xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.จะเป็นแค่เสือกระดาษจริงหรือ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

วานนี้ 8 มกราคม 2558 ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่คอการเมืองต้องจับตา เนื่องจากเป็นวันแรกเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าด้วยวาระถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากการกระทำผิดในเรื่องจำนำข้าว

และถือเป็นครั้งแรกที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์จะได้ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการ ต่อสื่อมวลชน และต่อความรับรู้ของประชาชน

วันนี้จะเป็นการแถลงการณ์เปิดคดีเพื่อรับฟังฝ่าย ป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ส่วนการลงมติจะมีขึ้นในราวปลายเดือนนี้ แต่ถึงอย่างไรแม้จะไม่รู้ว่าในที่สุดจะออกหัวออกก้อย แต่การปรากฏตัวออกสู่สายตาสาธารณะอีกครั้งของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ยังน่าจับตา โดยเฉพาะว่าเธอจะกล่าว “อะไร” ต่อรัฐสภา

มีการวิเคราะห์แล้วว่า โอกาสที่จะได้เห็นการถอดถอนโดยรัฐสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งในกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช และกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ในทางปฏิบัติแล้วยากที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 65 ต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5 จึงจะถอดถอนได้

ปัจจุบันสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิก 220 คน 3 ใน 5 จึงเท่ากับว่า ต้องมีผู้ลงมติให้ถอดถอนมากกว่า 132 เสียงขึ้นไป

แต่เมื่อพิจารณาจากมติที่ สนช.เคยลงมติว่าจะรับสำนวนของ ป.ป.ช.ไว้พิจารณาหรือไม่เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มติที่ให้รับไว้พิจารณาอยู่ที่ 87 เสียง ส่วนอีก 75 เสียง เห็นว่าเรื่องไม่อยู่ในอำนาจของ สนช.ที่จะพิจารณาได้ โดยมีความเห็นแตกกันว่า เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองแล้วบ้าง หรือรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นฐานของการใช้อำนาจสิ้นสุดไปแล้วบ้าง และยังมีรายการงดออกเสียงอีก 15 เสียง

ถ้าใช้วิธีแบบเลขคณิตศาสตร์คิดง่ายๆ ว่า คนที่เคยรับไว้พิจารณาทุกคน จะลงความเห็นว่าจะถอดถอน ก็ยังต้องอาศัยลุ้นให้คนที่เคยลงมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา คนที่งดออกเสียง เปลี่ยนใจหรือลุ้นให้สมาชิก สนช.หน้าใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาในรอบหลังช่วยลงมติให้ถอดถอน ก็ยังต้องการอีก 45 เสียง เอาว่าแค่นี้ก็ยากแล้ว ยังไม่นับว่า 87 เสียงที่เคยลงมติให้ “รับ” ไว้ อาจจะเป็นลักษณะ “รับๆ ไว้ก่อนค่อยว่ากันทีหลัง” พอมา “ว่ากันทีหลัง” คือปลายเดือนนี้ ก็อาจจะไม่ถอดถอนก็ได้

สรุปคือ “ยาก” ถึง “ยากมาก” ที่จะเห็นการถอดถอนผ่านสภาฯ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่จะมีลุ้นหน่อยอาจจะเป็นคดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช ที่มีคนมองว่า ฝ่ายทักษิณ ชินวัตรอาจจะยอม

สังเวยให้เป็นแพะ และให้น้องสาวรอด เพื่อให้ภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้นศักดิ์สิทธิ์ และคดียิ่งลักษณ์นั้นไม่อาจเอาผิดได้จริงๆ

ส่วนในคดีอาญา ก็ยังเยื้อแล้วเยื้ออีกจบกันไม่ลง ระหว่างความเห็นของฝ่าย ป.ป.ช.ที่ยืนยันว่าสำนวนตัวเองนั้นสมบูรณ์แล้ว กรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ก็ลงมติเอกฉันท์ 7-0 ชี้มูลความผิด แต่ทางอัยการเองกลับมองว่า ในสำนวนของ ป.ป.ช.ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ ควรสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมและส่งพยานเอกสารเพิ่มเติมอีก

แม้ในที่สุดหากอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง ก็ไม่ตัดอำนาจ ป.ป.ช.ที่จะฟ้องคดีเองได้ แต่การฟ้องได้เองก็ต้องไปหาทนายความมาฟ้อง ซึ่งก็ยิ่งทำให้เกิดผลประหลาดว่า ในเมื่อมี อัยการเป็น “ทนายของรัฐ” แล้ว “องค์กรปราบปรามการทุจริตของรัฐ” ทำไมต้องเดือดร้อนไปหาทนายความเองด้วย

