ป.ป.ช. ปฏิเสธ อสส. ขอเปลี่ยนธงความผิดอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยันให้ฟ้องคดีละเว้นไม่ใช่ทุจริต สุดอึ้งคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการสูงสุดเพิ่งจะส่งเรื่องให้ อสส. พิจารณา เผยรัฐธรรมนูญปี 50 ยกเลิก ยกประโยชน์ให้จำเลยไปถึง 6 คดี ส่วนคดี ปรส. ที่ “เรืองไกร” ร้องเปิดเผยมติไต่สวน เตรียมนำเข้าที่ประชุมเพื่อดูรายละเอียดคำร้อง แต่อาจเปิดไม่หมดเพราะกระทบคุ้มครองพยาน - สิทธิส่วนบุคคล
วันนี้ (17 พ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกระแสข่าวคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุด (อสส.) ในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งฝ่าย อสส. เสนอให้คณะทำงานร่วมฝ่าย ป.ป.ช. เปลี่ยนธงในคดีจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นทุจริต แล้วจะฟ้องคดีให้เองว่า ในที่ประชุมคณะทำงานร่วมฯ ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ไม่มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึง โดยในประเด็นมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา แบ่งเป็นสองส่วนคือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและส่วนทุจริตประพฤติมิชอบ อย่างไรก็ดี ในการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ได้พิจารณาทั้งสองส่วนแล้ว ก่อนจะวินิจฉัยว่ากรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องของการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่มากกว่า ไม่ได้มีข้อมูลของการทุจริตเกี่ยวข้องด้วย
“ในช่วงเช้าวันที่ 17 พ.ย. ได้ประสานงานไปทางคณะทำงานฝ่าย อสส. เพื่อขอความคืบหน้า พบว่า ขณะนี้คณะทำงานฝ่าย อสส. เพิ่งส่งผลประชุมคณะทำงานร่วมฯ ครั้งที่ 3 ให้ อสส. พิจารณา ดังนั้น ต้องรอให้ อสส. พิจารณาแล้วส่งเรื่องมาให้คณะทำงานฝ่าย ป.ป.ช. ก่อนจึงจะสามารถนัดประชุมครั้งต่อไปได้” นายสรรเสริญ กล่าว
เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ปัจจุบันในส่วนของสำนวนคดีถอดถอนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มีอยู่ทั้งหมดใน ป.ป.ช. 48 คดี ในส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยตรงมีอยู่ 6 คดี ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. คงต้องยกคดีเหล่านั้น อย่างไรก็ดี ส่วนที่เหลืออีก 42 คดี มีการขัดกฎหมายอื่นประกอบอยู่ด้วย ดังนั้นคดีดังกล่าวจึงอยู่ระหว่างการไต่สวนต่อไป
ส่วนกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ต้องการให้ ป.ป.ช. เปิดเผยรายละเอียดมติการไต่สวนคดีที่เกี่ยวกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นายสรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องคดี ปรส. ที่นายเรืองไกร มายื่นนั้นตนรับทราบเรื่องแล้ว เตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดูรายละเอียดที่นายเรื่องไกรเรียกร้องว่ามีอะไรบ้าง อย่างไรในข้อกฎหมายของ ป.ป.ช. สามารถเปิดเผยข้อมูลคดีที่ไต่สวนแล้วได้ แต่ไม่ได้เปิดหมดทุกเรื่อง เพราะบางเรื่องเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพยานและกระทบสิทธิส่วนบุคคล ทั้งนี้ ทาง ป.ป.ช. ยืนยันเปิดเผยข้อมูลเรื่องที่มีการไต่สวนแล้วมาโดยตลอด แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเชิญใครมาให้การบ้าง