รายงานการเมือง
หมดช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง การเมืองไทยหลังเบรกหลบให้เทศกาลปีใหม่ กลับมาเข้มข้นเหมือนเดิม เริ่มประเดิมตั้งแต่เรื่องแรกรับสัปดาห์ทำงาน กับการแถลงเปิดคดีของ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. มิชอบ วันที่ 8 ม.ค. ต่อเนื่องวันที่ 9 ม.ค. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหาย
แม้จะยังไม่รู้ผลชี้ขาดในวันเดียว แต่ตลอดเดือน ม.ค. นี้ สถานการณ์ในประเทศไทยจะเปราะบางและคุกรุ่น ล่อแหลมต่อการเติมฟืนให้ลุกโชนได้ตลอดเวลา ทั้งฝ่ายนักโทษชายทักษิณพ่วง นปช. กับพรรคประชาธิปัตย์ พ่วง กปปส. ที่ต้องรุมเร้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ดำเนินการไปในทิศทางที่ตัวเองได้ประโยชน์ หรือปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง ทำให้ฝ่ายกุมอำนาจในฐานะผู้กำหนดหางเสือประเทศอย่างรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องปวดกบาล ชั่งตวงผลกระทบหากตัดสินใจไปทางใดทางหนึ่งแน่นอน
คำตอบก่อนหน้านี้ที่ว่า มีดีลใหญ่ปล่อยผีเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ ตามท่าทีของ “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิก สนช. เพื่อนรัก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก่อนหน้านี้ที่ลั่นฆ้องว่า ไม่สามารถถอดถอนได้อาจมีการไตร่ตรองอะไรบางอย่างกันบ้างแล้ว หลังจากพรรคประชาธิปัตย์พ่วงกปปส. ขึงขังตั้งธงไม่ยอมกับ สนช. ลงเอยแบบนี้
ค่ายสีฟ้าและ กปปส. เป็นสิ่งที่ คสช. มองข้ามไม่ได้เลย ต่อให้มีกระบองอย่างกฎอัยการศึกอยู่ในมือก็ตาม เพราะอาจกลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่ทรงพลังไม่น้อยหากลุกขึ้นมางัดข้อกับคนกันเอง เห็นได้จากการเคลื่อนม็อบยางกระตุก คสช. ในช่วงก่อนปีใหม่ที่ทำเอาคนในรัฐบาลเดินส่ายเป็นงู กว่าจะเคลียร์ได้เล่นเอา อำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหนังหน้าไฟ กินพาราเซตามอลหมดไปหลายกระปุก กว่าม็อบจะยอมหยุดเคลื่อนไหวชั่วคราวให้
งานนี้เลยต้องรอดูว่า คสช. จะตัดสินใจอย่างไร บวกลบคูณหารแล้วควรจะต้องเทน้ำหนักไปฝั่งไหน เพราะกุมเสียงส่วนใหญ่ใน สนช. ที่มีทหารเกินกว่าครึ่งสภา ตามสภาวะกลับก็ไม่ได้ ไปก็ไม่ถึง ขี่หลังเสือแล้วจะลงก็เสี่ยงตาย คงต้องไปกันให้สุดทาง
และไม่ใช่ว่า จบคดีสมศักดิ์ - นิคม และ ยิ่งลักษณ์ จะยกภูเขาออกมาจากอกได้ เพราะคดี 38 ส.ว. จ่อคิวตามกันมาติดๆ สนช. เตรียมจะบรรจุสำนวนกันในสัปดาห์นี้ แถมยังมีลิ่วล้อ 286 ส.ส. ที่ตกค้างอยู่ในมือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งขณะนี้กำลังลับมีดจะฟันกันอยู่อีกไม่กี่วันข้างหน้า เรียกว่า ตลอดทั้งปีนอกจากออกกฎหมายแล้ว สนช. คงต้องหมกมุ่นอยู่กับเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่รู้จบ
ทุกคดีอย่างไรก็ไม่ง่าย อย่าง 38 ส.ว. ที่ตั้งแท่นสู้แบบหมูไม่กลัวน้ำร้อน พร้อมแลกกับผู้มีอำนาจ มั่นใจในอาวุธที่ตัวเองมีอยู่ว่า จะหักล้างกับพวก สนช. ได้แบบหมดจด เพราะข้อหาที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดมาเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นสภาพกลายเป็นกระดาษธรรมดาแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะมาถอดถอนได้ โดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นแหล่งอ้างอิงชั้นดี เนื่องจากหลายคดีศาลยุติไต่สวนด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญสิ้นสุดไปแล้ว
