xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ปลุกหน้าที่ สนช.ชี้ถูกผิดต้องแยกแยะคดีถอดถอนจากปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต(แฟ้มภาพ)
“ยะใส” โวยคดีถอดถอน “ยิ่งลักษณ์-2 อดีต ปธ.” ถูกบิดเบือน อ้างกระทบปรองดอง ย้อนถูกชี้มูลทำผิดชัด สังคมประจักษ์ดี จี้หน้าที่ สนช.มีหน้าที่ชี้ถูกผิด ไม่ใช่มาปรองดอง แยกแยะไม่ได้ปฏิรูปเกิดยาก ไม่ถอดถอนเท่ากับผิดหลักล้างผิด ปล่อยคนโกงที่ไม่ยอมรับผิด

วันนี้ (11 ม.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นถึงกระบวนการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีต ปธ.สภาฯ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีต ปธ.วุฒิฯ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติกันในวันที่ 23 มกราคมนี้ กำลังถูกบางฝ่ายบิดเบือนโดยอ้างว่า หากถอดถอนทั้ง 3 คน จะกระทบต่อการปรองดอง และมีความวุ่นวายตามมา ซึ่งคดีของทั้ง 3 คนเป็นคดีที่มีพฤติกรรมความผิดเกิดขึ้นชัดเจน องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้มูล และตัดสินแล้วว่าผิด ที่สำคัญสังคมทั่วไปก็ประจักษ์ชัดแจ้งถึงความเสียหายที่เกิดจากนโยบายรับจำนำข้าวและปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มา ส.ว. จนเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติการเมืองในช่วงที่ผ่านมา

นายสุริยะใส ระบุต่อว่า สนช.มีหน้าที่ตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณา และพิสูจน์การกระทำความผิดของบุคคลเหล่านั้น สนช.เปรียบเสมือนคณะลูกขุนที่ต้องชี้ถูกผิด ไม่ได้มีหน้าที่มาดูว่าจะปรองดองกันอย่างไร เพราะการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเกิดขึ้นแล้ว เรื่องนี้จะเป็นบทพิสูจน์ถึงความเข้มแข็ง และน่าเชื่อถือของระบบการถ่วงดุลตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญการปฏิรูปจะไม่มีทางเกิดขึ้นจริงถ้าสภานิติบัญญัติกลายเป็นสภาที่ไม่มีหลักไม่มีศักยภาพในการแยกแยะถูกผิดได้

นายสุริยะใส ระบุอีกว่า หาก สนช.ไม่ถอดถอนโดยอ้างว่า จะเกิดความวุ่นวาย จะกระทบต่อแนวทางการปรองดองนั้น การอ้างแบบนี้ต่างหากที่เป็นการทำลายหลักการปรองดอง เพราะ สนช.ไม่ต้องแยกแยะถูกผิดอะไร ให้ลืมๆ กันไป ทั้งที่มีความเสียหาย และความผิดเกิดขึ้น ต้องแยกแยะว่ากระบวนการถอดถอนเป็นคนละเรื่องกับกระบวนการปรองดอง

“ผมเป็นห่วงว่าหากมติ สนช.ไม่ถอดถอน ก็จะเท่ากับเป็นการนิรโทษกรรม หรือล้างผิดให้แก่คนที่ทำผิด ซึ่งขัดต่อหลักนิรโทษกรรมที่คนผิดควรต้องยอมรับผิด และได้รับการลงโทษถึงจะได้รับการให้อภัย และนิรโทษกรรม ที่สำคัญคดีนี้ไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีทุจริตในการใช้อำนาจ” นายสุริยะใส ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น