ถ้าไม่กลืนน้ำลายตัวเอง โดยอยู่ตามโรดแม็ป ที่รัฐธรรมนูญต้องเสร็จราวเดือน ต.ค.58 และมีการเลือกตั้งประมาณต้นปี 2559 เท่ากับตอนนี้อายุขัยของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เหลือเพียงประมาณขวบปีเศษๆ เท่านั้น
ในขณะที่ผลงานตลอดระยะเวลาห้วง 6 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 แบ่งภาคบริหารประเทศแบบคสช. 3 เดือน ก่อนแปลงกายมาเป็นรัฐบาลลุงตู่อีก 3 เดือนเศษ หลายฝ่ายประเมินตรงกัน หากไม่นับเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าที่ คสช.เข้ามาปลดล็อกผลงานของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. และองคาพยพ ยังติดลบในสายตาประชาชน
โดยเฉพาะปัญหาเรื่องปากท้องประชาชน ค่าครองชีพที่สูงลิ่วขึ้นเรื่อยๆ ราคาสินค้าแพงระยับ สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ เกือบๆ จะเป็นยุคข้าวยากหมากแพง ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลยังหาวิถีทางกระชากกลับมาให้ดีกว่าเดิมไม่ได้
ผู้ร้านตามท้องเรื่องก็คงหนีไม่พ้น "ทีมเศรษฐกิจ" ที่ถูกปรามาสเรื่องฝีมือมาตั้งแต่ต้น
เรื่องการปราบปรามทุจริตที่ “บิ๊กตู่” ประกาศก้องเป็นศัตรูด้วย ปัจจุบันหลายคดียังไม่ได้ข้อสรุป ค้างเติ่งติดท่อไม่ขยับเขยื้อน คนที่โดนลงโทษส่วนใหญ่เป็นพวกปลาซิวปลาสร้อย ส่วนปลาใหญ่ลอยหน้าลอยตา แม้แต่เรื่องใกล้ตัวอย่างปม "ไมโครโฟนเทวดา" ราคาเหยียบแสน และโครงการสติกเกอร์ไลน์ค่านิยม12 ประการ ราคา 7ล้านบาท ที่หนำซ้ำยังโยงกับ "อดีตภรรยาเพื่อนซี้ผู้มีอำนาจใน คสช." ดูเหมือนจะลงเอยในลักษณะบกพร่องโดยสุจริต จนโดนค่อนแคะว่า ส่อแววเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล
งานของแม่น้ำอีก 3 สาย ในซีกนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เดิมหวังจะเป็นหางเสือสำคัญให้ผลักดัน "เรือแป๊ะ" ไปถึงฝั่งตามที่มุ่งหมาย แต่ตั้งแต่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา พาออกอ่าวออกทะเล หลงไปไกล
สนช. ที่ต้องการจะให้เร่งคลอดกฎหมายสำคัญ แม้จะผ่านกฎหมายไปได้หลายฉบับ แต่นั่นเป็นคุณสมบัติของรัฐสภาเฉพาะกิจที่โดดเด่นเรื่องความเร็วมากกว่ารัฐสภาภาวะปกติอยู่แล้ว
ทว่ากฎหมายที่สังคมต้องการ ตรงตามปัญหายังน้อยเกินไป ขณะที่การทำงานเรื่องอื่นๆ อย่างการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำหมดศรัทธากันไปพักใหญ่ หลังมีกระแสข่าวว่า สนช.สายลายพรางเพื่อนซี้ “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม อยากจะปล่อยผีเพื่อความปรองดอง
ด้านสปช.ช่วงที่ผ่านมา หมกมุ่นกับการเสนอแนะรัฐธรรมนูญ บางข้อเสนอสุดโต่งจนโดนสังคมประณาม เสียเครดิตกระทบชิ่งถึงรัฐบาลหลายเรื่อง ขณะที่เรื่องหลักที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างการปฏิรูปแทบไม่ได้พูดถึง ทั้งที่เป็นงานที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะครอบคลุมหลายเรื่อง ไม่ใช่เพียงแค่ 11 ด้านเท่านั้น ตั้งแต่คลอดแม่น้ำสาย สปช.เป็นต้นมา ยังไม่มีเรื่องใดเป็นรูปธรรม การออกสตาร์ทช้าเลยทำให้ทุกคนหวาดระแวงว่า การปฏิรูปเที่ยวนี้ส่อแววเสียของแน่ๆ
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเอง เสียรังวัดไม่ใช่น้อย เพราะถูกตั้งธงตั้งแต่แรกแล้วว่า มีธงหรือพิมพ์เขียวไว้ในใจอยู่แล้ว ครั้นพอสปช.เสนอกรอบเข้ามา หลายข้อเสนอถูกตีตกเกือบหมด โดย กมธ.ยกร่างฯ ยึดเอาของตัวเอง ทำให้ถูกมองว่า กระบวนการขั้นตอนต่างๆ เป็นเพียง "พิธีกรรม" เท่านั้น นอกจากนี้ ข้อเสนอที่ออกมาจาก กมธ.ยกร่างฯ บางข้อเสนอสุดโต่งจนหลายคนรับไม่ได้ โดยเฉพาะการเปิดอ้าให้นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ จนเข้าทางตีนฝั่งตรงข้ามอ้างระบบประชาธิปไตยรุมขย้ำ