จากปัญหาทั้งเรื่องถอดถอน และในเรื่องของการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น จะเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญจะยกระดับคณะกรรมการ ป.ป.ป.เดิม ขึ้นมาเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับชาติ หรือ ป.ป.ช.ก็ตาม แต่อำนาจของ ป.ป.ช.ก็ไม่อาจเป็นที่สุด หรือดำเนินการได้จนสุดทางได้

ด้วยถ้าเป็นเรื่องการถอดถอน สุดท้ายต้องไปจบที่สภาฯ หรือในเรื่องคดีอาญา ต้องไปจบที่ศาล

หรือแม้แต่เรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดในระดับรองลงไป เช่นอำนาจในการลงโทษทางวินัยต่อข้าราชการประจำที่กระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการลงโทษตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล แต่ในทางกฎหมาย ผู้ถูกชี้มูลหรือลงโทษทางวินัยนั้นก็ยังสามารถที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษและนำคดีไปฟ้องศาลปกครองได้

ซึ่งหลายคดีก็ปรากฏว่า ศาลปกครองได้ “กลับ” ผลของการชี้มูลคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้วหลายคดี เช่น ป.ป.ช.อาจจะสืบสวนสอบสวนแล้วชี้มูลว่า ข้าราชการคนหนึ่งได้กระทำการทุจริต ชี้มูลให้ไล่ออก และหน่วยงานก็มีคำสั่งไล่ออกตามที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลไว้ แต่เมื่อเรื่องถึงชั้นศาลปกครอง ศาลอาจจะสั่งเพิกถอนคำสั่งโดยพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีปัญหาเป็นเรื่องความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่มิใช่เป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีอำนาจไต่สวน แล้วเพิกถอนคำสั่งไล่ออกก็ได้

สรุปคือ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นกระทำผิดสมควรถูกถอดถอน ก็ต้องไปถามสภาฯ ว่าตกลงจะถอดถอนหรือไม่ หรือชี้ว่ากระทำทุจริตผิดกฎหมายอาญา ก็ต้องให้อัยการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (หรือกรณีข้าราชการธรรมดาก็ศาลอาญาทั่วไป) หรือชี้มูลว่าข้าราชการกระทำทุจริตผิดหน้าที่ ให้หน่วยงานต้นสังกัดไล่ออกหรือลงโทษทางวินัย ก็ต้องไปรอลุ้นสู้คดีกันต่อในศาลปกครอง

จะเห็นได้ว่า อำนาจของ ป.ป.ช.นั้น “ไปไม่สุด” เลยสักทางเดียว แม้จะตั้งใจทำงานเต็มที่หรือมีอำนาจในไม้ในมือเพียงไร แต่ถ้าด้วยรูปแบบการจัดโครงสร้างอำนาจทางกฎหมาย ไม่มี “ไม้สุดท้าย” ที่จะปิดงานได้ด้วยตัวเอง ป.ป.ช.ก็อาจจะอยู่ในภาวะของเสือกระดาษต่อไปเช่นนี้ แต่อาจจะเป็นเสือกระดาษแบบเป็นสามมิติหน่อยอย่างพวกตุ๊กตาเสือเปเปอร์มาเช่ แต่ก็ไม่สามารถกัดใครตายได้คาปาก เพราะไม่มี “เขี้ยว” ของจริง

ในวาระการปฏิรูปเช่นในปัจจุบันนี้ ก็น่าคิดและน่าห่วงว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดโจทย์หนึ่งของการปฏิรูปไว้ว่า ให้ทบทวนความจำเป็นและความคุ้มค่าขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ซึ่งก็รวมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าไปด้วย

จึงเท่ากับว่า รูปแบบต่อไปของคณะกรรมการ ป.ป.ช.คงจะไม่อยู่กึ่งๆ กลางๆ เป็นองค์กรอิสระที่มีองค์อำนาจ แต่ไม่มีอำนาจจริงที่จะปิดงาน

คณะกรรมการ ป.ป.ช.หลังการปฏิรูป ถ้าไม่ “เพิ่มอำนาจ” หรือให้ “ดาบ” สำหรับฟันกรณีการทุจริตให้จบได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตัวได้บ้าง

ก็อาจจะต้องถูกลดระดับลงไปเป็นหน่วยราชการธรรมดา หรือองค์กรของรัฐแต่ไม่ถึงขนาดเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของรัฐ ภายใต้สังกัดของราชการ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบหาพยานหลักฐาน ทำความเห็นเบื้องต้น เพื่อส่งไปดำเนินการตามกฎหมายอื่นๆ ต่อไป แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด (ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเพียงการ “ชี้ขาด” ที่ไม่ได้ “เด็ดขาด”)

ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไปว่า ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญใหม่จะออกมาในรูปแบบไหน.
กำลังโหลดความคิดเห็น