คกก. สอบป้ายโฆษณาแอลอีดีบนป้อมตำรวจ สรุป 3 รูปแบบ มีทั้งพวกทำผิดเต็มๆ รับส่วยโดยตรง พวกที่เอกชนทำสัญญากับ บช.น. ส่งเงินรายเดือนเข้ากองทุนตำรวจฯ เผยทำสัญญาสมัย “แจ๊ด” คุมนครบาล กางระเบียบ ก.ต.ช. ชี้ ผบช.น. มีอำนาจเซ็น ส่วนกลุ่มสุดท้ายเอกชนสร้างป้อมเอง - ใช้ประโยชน์เต็มที่ เผยกลุ่มผู้กำกับโวยโยกย้ายสองมาตรฐาน บาง สน. ไร้ความผิดยังโดนหางเลข เตรียมเคลื่อนไหวให้ สตช. เยียวยาหลังกระทบถูกเตะโด่ง
ความคืบหน้ากรณีส่วยป้ายโฆษณาจอแอลอีดีบนป้อมตำรวจทั่ว กทม. ซึ่งมีตำรวจระดับผู้กำกับ รองผู้กำกับ และสารวัตรสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) หลายสิบนายเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จนเป็นสาเหตุให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ใช้ประกอบการเสนอโยกย้ายล้างบาง บช.น. ขณะที่กลุ่มผู้ที่ถูกผลกระทบในนาม “กลุ่มผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล” ก็ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 ม.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงกรณีป้ายโฆษณาจอแอลอีดีบนป้อมตำรวจทั่ว กทม. โดยที่ประชุมได้สรุปรายละเอียดการติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์บนป้อมตำรวจแยกออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 บริษัทเอกชนที่ติดตั้งป้ายโฆษณาโดยไม่มีสัญญาใดๆ กับ บช.น. แต่มีการติดต่อเพื่อขอติดตั้งป้ายโฆษณาบนป้อมตำรวจโดยตรงกับผู้กำกับการของสถานี หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับต่ำกว่า เช่น รอง ผกก. หรือ สารวัตร ซึ่งคณะกรรมการแจ้งว่ามีการให้ข้อมูลกับ บช.น. ในปัจจุบันว่าจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกๆ สถานีที่ทำการติดตั้งป้ายโฆษณาเป็นรายเดือน และได้มีการบันทึกการให้ข้อมูลดังกล่าวไว้ บางส่วนมีการลักลอบใช้ไฟฟ้าของทางราชการ และไม่มีการชำระค่าภาษีป้าย อีกทั้งไม่มีการนำค่าตอบแทนส่งมอบให้กับ บช.น. และไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร กิจกรรม และภารกิจของ บช.น. เพื่อประโยชน์ของทางราชการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด
“เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการติดตั้งป้ายโฆษณาของกลุ่มที่ 1 สรุปว่าเป็นการกระทำความผิดอย่างชัดเจน สมควรที่จะดำเนินการไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ กรณีนี้ถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่ และปล่อยปละละเลยก็สมควรถูกลงโทษ ผบช.น. ตั้งกรรมการสอบสวนเอาความผิดและโยกย้ายตำแหน่งก็เป็นการทำไปตามอำนาจหน้าที่อย่างถูกต้องและตรงไปตรงมา จะไปกล่าวโทษผู้บังคับบัญชาไม่ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันได้มีการรื้อถอนป้ายโฆษณาของเอกชนกลุ่มนี้ไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ควรมีการดำเนินการตามกฎหมายกับกลุ่มที่ติดตั้งป้ายในกรณีนี้ด้วย มิใช่แต่เพียงการปรับย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น” แหล่งข่าวระดับสูงใน บช.น. ระบุ
สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่บริษัทเอกชนทำสัญญากับ บช.น. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 สมัย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ดำรงตำแหน่ง ผบช.น. จากแนวคิดที่ต้องการหาเงินสมทบเงินกองทุนช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ซึ่งมีการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยทาง บช.น. เพื่อทดแทนการหารายได้กับหน่วยงานภาคเอกชน เหมือนกับ ผบช.น. ในอดีต เช่น การจัดกิจกรรมการกุศลแบบต่างๆ โดยเอกชนกลุ่มนี้ได้มีการมอบเงินค่าตอบแทนให้แก่ บช.