xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินเสียง สนช. ถอด-ไม่ถอด “ปู”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน


พอเริ่มใกล้วันปิดบัญชีลงมติถอดถอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสำนวน นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา - สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาฯ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระแสข่าวแนวโน้มการลงมติก็ออกมาเป็นระลอก

ทั้งรูปแบบข่าวดักทางผลลงมติและข่าวเชิงเช็กกระแสสังคม สวิงไปมาตลอด อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา

ข่าวบางกระแสบอกว่า สนช. ส่อเค้าจะปล่อยรอดหมดไม่ถอดถอนแม้แต่สำนวนเดียว เพราะเสียง สนช. โหวตถอดถอนไม่ถึง 132 เสียง

บนปัจจัยหลักคือ สนช. สายทหาร ทั้งทหารเกษียณอายุราชการไปแล้ว - ทหารที่ใกล้เกษียณอายุราชการ คือ จะเกษียณกันยายนนี้ ที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง และสาม คือ พวก สนช. สายทหาร ที่ยังเหลืออายุราชการอีกพอสมควร จะโหวตเสียงไม่ถอดถอนหรืออาจใช้วิธีงดออกเสียง จนทำให้เสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5

แต่ครั้นเข้าช่วงสุกดิบ ใกล้ถึงวันปิดบัญชีรู้ผลดำแดง โดยมีการคาดการณ์ว่า น่าจะมีการนัดลงมติถอดถอนในวันศุกร์ที่ 23 ม.ค. ข่าวเริ่มออกมาอีกทาง คือ มีแนวโน้มที่อาจจะมีบางคนรอด คือ นิคม กับ สมศักดิ์ แต่ ยิ่งลักษณ์ ถูก สนช. สอยร่วง ต้องเว้นวรรคการเมืองไปห้าปี

พลิกไปพลิกมากันแบบนี้ เชื่อว่า ถึงช่วง 2 - 3 วันสุดท้ายก่อนลงมติ รับรอง ฝุ่นตลบ จนยากจะเดาทางมติ สนช. ได้

โดยข่างบางกระแสก็อ้างว่า ผลการโหวตของ สนช. อาจออกมาแบบนี้ คือ มติ สนช. เสียงข้างมากโหวตให้ถอดถอน แต่เสียงไม่ถึง 132 เสียงทุกสำนวน ที่หากออกมาเช่นนี้ ยังไงก็ดูดีกว่าผลออกมาว่า เสียงส่วนใหญ่โหวตไม่ถอดถอนและน่าจะทำให้กระแสความไม่พอใจ สนช. น่าจะเบากว่าที่จะออกมาว่า เสียงข้างมากลงมติไม่ถอดถอน

ซึ่งกรณีแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการลงมติคดีถอดถอนก่อนหน้านี้ของวุฒิสภาชุดที่แล้ว ที่แม้เสียงส่วนใหญ่จะโหวตให้ถอดถอนแต่ก็ไม่ถึงเกณฑ์

ไม่ว่าจะเป็นกรณีสำนวนถอดถอน นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี ในคดีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียม สมัยเป็น รมว.ไอซีที ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่เสียงถอดถอนมากกว่าเสียงไม่ถอดถอน คือ 71 ต่อ 59 หรือกรณีคดีถอดถอน นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่วุฒิสภามีมติด้วยเสียงข้างมากให้ถอดถอน 57 ต่อ 55 แต่ทั้งกรณี นพ.สุรพงษ์ กับ นพดล เสียงถอดถอนก็ไม่ถึงเกณฑ์ จึงไม่มีผลใดๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแล้ว กรณีของ นพดล กับ นพ.สุรพงษ์ มันแตกต่างกันมากกับคดี นิคม - สมศักดิ์ และ ยิ่งลักษณ์ ในเวลานี้ อย่างที่เห็นชัดๆ คือ คดีสุรพงษ์ กับ นพดล มันไม่ได้อยู่ในความสนใจมากเหมือนกับกรณีของ นิคม สมศักดิ์ ยิ่งลักษณ์ ในเวลานี้ อีกทั้งไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์พิเศษแบบตอนนี้ ที่ สนช. มาจากการคัดเลือกของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ทั้งหมด แต่ตอนนั้นเป็นวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาผสมกับการเลือกตั้งแถมส.ว. ทั้งสองปีกก็ยังขัดแย้งกันสูง เสียงไม่เป็นเอกภาพเหมือน สนช. ยุคนี้ ผนวกกับคนที่โดนยื่นถอดถอนอย่าง ยิ่งลักษณ์ ก็เป็นอดีตนายกฯที่มีคนไม่พอใจจำนวนมาก จนออกมาขับไล่เป็นล้านๆ คน สุดท้าย คสช. ทำรัฐประหาร

