xs
xsm
sm
md
lg

มติ ป.ป.ช.ส่ง สนช.ถอดถอน 38 ส.ว.โหวตแก้ รธน. พบ 2 สปช.-1 สนช.โดนด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ ป.ป.ช.เผยที่ประชุมเสียงข้างมากชี้ถอดถอน 38 อดีต ส.ว.โหวตแก้รัฐธรรมนูญทำได้ เหตุกระบวนการเสร็จสิ้นก่อนรัฐประหาร แถม คสช.ยังคง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ไว้ จึงทำได้ตามกฎหมาย จึงมีมติให้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณา เผยพบ 2 สปช.-1 สนช.ติดร่างแห



วันนี้ (13 พ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงถึงผลการพิจารณากรณีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกรณีร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ..... ในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 38 คนนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากเห็นว่า สำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องขอให้ถอดถอนในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาออกจากตำแหน่งนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติวินิจฉัยและดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดจนเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ และมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 เรื่องการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะสิ้นสุดลง แต่การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 24/2557 ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป ประกอบกับคดีดังกล่าวมีข้อกล่าวหาที่ครอบคลุมถึงการกระทำความผิดที่ถูกถอดถอนตามกฎหมายอื่น นอกจากการร้องขอถอดถอนตามรัฐธรรมนูญที่สิ้นสุดไปแล้วด้วย จึงทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมีการร้องขอให้ถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ออกจากตำแหน่งได้ตามมาตรา 58 ทั้งต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้บัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยยี่สิบคน ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการตราข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นการดำเนินการถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 64

ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมเอกสาร และความเห็นของเรื่องนี้ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป จำนวน 38 รายประกอบด้วย นายประสิทธิ์ โพธสุธน นายสมชาติ พรรณพัฒน์ พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์ นายดิเรก ถึงฝั่ง นายประวัติ ทองสมบูรณ์ นายกฤช อาทิตย์แก้ว นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ นายโสภณ ศรีมาเหล็ก นายภิญโญ สายนุ้ย นายต่วนอับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ นายสุเมธ ศรีพงษ์ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล นายพีระ มานะทัศน์

พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ผศ.วรวิทย์ บารู นายสุโข วุฑฒิโชติ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง นายรักพงษ์ ณ อุบล นายบวรศักดิ์ คณาเสน นายจตุรงค์ ธีระกนก นายสุริยา ปันจอร์ นายถนอม ส่งเสริม นายบุญส่ง โควาวิสารัช นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ นายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ นางภารดี จงสุขธนามณี พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร นายวิทยา อินาลา

ทั้งนี้ พบว่า นายดิเรก และ พ.ต.ท.จิตต์ เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติในขณะนี้ ส่วน พล.ต.กลชัยก็ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น