xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” หนุนไอเดีย ส.ส.- ส.ว.เลือกนายกฯ - “ดิเรก” เชียร์นิรโทษฯ แต่ต้องให้แกนนำตกผลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. (ภาพจากแฟ้ม)
สปช. แกนนำ 40 ส.ว. หนุนแนวคิด ส.ส.- ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ค้านให้สภาผู้แทนราษฎรเคาะเหมือนในอดีต หวั่นปัญหาซ้ำรอยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้าน “ดิเรก” เผยยังไม่มีสัญญาณส่อเลื่อนเลือกตั้งจากรัฐบาล หนุนแนวทางนิรโทษกรรม แต่คู่ขัดแย้งต้องคุยจนตกผลึกก่อน เริ่มประชาชนธรรมดาที่ติดคุกหลายปีเพราะไปร่วมชุมนุม

วันนี้ (30 พ.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองจะมีการประชุมกันในระหว่างวันที่ 1 - 3 ธ.ค. เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยขณะนี้มี 3 แนวทางที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา ประกอบด้วย 1. การให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนที่เคยทำในอดีต 2. ให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน และ 3. ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาประชุมร่วมกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดในการให้สภาผู้แทนราษฎร เป็นฝ่ายเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนในอดีต เพราะจะทำให้ปัญหากลับไปสู่แบบเดิมในอดีตอีก และจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี จึงคิดว่าแนวทางในการให้ ส.ส. และ ส.ว. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกัน น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะมาจากการพิจารณาจากหลายฝ่าย ไม่ใช่เพียงฝ่ายเดียว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า แนวทางที่สองที่ให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ตัดปัญหาระบบพรรคร่วมรัฐบาลที่มีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล แต่คิดว่าแนวทางที่สาม คือ แนวทางที่ดีที่สุด

ด้าน นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงวันเลือกตั้งที่อาจต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่า รัฐบาลน่าจะยังยึดถือกรอบระยะเวลาเดิมเป็นสำคัญ เพราะขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดส่งมาว่า จะมีการขยายระยะเวลาการดำเนินงานตามโรดแมป ระยะที่ 2 ออกไป มีแต่คณะทำงานการปฏิรูปทั้ง 18 คณะ ของ สปช. ที่เร่งดำเนินการศึกษาเตรียมเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในส่วนของคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมืองที่ตนทำหน้าที่อยู่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 5 ธ.ค. นี้ หลังจากที่ได้ประชุมกันมาหลายนัด อย่างไรก็ตาม หากระยะเวลาการดำเนินงานตามโรดแมประยะที่ 2 ต้องเลื่อนออกไปบ้าง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ส่วนแนวทางการนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความปรองดอง ที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานเสนอนั้น นายดิเรก กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่กระบวนการที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรมได้ จะต้องนำคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายมาคุยกันจนตกผลึกให้ได้แนวทางการดำเนินงานร่วมกันก่อน ส่วนจะนิรโทษกรรมสุดซอย หรือครึ่งซอย ก็ขึ้นอยู่ที่การพูดคุยของทุกฝ่ายว่าจะเห็นเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่าควรนิรโทษกรรมเรื่องที่จำเป็นไปตามลำดับ โดยเริ่มจากนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่เป็นประชาชนธรรมดา ซึ่งติดคุกมาหลายปีแล้ว เพียงเพราะไปร่วมชุมนุม เป็นต้น

“รัฐบาลชุดนี้สนับสนุนแนวทางการสร้างความปรองดองสมานฉันท์เป็นหลักอยู่แล้ว การนิโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองก็เป็นเรื่องจำเป็น ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ต้องถอยหลังกันคนละก้าว และมองไปที่ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก” นายดิเรก กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น