ประธานอนุ กมธ.จัดทำข้อเสนอแนะในการตราหรือแก้กฎหมายฯ เผยเบื้องต้นมีกฎหมายกว่า 80 เรื่องที่ต้องออกให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญใหม่ โดย 5 เรื่องที่ต้องทำเป็นการเร่งด่วน
นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานอนุ กมธ.จัดทำข้อเสนอแนะในการตราหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายลูก ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่า หลังจากที่ได้กรอบแนวคิดในการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะเริ่มพิจารณาในการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมและการตรากฎหมายใหม่ออกมาซึ่งเบื้องต้นมีราว 80 กว่าเรื่องที่ต้องให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ แต่จะออกมาเป็นกฎหมายกี่ฉบับนั้นต้องดูในรายละเอียดของแต่ละเรื่องด้วย ซึ่งต้องทำคู่ขนานไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ
ในส่วนของกฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วนต้องทำก่อนเพื่อรองรับการเลือกตั้งมีราว 4-5 ฉบับ คือ 1. กฎหมายพรรคการเมือง 2. กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. 3. กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และในกรณีที่จะมีศาลเลือกตั้ง ซึ่งเป็นศาลชำนาญพิเศษเฉพาะด้านก็ต้องมี 4. กฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลเลือกตั้ง เช่นเดียวกัน ถ้าสังคมต้องการให้มีการทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างนี้ก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่กำลังใช้อยู่นี้ เปิดช่องให้มีการทำประชามติ จึงจำเป็นต้องดูกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติว่าต้องปรับปรุง แก้ไขอย่างไรให้สอดคล้องไปด้วย จึงเป็นกฎหมายฉบับที่5ที่ต้องเร่งปรับปรุงเพื่อรองรับทั้งหมด
ส่วนกฎหมายอื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กันเพื่อรองรับองค์กรอิสระ หรือการบังคับใช้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ที่จำเป็นทะยอยออกมาหลังจากที่ได้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแล้วก็มีอีกมาก 20 กว่าฉบับ เช่น กฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การคลัง กฎหมายเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกราว 5 ฉบับที่จะระบุชัดเจนถึงการใช้จ่ายงบประมาณและการคลังขององค์กรเหล่านี้ อำนาจหน้าที่ และกฎหมายว่าด้วยการทำหนังสือ และสนธิสัญญาที่ต้องผ่านรัฐสภา รวมถึงกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีการเสนอให้ความเห็นเข้ามามาก ยังไม่รวมข้อเสนอให้จัดตั้งศาลชำนาญเฉพาะกิจเกี่ยวกับด้านต่างๆ ซึ่งต้องดูถึงความสำคัญ จำเป็น เหมาะสมว่า กมธ.ยกร่างฯ จะให้มีการจั้งขึ้นหรือไม หากตั้งขึ้นก็ต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมารองรับให้ยึดโยงกับรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดต้องเวลาราว 6-9 เดือนทำควบคู่กันไป