ถอดบทเรียนจากช่วงระยะเวลา 7 เดือน ในหมวกคสช.และรัฐบาล ดูเหมือน “บิ๊กตู่” จะเริ่มยอมรับคำติเตียนแล้วว่า ทุกอย่างมันอยู่ในลักษณะความเลวไม่มี ความดีไม่ปรากฎ หากยึดแนวทางเดิมอีกในโรดแม็ประยะเวลาที่เหลือ โอกาสจะ “เสียของ” และกลายเป็น “ของเสีย” นั้นมีสูงลิ่วแน่ ขยับเข้าปีแพะเป็นต้นมา เลยปรับการทำงานกันโขยงใหญ่
โดยเฉพาะงานของแม่น้ำ 3 สายซีกนิติบัญญัติ ที่แสดงได้ชัดว่า รัฐบาลเหมือนจะร้อนจากไฟลนก้น ออกอาการระแวงเหมือนกันจึงต้องสั่ง “เนติบริกร” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงไปประกบสนช. และ สปช.แบบใกล้ชิด
โดย “เนติบริกร”และ “สุวพันธุ์” จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับ สนช. และ สปช. ให้ได้รับทราบว่า รัฐบาลมีข้อมูลเดิมอย่างไรบ้าง มีแนวความคิดในการปฏิรูปอย่างไร มีบรรทัดฐานขั้นต้นอย่างไร และมีอะไรเป็นต้นทุนบ้างแล้ว เพื่อ สนช.และ สปช.จะได้นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป ซึ่งการส่งรัฐมนตรีลงไปประกบตอกย้ำให้เห็นได้ดีว่า สิ่งที่สนช.และสปช.เดินมาตลอดในช่วงหลายเดินหลงทาง ออกอ่าวออกทะเลไปเยอะ จึงจำเป็นต้องตบกลับให้เข้าที่เข้าทาง
ตามคิวที่ “เนติบริกร” กระชุ่นออกมาตรงๆ ว่า ที่ผ่านมา สปช.เอาแต่พูดถึงปัญหาสารพัดสารเพ แต่น้อยครั้งที่จะเสนอว่า ควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไรและวิธีไหน ดังนั้น ต่อไปหากเสนอปัญหาแล้วต้องเสนอวิธีแก้มาด้วย เพราะเป็นหน้าที่ของสภาปฏิรูป
การลงไปจี้ครั้งนี้จึงต้องการทำให้เห็นเลยว่า เรื่องไหนรัฐบาลต้องการผลักดัน เรื่องไหนเร่งด่วน เรื่องไหนระยะเวลา 1 ปี และเรื่องไหนระยะยาว ซึ่งหากอยู่ในสภาวะปกติการส่งรัฐมนตรีลงไปจุ้นจ้านงานนิติบัญญัติมากเกินไปถือเป็นการล้วงลูกที่ไม่เหมาะสม เป็นการแทรกแซงอย่างชัดเจน ที่ผ่านมารัฐบาลเองก็พยายามจะกันตรงนี้มาตลอด แต่เมื่อ หัวใจสำคัญของรัฐบาลอย่างการปฏิรูปไร้เข็มทิศ เวลาบีบรัด จึงจำเป็นต้องยอมลงทุนโดนด่า
เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลค่อนข้างให้ความสำคัญกับการปฏิรูปมาก และพยายามจะใช้กลไกลของ สปช.ในการปั่นผลงานอีกทาง อย่างเรื่องล่าสุดที่ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค สปช. ที่มีนางสารี อ๋องสมหวัง เป็นประธานกมธ. เสนอให้คิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาที เพราะที่ผ่านมาประชาชนโดนเอาเปรียบคิดเป็นนาที “บิ๊กตู่” เองรีบเด้งรับลูก ตีระฆังส่งสัญญาณไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้รีบหารือ ก่อนที่กสทช.จะเด้งรับแบบทันควัน โดยได้ข้อสรุปว่าทุกค่ายจะเริ่มดำเนินการเก็บค่าบริการตามความเป็นจริงต้นเดือน มี.ค.นี้เลย
งานนี้คนรากหญ้าไปจนถึงระดับคนมีอันจะกินชอบอกชอบใจไปหลายราย ซึ่งจับตาได้เลยว่า หลังจากนี้หากสปช.ชงอะไรที่หยิบจับง่าย เป็นรูปธรรมในเวลาแปบเดียว และตรงใจประชาชน รัฐบาลพร้อมจะแอ็กชั่นออกหน้าให้แบบกรณีค่าโทรศัพท์
เป็นการปั่นโปรไฟล์ปฏิรูปจับต้องได้ ในสิ่งที่หากเป็นรัฐบาลปกติจะอิดๆออดๆ เพราะติดขัดสารพัดปัจจัย แล้วที่ต้องดูให้ดี อันไหนที่คนรากหญ้าได้ประโยชน์ “บิ๊กตู่” ลุยเจาะแน่!!!