ที่ผ่านมา คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร หากจะไม่ผูกพันกับ สนช. เท่ากับว่า สภาแห่งนี้กำลังทำตัวมีอภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมาย ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล ถ้าเถียงกันด้วยตัวบทกฎหมาย อดีต ส.ว. แก๊งชำแหละรัฐธรรมนูญถือไพ่ในมือได้เปรียบกว่าตอนนี้ นอกเสียจากผู้มีอำนาจตัวจริงในรัฐบาลส่งซิกมาว่า จะเอากันให้ตายในทางการเมือง ตรงนั้นถือว่า ซวยไป แต่จะตอกย้ำให้ถึงภาพสองมาตรฐาน
อานิสงส์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่อาจส่งผลให้อดีต 38 ส.ว. รอดตัวจากคมดาบแล้ว อาจแผ่ไปถึง 268 ส.ส. บางคนในมือ ป.ป.ช. อีกด้วย เพราะในจำนวนดังกล่าวหลายคนแค่ร่วมเสนอกฎหมาย และลงมติในบางวาระ ซึ่งตามคำร้องให้เอาผิดกับคนเหล่านี้ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เท่านั้น ดังนั้น หาก ส.ว. ล็อตแรกใน สนช. รอดตาย พวกนี้ก็รอดตามในมาตรฐานเดียวกัน แต่หากชุดแรกแหกโค้ง ก็มีอันต้องตายตกไปตามกัน
แต่จะมี 268 ส.ส. ประเภทเคราะห์กรรมยังไม่หมด ต่อให้รอดในชั้น สนช. ก็ตาม แน่ๆ เลยคือ พวกปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งตอนยื่นเสนอกฎหมายใช้ฉบับหนึ่ง แต่เวลาพิจารณาในสภาใช้อีกฉบับหนึ่ง รวมถึงพวกเสียบบัตรแทนกันที่หลักฐานโจ่งแจ้ง คงต้องไปต่อสู้กันในคดีอาญาอีกยาว
พวกแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. มิชอบ ไม่ค่อยน่าจะซีเรียสอะไรเท่าไรหากเทียบกับยิ่งลักษณ์ เพราะยังมีช่องแถเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่สิ้นสภาพไปแล้วได้ แต่น้องสาวนักโทษชายรายนี้ ดันมีชนักปักหลังหลายข้อหา ทั้งความผิดตามรัฐธรรมนูญ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 สนช. น่าจะถกเถียงกันในสภาอย่างดุเดือด โดยเฉพาะ สนช. สายนักวิชาการ และอดีตข้าราชการ ที่ลั่นแล้วว่า ต้องหักล้างกันด้วยข้อกฎหมายเท่านั้น เรื่องดีลเรื่องสมานฉันท์ไม่คุย หากจะใช้เสียงข้างมากลากไป ต่อไปไม่ต้องมีวิปให้เกะกะสารบบ
เหตุผลที่จะทำให้ยิ่งลักษณ์จะเหนื่อยเป็นคูณสอง คือ หากในช่วง สนช. กำลังพิจารณาถอดถอน อัยการสูงสุด (อสส.) ผีเข้าสั่งฟ้องคดีอาญากรณีละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพอดี สนช. สายที่อยากจะถอนรากถอนโคนได้มีน้ำหนักในเหตุผลของตัวเองมากขึ้นเข้าไปอีก ตรงกันข้ามหาก สนช. ปล่อยผีให้ยิ่งลักษณ์รอด ในขณะที่ อสส. สั่งฟ้อง ซึ่งสวนทางกันแบบแปลกประหลาด อาจจะโดนถ้วย ถัง กะละมัง หม้อจากชาวบ้านเขวี้ยงใส่แน่
ดคีถอดถอนในมือ สนช. ประจำปีแพะ คนที่มีเปอร์เซ็นต์สูงจะมอดไหม้ทางการเมืองจึงน่าจะส่องไปที่ยิ่งลักษณ์ และบรรดา ส.ส. ในองคาพยพบางคนที่กระทำผิดอาญากรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. มิชอบ เท่านั้น ฝ่ายกุมอำนาจไม่น่าจะโหดเหี้ยมจนถึงขนาดสังหารหมู่ทางการเมือง 300 กว่าชีวิตทีเดียว
เพราะถ้าทำโอกาสที่อุณหภูมิทางการเมืองจะพุ่งปรี๊ดมีสูงมาก ซึ่งการเลือกที่รักมักที่ฟันแบบนี้น่าจะวิน - วิน รักษาบรรยากาศทุกฝ่าย