xs
xsm
sm
md
lg

“สาทิตย์” ชี้ปมขัดแย้งบ้านเมืองไม่ใช่ตัวบุคคล เตือน สนช.เข็นนิรโทษกรรมตั้งหลักให้ถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำ กปปส. ชี้ปมปัญหาบ้านเมืองมาจากหลักกฎหมายของบ้านเมือง ไม่ใช่ความขัดแย้งระดับบุคคล เตือนถ้าจะสร้างหลักความปรองดองจะต้องตั้งหลักให้ถูก เห็นด้วยนายกฯ บอกนิรโทษกรรมเป็นคนละเรื่องกัน อย่าจับมาปนกับการปฏิรูป กังขาปรองดองพูดสวยหรูแต่รูปธรรมมันคืออะไร ชี้ สนช. ไม่กี่คน เสนอกฎหมายให้คนมาจับมือคืนดีกันยิ่งไม่ใช่

วันนี้ (7 ธ.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวถึงแนวคิดการนิรโทษกรรม ว่า ปัญหาของบ้านเมืองในเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ที่ถึงขั้นประชาชนมีการลุกขึ้นคัดค้านรัฐบาลตั้งแต่ปี 2544 ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งระว่างใครกับใครตั้งแต่ต้น แต่เห็นว่ารัฐบาลโดยรัฐมนตรีทำผิดกฎหมายของบ้านเมือง ก็ออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการตามกฎหมายของบ้านเมือง ปัญหาของมวลชนที่เกิดขึ้นตอนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใครไปขัดแย้งกับใคร ไม่ใช่แกนนำทะเลาะกัน แล้วชักชวนคนออกมาต่อสู้ตามที่แกนนำคิด แต่เป็นปัญหาสะสมที่เกิดจากฝ่ายผู้สูญเสียอำนาจมีเป้าประสงค์ชัดเจนที่จะแก้ไขความผิดของตนเอง และบานปลายจนเกิดความขัดแย้งรุนแรง และเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ยอดน้ำแข็งก็โผล่ให้เห็นมาตลอด

พอถึงรัฐบาลชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งเห็นว่ารากของปัญหาสำคัญคืออะไร โดยเฉพาะกฎหมายนิรโทษเลยกลายเป็นที่มาของการลุกขึ้นของมวลมหาประชาชน เขาไม่ได้ลุกขึ้นเพราะความเกลียดชัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือระดับรัฐบาล แต่เพราะต้องการปกป้องกฎหมายของบ้านเมือง ในเหตุการณ์ขณะนั้นหลายคนที่มีบทบาทในรัฐบาลขณะนี้และในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เคยออกมาพูดจาเห็นได้ชัดว่าไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น แต่รัฐบาลยุคนั้นก็เลือกที่จะใช้ความรุนแรงทั้งกำลังนอกกฎหมายและจากผู้รักษากฎหมายเองจนนำมาสู่การรัฐประหารที่ประกาศชัดว่าต้องการนำประเทศกลับไปสู่ความสงบ ดังนั้นปมของปัญหาเรื่องนี้มันอยู่การรักษาหลักกฎหมายของบ้านเมือง ไม่ใช่อยู่ที่ความขัดแย้งในระดับบุคคล หรือแกนนำ หรือระดับล่าง

นายสาทิตย์ กล่าวว่า ดังนั้น ตนเห็นว่าถ้าจะสร้างหลักความปรองดองจะต้องตั้งหลักให้ถูก ถ้าตั้งหลักว่าเป็นเพราะความขัดแย้งระดับบุคคลตนเกรงว่าคุยไปก็เท่านั้น หลักที่ดีที่สุดคือการรักษาหลักนิติรัฐนิติธรรมให้ถูกต้องาเราจะพูดถึงการปรองดอง หรือการนิรโทษกรรม โดยละเลยหัวใจของระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ หรือถ้าเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบมาคุยกันมีเป้าหมายเพื่อเยียวยาคนทั้งหลาย มีการพูดคุยกันเพื่อสืบค้นหาสาเหตุ ก็เห็นด้วยไม่ผิดอะไรก็ทำได้และควรจะทำ เพราะในกลุ่ม กปปส. มีคนบาดเจ็บเกือบพันคน คนตาย 24 คน อย่างน้อย 20 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ แต่ต้องกำหนดประเด็นการคุยให้ชัดเจน อย่ามาปนกับเรื่องปรองดองกับการรักษานิติรัฐนิติธรรมของบ้านเมือง ซึ่งคณะกรรมการชุดนายคณิต ณ นคร เคยทำไว้แล้ว ลึกซึ้งกว่าที่พูดกันอีก หวังว่าควรจะหยิบขึ้นมาเพราะการค้นหาได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่ายและละเอียดด้วย ไม่ควรตั้งเรื่องใหม่โดยไม่ดูว่าเรื่องเดียวกันมีคนศึกษาสรุปข้อเท็จจริงอย่างไร