น.เพื่อสมทบกองทุนดังกล่าวเป็นรายเดือน ซึ่งไม่มีการมอบเงินในลักษณะส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจของสถานีตำรวจที่มีการติดตั้งป้ายโฆษณา ตลอดจนขออนุญาตใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และยื่นเสียภาษีป้ายกับทางสำนักงานเขต รวมทั้งจัดสรรเวลาโฆษณาประชาสัมพันธ์ข้อมูล ข่าวสาร ภารกิจ ตลอดจนกิจกรรมของ บช.น. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานราชการ อาทิ การรายงานสภาพการจราจร การเผยแพร่ปฏิทินหมายจับ และการร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงาเผยแพร่ข้อมูลเด็กหาย เป็นต้น
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มที่ 2 สรุปได้ว่า มีการทำบันทึกข้อตกลงและลงนามร่วมกันระหว่างเอกชนผู้ติดตั้งป้ายโฆษณากับ บช.น. ซึ่งในประเด็นที่ว่า ผบช.น.มีอำนาจลงนามได้หรือไม่นั้น หากพิจารณาตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติราชการของผู้บัญชาการในฐานะอธิบดีหรือแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ข้อ 4.ระบุว่า ผบช.น. มีอำนาจลงนามผูกพันในโครงการดังกล่าวในฐานะอธิบดีหรือแทน ผบ.ตร. แม้จะมีการดำเนินการไปโดยข้ามขั้นตอนตามระเบียบข้อบังคับของกรมธนารักษ์ เช่น มิได้มีการขออนุญาตใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ เนื่องจากข้อเท็จจริงในเวลาที่จัดทำบันทึกข้อตกลงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าป้อมตำรวจเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันกรมธนารักษ์เองก็ให้คำแนะนำมายัง สตช. ว่า สามารถดำเนินการในกรณีเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนป้อมตำรวจให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมธนารักษ์ได้ โดยอาจมีการให้ชำระเงินค่าธรรมเนียมต่างๆย้อนหลังกับกรมธนารักษ์ รวมถึงการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุให้ถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งการทำในลักษณะของการนำที่ราชพัสดุมาจัดหาประโยชน์เพื่อการจัดสวัสดิการเชิงธุรกิจร่วมกับเอกชน และหน่วยงานราชการที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่นั้น ถือเป็นเรื่องปกติ กรณีนี้จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง การที่เจ้าพนักงานตำรวจในพื้นที่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนจากกรณีการติดตั้งป้ายโฆษณาของกลุ่มนี้ ก.ตร. และ ผบ.ตร. ควรพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ และควรให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว เพราะดำเนินการไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ได้สั่งการ
“การยกเอาเรื่องการติดตั้งป้ายโฆษณาของกลุ่มนี้มาเป็นสาเหตุของการปรับย้ายก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเจ้าพนักงานตำรวจเหล่านั้นได้ทำไปตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา หากไม่ดำเนินการตามก็อาจถูกตั้งกรรมการสอบสวนได้ และการดำเนินการตามคำสั่งก็มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการแต่ประการใด และมิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอีกด้วย จากกรณีนี้มีบาง สน. ที่ให้ความร่วมมือตามคำสั่งกลับโดนปรับย้าย บาง สน. กลับไม่โดนปรับย้าย ทั้งๆที่ผลการพิจารณาของคณะกรรมการยังไม่เสร็จสิ้นว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการหรือไม่” แหล่งข่าวคนเดิม กล่าว
ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นภาคเอกชนที่มีการสร้างป้อมให้กับเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ เช่น โรงพยาบาล โรงแรม บริษัทเอกชน หรือห้างร้านในพื้นที่รับผิดชอบของ สน.นั้นๆ ซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลาหลายสิบปี เมื่อสร้างป้อมและมอบให้กับทางราชการแล้วก็ขอติดตั้งป้ายโฆษณากิจการของตนเอง เป็นรูปแบบกล่องไฟขนาดเล็ก พร้อมทั้งบอกชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของ สน. ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับเจ้าพนักงานตำรวจตามที่กล่าวอ้าง อีกทั้งยังให้การสนับสนุนสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา ให้กับป้อมตำรวจที่ได้สร้างให้ด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีกลุ่มที่ 3 สรุปได้ว่า กระทำไปโดยสุจริตใจ เพราะที่ผ่านมาทาง สน.ไม่ได้รับงบประมาณในการจัดสร้าง ต้องอาศัยภาคเอกชน และมีการติดตั้งไว้ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง เป็นผู้ให้การสนับสนุนหน่วยงานราชการ ทำประโยชน์ให้กับราชการ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสถานที่สำหรับปฏิบัติงานในหน้าที่ ซึ่งทางราชการมิได้จัดสรรงบประมาณมาสำหรับการก่อสร้างป้อมตำรวจ การที่ภาคเอกชนเหล่านี้ได้ให้การสนับสนุนจึงเกิดผลดีต่อการปฏิบัติราชการ และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ การก่อสร้างป้อมตำรวจและยกให้กับ สน.นั้นๆได้ก่อสร้างมาเป็นระยะเวลานานแล้ว บางแห่งสร้างมา 20 - 30 ปี เมื่อมีการสร้างแล้วยกให้กับทางราชการ ก็ขอติดตั้งป้ายโฆษณากิจกรรมของตนเองในฐานะผู้ให้การสนับสนุน ดังนั้นการหยิบยกเอาการติดตั้งป้ายกรณีนี้มาเป็นเหตุตั้งกรรมการสอบสวนและปรับย้ายข้าราชการตำรวจก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะเจ้าพนักงานตำรวจมิได้มีการเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้สนับสนุนงานราชการ เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ประกอบกับป้ายดังกล่าวก็มีการติดตั้งมาเป็นเวลาช้านานก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกตั้งกรรมการและปรับย้ายจะมาดำรงตำแหน่งเสียอีก ผู้บังคับบัญชาควรให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกตั้งกรรมการและปรับย้ายจากสาเหตุการติดตั้งป้ายโฆษณาในกลุ่มนี้ เนื่องจากมิได้เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับหน่วยงานของรัฐ และมิได้เป็นความผิดร้ายแรงแต่ประการใด
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า หากกรณีการโยกย้ายข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ และได้กระทำต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อนุญาตให้มีการติดตั้งป้ายโฆษณาบนป้อมตำรวจเอง โดย ผกก.หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับอื่นๆ ก็ถือได้ว่า ผบช.น.ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ และมีความจำเป็นที่จะต้องลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ถูกลงโทษจะยกเอาเหตุที่ผู้บังคับบัญชาได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่มาตำหนิผู้บังคับบัญชาไม่ได้ เนื่องจากมีความผิดชัดเจน แต่ในส่วนของกลุ่มที่ 2 - 3 นั้น หากมีการโยกย้ายจากสาเหตุนี้ก็ถือว่าไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ถูกโยกย้าย เพราะบริษัทเอกชนกลุ่มที่ 2 ได้ทำสัญญากับ บช.น. โดยตรง ส่วนกลุ่มที่ 3 หากมีความผิดก็ต้องผิดทั้งหมด ไม่ควรเลือกปฏิบัติ
“ขณะนี้แม้ไม่อาจหยุดคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ไปแล้วได้ แต่เชื่อว่ายังสามารถนำข้อมูลนี้ไปประกอบการชี้แจงต่อ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ฝ่ายกฎหมาย ที่ได้รับมอบหมายเยียวยาตำรวจที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้” แหล่งข่าว ระบุ