมั่นใจว่าผมจะได้รับความเป็นธรรม” นายสมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
จากนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานในที่ประชุม ได้ขอให้ที่ประชุมลงมติเพื่อยกเว้นข้อบังคับข้อ 156 วรรคสอง เพื่อขยายเวลาให้มีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาเป็นวันที่ 21 ม.ค. เนื่องจากตามข้อบังคับการประชุม ต้องมีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาภายใน 7 วัน นับจากวันที่ยื่นว่า จะแถลงปิดคดีด้วยวาจาหรือไม่ ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 14 ม.ค. ทั้งนี้ ป.ป.ช. และนายนิคม ได้ยื่นความจำนงแล้วว่า จะแถลงปิดคดีด้วยวาจา แต่นายสมศักดิ์ไม่ได้ยื่นแสดงความจำนง