xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.แจงตีตกคดี 310 ส.ส.ดันร่างนิรโทษกรรมสุดซอย เหตุผิดรัฐธรรมนูญ 50 อย่างเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.  (ภาพจากแฟ้ม)
เลขาฯ ป.ป.ช.แจงตีตกปม 310 ส.ส.ร่วมดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เหตุคำร้องกล่าวหาแค่กระทำผิดรัฐธรรมนูญปี 50 อย่างเดียว ต่างจากกรณีแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.มิชอบ ฟันก่อนรัฐประหาร

วันนี้ (18 ธ.ค.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ยุติการไต่สวนสำนวนถอดถอน 310 ส.ส. ร่วมกันลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระ 3 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เสร็จสิ้นสุดลงว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่มีผู้ไปยื่นถอดถอนผ่านประธานวุฒิสภาเอาไว้ ในจำนวนดังกล่าวมีคำร้องของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ไปรวบรวมรายชื่อประชาชนมาเข้าชื่อถอดถอนเอาไว้ด้วย โดยเป็นการร้องว่า 310 ส.ส.ที่ร่วมกันลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระ 3 กระทำผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนั้นประธานวุฒิสภาได้ส่งเรื่องต่อมาให้ ป.ป.ช. และมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนเอาไว้ แต่ต่อมาหลังจากมีการรัฐประหาร ทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีสภาพบังคับใช้ ป.ป.ช.เห็นว่าคำร้องดังกล่าวเป็นการร้องว่าการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 50 อย่างเดียว ไม่มีความผิดตามกฎหมายอื่น จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการไต่สวนต่อได้ จึงต้องจำหน่ายคดีออกและรายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว.ให้ทราบว่าเราไม่สามารถดำเนินการต่อได้

นายสรรเสริญกล่าวว่า กรณีนี้ต่างกับคดีของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ ส.ส.-ส.ว. ที่ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. วินิจฉัยจบไปแล้ว และส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนตามกฎหมาย ซึ่งตอนส่งวุฒิสภายังปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่เรื่องยังทันไม่เข้าที่ประชุมวุฒิสภา เพราะมีการรัฐประหารก่อน พอมี สนช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว. จึงต้องส่งเรื่องคืนมาให้ ป.ป.ช. ยืนยันว่ามีอำนาจหรือไม่ ซึ่งได้ยืนยันกลับไปว่าเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยเสร็จแล้ว แม้จะไม่มีรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ พ.ร.ป.ป.ป.ช.ยังบังคับใช้ และมีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญจึงส่งเรื่องไปให้ สนช.พิจารณา ส่วน สนช.จะพิจารณาถอดถอนได้หรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกับเรา เป็นเพียงแค่ขั้นตอนการส่งเท่านั้น

“ส่วนเรื่องที่ค้างอยู่ และ ป.ป.ช.ยังไม่ได้วินิจฉัย ถ้าเป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างเดียว จะส่งคืนไปยัง สนช. เหมือนกับกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ แต่ถ้ายื่นถอดถอนแล้ว มีข้อกล่าวหาอื่นอีก เช่น เสียบบัตรแทนกัน กระทำความผิดกฎหมายอาญา ขัดต่อข้อบังคับ ขัดต่อระเบียบ อย่างนี้ ป.ป.ช.ทำต่อได้ โดยเราจะดูคำร้องเป็นหลัก ดังนั้น คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.มิชอบ กับกรณีนี้เลยต่างกันเพียงนิดเดียว” นายสรรเสริญกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น