“ผมคิดว่าเป็นความปรารถนาดีของหลายฝ่ายที่อยากจะเห็นคนที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน เพราะเป็นเรื่องดี แต่ต้องดูว่าจะคุยกันเรื่องอะไร ถ้าคุยกันเพื่อที่จะเสนอว่าเราจะรักษาหลักการของบ้านเมืองว่าใครทำผิดว่าไปตามผิด อย่างไร อันนี้คุยได้ แต่ถ้าคุยกันเพื่อหาทางออกให้คนของตัวเอง หรือกลุ่มตัวเองว่าที่ผิดมาแล้วจะทำให้พ้นผิดอย่างไร เป็นการตั้งหลักที่ผิดและจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต และเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ที่บอกว่านิรโทษกับปรองดองเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งคำว่าปรองดองความหมายเป็นเชิงบวกอยู่แล้ว เพียงแต่ถามประชาชนว่าปรองดองต้องทำอย่างไรเชื่อว่าเกือบทั้งร้อยนึกไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร มันต้องนิยามให้ชัด ถ้ากลับไปดูบริบทของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเวลาเขามีความปรองดองสมานฉันท์ปัญหาที่เกิดขึ้นมันคนละปัญหาที่เกิดในไทย ทั้งแอฟริกาใต้เรื่องเหยียดผิว ออสเตรเลียเรื่องคนผิวขาวกดขี่กลุ่มชนพื้นเมือง หรืออเมริกาแตกออกเป็นกลุ่มเพราะเป็นประเทศใหญ่จึงมีความสร้างความปรองดองเพื่อรวมกันเป็นหนึ่ง วันนี้ตัวรัฐธรรมนูญต้องนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่สร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่ถูกต้องของบ้านเมือง

ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเชื่อว่าคนส่วนมากอยากเห็นเรื่องนี้ อย่างคดีทุจริตคอรัปชั่นที่ศาลตัดสินแล้ว หรือคดีเกี่ยวกับสถาบันที่ควรอยู่ในหลักการนิติรัฐนิติธรรมที่ถูกต้อง ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ความปรองดองเป็นเรื่องหลัก เห็นจากเพราะความเห็นจากโพลล์ก็บอกว่าบ้านเมืองสงบดีขึ้นแล้ว แต่ปัญหาใหญ่คือเรื่องปากท้อง ถ้าประชาชนท้องอิ่มปัญหาอื่นจะลดลงไปโดยอัตโนมัติ แต่วันนี้รัฐบาลยังเห็นปัญหาปากท้องเป็นเรื่องรองจากปัญหาความมั่นคง ซึ่งทำให้ประชาชนท้องไม่อิ่มและจะมีการเรียกร้องต่อไป เช่นเรื่องราคายางพาราที่เวลานี้ 3 กิโลกรัม ยังไม่ถึง 100 บาท มันเป็นปัญหาที่เดือดร้อนมาก มีข่าวว่าจะมีคนออกมาเรียกร้องกันอีก ซึ่งมันไม่ได้เกิดจากเรื่องความปรองดองหรือไม่ปรองดอง แต่เป็นปัญหาของคนท้องหิวไม่มีเงินใช้จ่ายก็เรียกร้องให้รัฐบาลช่วย ดังนั้นวันนี้อยากให้ทุกฝ่ายของบ้านเมืองตั้งหลักให้ดีทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง” นายสาทิตย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนหลายฝ่ายพยายามจุดพลุเรื่องความปรองดองเป็นหลัก จะเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการใช้กระแสสังคมกดดันหรืออำพรางบางอย่างในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ตนคิดว่ามีบางฝ่ายคิดจะเขียนเรื่องปรองดองลงไปในร่างรัฐธรรมนูญจริง จะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ เช่น บางฝ่ายอาจจะมองว่าจำเป็นต้องเขียนหลังจากที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่อยู่ที่การปฏิบัติของตัวรัฐบาลในแต่ละยุคด้วย ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร ถ้าปฏิบัติในหลักนิติรัฐนิติธรรมไม่ถูกต้อง ปัญหาก็ไม่มีวันจบสิ้น ตนไม่อยากคิดว่าการหยิบยกเรื่องปกครองขึ้นมาเพื่อมีวัตถุประสงค์เพื่อกลบเกลื่อนเรื่องอะไร แต่ยังมองโดยสายตาที่ยังเห็นว่าบางฝ่ายคงอยากเขียนจริงๆ เพียงแต่ตนท้วงติงในฐานะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาตลอด 10 ปีที่แล้ว ว่าอย่าเข้าใจว่าปัญหาความปรองดองของประเทศไทยเกิดจากความขัดแย้งในระดับบุคคล เพราะไม่มีใครที่ขัดแย้งกับใครแล้วชักชวนคนเป็นล้านคนออกมาต่อสู้บนท้องถนนได้ ถ้าเขาเหล่านั้นไม่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องประเทศชาติบ้านเมือง

ส่วนที่หลายฝ่ายอ้างว่าหากยังไม่สามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ก็ไม่สามารถที่จะปฏิรูปประเทศได้สำเร็จนั้น นายสาทิตย์กล่าวว่า โดยหลักการก็ถูกต้อง แต่ต้องไม่จับสองคำนี้มาเกิดความสับสนว่าการปฏิรูป หมายความว่าทุกคนจะต้องเห็นตรงกันโดยไม่มีข้อขัดแย้งกันเลย ถ้าการปฏิรูปนั้นไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบางคน โดยเอาผลประโยชน์เฉพาะตนมาเป็นใหญ่จะเรียกว่าปฏิรูปไม่ได้หรือ ถ้าปรองดองหมายความว่าต้องเอาประโยชน์ตนหรือบางกลุ่มมาเหนือผลประโยชน์ส่วนรวมนั่นไม่ใช่ความปรองดอง

“มันเป็นที่คำสวยหรู ใครพูดแล้วดูดี แต่รายละเอียดรูปธรรมมันคืออะไร ผมฟังมาตั้งนานแล้วยังไม่เคยมีใครอธิบายได้ชัดเจน โดยเฉพาะการจะให้ สนช. เพียงไม่กี่คนเสนอร่างกฎหมายให้คนมาจับมือคืนดีกันยิ่งไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องของใจอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า จะเอากฎหมายมาบังคับคนให้ปรองดอง มันไม่ใช่ตรรกะที่ถูกต้อง” นายสาทิตย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น