ประชุม สปช.วันที่ 3 ถกปฏิรูปปกครองท้องถิ่น ส่วนใหญ่หนุนลดบทบาทส่วนกลาง เพิ่มอำนาจท้องถิ่น ตั้ง “สภาพลเมือง” คู่ขนานสภาเลือกตั้ง เชื่อการเมืองสู้กันเบาลง ผุด คกก.จธช.วางหลักธรรมาภิบาลการบริหาร สร้างแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว แทนนโยบายหาเสียงฉาบฉวย เพิ่มงบอุดหนุนท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ค้านแนวคิดเปลี่ยน ขรก.เป็น จนท.รัฐ อ้างกระทบกำลังใจ
วันนี้ (17 ธ.ค.) การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะในวันที่ 3 ในส่วนของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น โดยนายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานกรรมาธิการด้านการปกครองท้องถิ่น เสนอว่าให้รัฐต้องกระจายอำนาจและส่งเสริมให้ประชาชนและท้องถิ่น มีความสามารถ ความเป็นอิสระการปกครองตนเองภายใต้เอกภาพแห่งรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาสนองความต้องการของพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมมีประสิทธิภาพ โดยเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจ คน เงิน และปัจจัยอื่นๆไปยังท้องถิ่น และออกกฎหมาย อาทิ พ.ร.บ.การกระจายอำนาจแห่งชาติ พ.ศ... และกฎหมายอื่นที่จำเป็น รวมทั้งส่งเสริมท้องถิ่นให้มีเอกภาพ เป็นอิสระทางการคลัง รายได้รัฐที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นให้ขึ้นบัญชีเป็นรายได้ท้องถิ่นนั้น และรายได้ที่เกิดขึ้นให้จัดสรรแก่ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
“การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำเท่าที่จำเป็นตามกรอบของกฎหมาย เพื่อให้มีความเป็นอิสระ โดยจะเป็นหลักในการจัดบริการสาธารณะเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการยกระดับขีดความสามารถของท้องถิ่นในการบริหารทุกด้าน ส่วนมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดจะปรับบทบาทไปเป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอให้มี “สภาพลเมือง” ทำงานคู่ขนานสภาเลือกตั้ง ลดความเป็นการเมืองท้องถิ่นเป็นการบ้านท้องถิ่น ให้มีการตรวจสอบโดยภาคประชาชน ซึ่งอยากให้รัฐบาล คณะรักษาความแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นความจำเป็นในการสร้างฐานพลเมืองขึ้นมา เพราะที่ผ่านมาเห็นความอ่อนแอของประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้ไม่ใช่การล้มอำนาจรัฐ เพราะยังมีความจำเป็นในการกำกับดูแลยังมีความสำคัญ หากอำนาจลงสู่ข้างล่าง การต่อสู่ในการเมืองจะเบาบางลงด้วย”
ทั้งนี้ สมาชิก สปช.ลงชื่ออภิปราย โดยส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง พร้อมขอให้มีการตั้ง “สภาท้องถิ่นแห่งชาติ” เพื่อเป็นการรวบรวมหน่วยงานที่กำกับดูแลองค์กรปกครองท้องถิ่นมารวมอยู่ด้วยกันให้เป็นหน่วยงานเดียว เพื่อความเป็นเอกภาพ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการเพิ่มหน่วยงานขึ้น รวมทั้งมีความหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำเรื่องปฏิรูปให้เข้มแข็ง โดยนายวัลลภ พริ้งพงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะ สปช.กล่าวว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล งบประมาณที่ได้รับถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอน และบางภารกิจซับซ้อนต้องการความหลากหลายของบุคลากร การถ่ายโอนต้องคุ้มค่า โดยภารกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชนควรเป็นขององค์กรปกครองท้องถิ่น
ด้านนายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ได้เสนอให้จัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คือ “คณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ” (จธช.) ให้มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม ธำรงรักษาจริยธรรม และหลักธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่หากเห็นว่าจะเป็นการเพิ่มองค์กรขึ้นก็เห็นควรด้วยที่จะไปรวมอยู่ในองค์กรอื่น เช่น “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ควรกำหนดขอบเขตภารกิจ อำนาจหน้าที่และจัดดุลอำนาจและความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน เพิ่มอำนาจของประชาชนในการมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการบริหารงานมากขึ้น ส่วนกลางต้องถ่ายโอนภารกิจที่ควรมอบให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งบุคลากรและงบประมาณ ภายในเงื่อนไขเวลาที่กำหนดตามแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ ส่วนราชการภูมิภาคจะต้องมีขนาดเล็กลง และปรับบทบาทไปเป็นผู้กำกับ ดูแลตรวจสอบการดำเนินการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า การจัดสรรทรัพยากรบางประเภท เช่นทรัพยากรพลังงาน ให้ดำเนินการโดยผู้มีอำนาจควบคุมจัดการที่เป็นอิสระจากภายนอก