ดังนั้น ต่อให้ สนช. มีมติด้วยเสียงข้างมากให้ถอดถอน แต่หากเสียงไม่ถึง จนยิ่งลักษณ์รอด ก็ไม่น่าจะลดทอนกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อ สนช. และ คสช. ลงได้ เพราะมันก็คือ ไม่ถอดถอนอยู่ดี ที่ก็ตรงกับที่หลายคนให้นิยามไว้ว่า ไม่ถอดถอนก็คือ นิรโทษกรรม

ตรวจสอบข่าวสารล่าสุดกับวงวิเคราะห์ทิศทางมติ สนช. พอจับทางได้ว่า เวลานี้ความเห็น สนช. ต่อการลงมติคดีถอดถอนตอนนี้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก แต่ตัวเลขว่าแต่ละกลุ่มจะมี สนช. อยู่ในกลุ่มนั้นๆ กี่คน ยังยากจะประเมินได้เพราะยังไม่นิ่ง โดยแยกเป็น

1. สนช. กลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ จะลงมติแบบไหนทั้งสามสำนวน โดยจะรอให้จบหมดทุกกระบวนการ คือ รอฟังถึงตอนทั้งฝ่าย ป.ป.ช. และผู้ถูกกล่าวหาจะมาอ่านแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาอีกรอบ ถึงจะตัดสินใจ

2. คือ พวก สนช. ที่มีธงในใจแล้ว คือ จะไม่ถอดถอนหมดทั้งสามสำนวนด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ในส่วนของ นิคม - สมศักดิ์ เห็นว่า รธน. ปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว อีกทั้ง รธน. ฉบับชั่วคราวปี 57 ก็ไม่มีบทบัญญัติรับรองการให้อำนาจ สนช. ถอดถอนได้อย่างชัดจเน จึงต้องยกประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหาไป ขณะที่กรณี ยิ่งลักษณ์ เห็นว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว แม้สำนวนถอดถอนที่ส่งมาเป็นเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการไม่ยอมยกเลิกโครงการไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่ก็ยังมองว่า ยังน่าจะมีหลักฐานชัดเจนอะไรมากกว่านี้ จึงเห็นว่ายังไม่สมควรต้องถึงกับถอดถอน

รวมถึงอ้างเรื่องความปรองดอง ไม่อยากให้เกิดปัญหาการเมืองขึ้นมาอีก ถ้าเกิดลงมติถอดถอนขึ้นมา อาจมีบางกลุ่มไม่พอใจ แม้ไม่ถึงกับจะเกิดความวุ่นวายทางการเมือง แต่ก็จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศและการปรองดอง

ประเมินได้ว่า สนช. ที่มีแนวคิดแบบนี้ ก็คือ พวก สนช. ที่โหวตไม่ให้ สนช. รับพิจารณาถอดถอน สมศักดิ์ กับ นิคม เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2557 และพวกที่โหวตให้ประชุมลับตอนเริ่มพิจารณาคำแถลงเปิดคดีของนิคมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ลงคะแนนเสียง 70 เสียงนั่นเอง

3. สนช. ที่มีคำตอบในใจแล้วเช่นกันว่า จะลงมติถอดถอนหมดทุกสำนวน โดยเฉพาะคดียิ่งลักษณ์ จะปล่อยไปไม่ได้ และ 4. คือ กลุ่ม สนช. ที่อาจตัดสินใจลงมติแบบแตกต่างกันไปในแต่ละสำนวน คืออาจลงมติถอดถอนคนใดคนหนึ่งแล้วก็ลงมติไม่ถอดถอนคนใดคนหนึ่ง ใน 3 คนนี้ คือ นิคม สมศักดิ์ ยิ่งลักษณ์ ที่หากให้เดา ก็คาดว่าคนที่น่าจะโดนลงมติถอดถอนมากสุดสำหรับ สนช. ที่แนวคิดแบบนี้ก็คือ ยิ่งลักษณ์ นั่นเอง

สรุปเวลานี้ ให้ประเมิน เสียง สนช. ว่าจะลงมติ ถอดถอนหรือไม่ถอดถอน พบว่าเสียงยังก้ำกึ่งกันมาก งานนี้ ลุ้นกันจนถึงนาทีสุดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น