และการจัดบริการสาธารณะบางประเภทเช่นสื่อ ให้ดำเนินการโดยผู้ให้บริการที่เป็นอิสระจากภายนอก กำหนดแนวทางในการจำกัดอำนาจและปรับลดบทบาทของภาครัฐลงรวมถึงลดการแทรกแซงของภาครัฐในกลไกตลาด ในกิจการที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพสูงกว่า ภาครัฐไม่ควรไปแข่งขันกับเอกชนในการดำเนินการ แต่ควรส่งเสริมสนับสนุนและมีบทบาทในการกำกับดูแลมาตรฐานและประกันโอกาสการเข้าถึงบริการของประชาชน การขยายและตั้งส่วนราชการหรือหน่วยงานภาครัฐใหม่ในส่วนกลาง และภูมิภาค จะต้องไม่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดบริการสาธารณะที่มีอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจะทำได้เฉพาะเมื่อมีการปรับยุบเลิกส่วนราชการเดิมลง
การบริหารราชการแผ่นดินต้องมีการจัด “แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว” ที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ของชาติและประชาชนอย่างแท้จริง เพราะไทยไม่มียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจน แต่มีนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ผ่านมาการบริหารราชการแผ่นดินมักจะยึดตามนโยบายพรรคการเมืองในการหาเสียง ทำให้ขาดความต่อเนื่องและขาดความรอบคอบ หลายรัฐบาลมีการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา และเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดนโยบายความมั่นคงของรัฐที่ชัดเจน ที่ผ่านมามีการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงแต่จะเน้นไปในทางด้านการทหาร ทำให้ไม่สะท้อนความมั่นคงของรัฐที่แท้จริง จึงควรปรับเปลี่ยนให้มุ่งเน้นผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ คือการดำรงอยู่อย่างมั่งคงยั่งยืนของสถาบันหลักของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การอยู่รวมกันอย่างเป็นปึกแผ่น สันติสุข เป็นธรรมและความอยู่ดีมีสุขของคนในชาติ การจัดทำงบประมาณควรมีลักษณะที่เน้นการควบคุมที่ผลงานมากกว่าการควบคุมปัจจัยป้อน และสร้างกลไกบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานตามภารกิจต่างๆจำเป็นต้องปรับบทบาทหน้าที่ และกระบวนการทำงานของสำนักงบประมาณ และจัดการทำงบประมาณควรเป็นระบบคู่ขนานคือจัดตามภารกิจ ที่สนองนโยบายของส่วนกลางเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในภาพรวม และจัดตามพื้นที่ ที่สนองต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นตามปัญหาที่มีความหลากหลายและเร่งด่วนแตกต่างกัน งบประมาณในส่วนที่ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 40 และอาจเพิ่มขึ้นได้ภายใต้แผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ
นายโกวิท ศรีไพโรจน์ สปช. กล่าวตั้งข้อสังเกตว่าได้ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนคำว่า “ข้าราชการ” เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งไม่เห็นด้วยเนื่องจากข้าราชการก็คือข้าของแผ่นดิน และแผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินของพระราชา ดังนั้นใครที่ทำงานให้กับแผ่นดินควรได้รับเกียรติเป็นข้าราชการ การเปลี่ยนคำว่าข้าราชการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจึงน่าจะกระทบต่อขวัญกำลังใจของข้าราชการ และไม่น่าจะเหมาะกับบริบทไทย นอกจากนี้เห็นว่า ควรมีการกำหนดบทบาทของกองทัพให้ชัดเจน ซึ่งตามความเห็นนั้นในระบอบการปกครองของทุกประเทศประมุข กับกองทัพต้องอยู่คู่กัน โดยประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราจึงควรกำหนดให้กองทัพไม่เกี่ยวกับการเมือง ที่ผ่านมามีการกฎหมายหลายฉบับที่ตนไม่ค่อยสบายใจ อย่าง พ.ร.บ.กลาโหม ที่ให้นายกรัฐมนตรีไปนั่งหัวโต๊ะก็เห็นว่าจะน่าขัดกับหลักการทหารต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงเห็นว่าควรจะแยกบทบาทของทหารให้ชัดว่ามีหน้าที่ในเรื่องของการรักษาความมั่นคงและสถาบัน
ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่จะให้มีเฉพาะราชการส่วนกลางกับราชการส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่วันนี้ดีใจที่กรรมาธิการฯชุดนี้ กับกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เห็นตรงกันว่าจำเป็นที่ต้องคงราชการส่วนภูมิภาคไว้ ถือว่าเป็นผลดีกับประเทศชาติอย่างยิ่ง แต่ถึงแม้จะคงไว้ก็ต้องตระหนักว่า วันนี้ถึงเวลาที่ส่วนกลางต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ขณะเดียวกันต้องมอบอำนาจให้ราชการส่วนภูมิภาคไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่น เพื่อให้บริหารจัดการตนเองได้ โดยถ้าเราจะต้องมอบอำนาจบริหารจัดการงบประมาณให้กับจังหวัด สามารถตั้งงบประมาณได้เอง ท้องถิ่นจะทำอะไรเสนอขึ้นมาและจังหวัดทำเรื่องเสนอมาขอส่วนกลาง ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะเท่าเทียมกับทุกจังหวัด