รอยเตอร์ - บรรดาญาติของวัยรุ่นผู้ก่อเหตุยิงกันในโรงเรียน ออกมาระบุเมื่อวันเสาร์ (25 ต.ค.) ว่าตอนนี้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางฝันร้าย พยายามที่จะค้นหาว่าเพราะเหตุใดเด็กชายผู้ก่อเหตุจึงต้องมุ่งเป้าไปที่เหล่าผองเพื่อนและลูกพี่ลูกน้องอีก 2 คน ก่อนที่จะปลิดชีพตัวเองในท้ายที่สุด ขณะที่เพื่อนของเหยื่อรายหนึ่งบอกว่ามือปืนถูกสาวเมินก่อนก่อเหตุครั้งนี้
บรรดาเหยื่อผู้ถูกยิง มีเด็กหญิง 1 รายเสียชีวิต กับนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บอีก 4 คน จากเหตุรุนแรงเมื่อช่วงเช้าวันศุกร์ (24 ต.ค.) ในโรงอาหารของโรงเรียน แมร์รีวิลล์ พิลชัค ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองซีแอทเทิล
ตำรวจไม่ได้ระบุตัวตนของนักเรียนผู้ก่อเหตุ แต่สมาชิกของครอบครัวได้เปิดเผยกับรอยเตอร์เมื่อวันเสาร์ (25 ต.ค.) ว่ามือปืนคือ เจย์เลน ฟรายเบิร์ก เด็กชายอายุ 14 ปี โดยที่ในบรรดาเหยื่อนั้นมีลูกพี่ลูกน้องของเขารวมอยู่ด้วย 2 คน ได้แก่ เนท แฮช, แอนดรู ฟรายเบิร์ก
“ฉันรู้สึกว้าวุ่นใจมากๆ มันเหมือนกับเป็นฝันร้าย” พอลลา แฮช ซาเทียคัม คุณป้าวัย 49 ปีของเหยื่อรายหนึ่ง กล่าว พร้อมทั้งบอกว่าไม่มีอะไรที่บ่งชี้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างพวกเขา ก่อนที่จะเกิดเหตุร้าย
แบรนดอน แฮช วัย 26 ปี ซึ่งเป็นญาติอีกคน บอกว่าทั้ง 3 เป็นเหมือนเพื่อนสนิทที่มีบ้านอยู่ใกล้กัน พวกเขาเติบโตมาด้วยกัน ในย่านของชนพื้นเมืองอเมริกัน ใกล้กับแมร์รีวิลล์
“เนต เจย์เลน และแอนดรู เติบโตมาด้วยกัน พวกเขาไปเที่ยวบ้านของกันและกันในช่วงสุดสัปดาห์ ช่วงหลังเลิกเรียน แล้วก็เล่นเกม เล่นกีฬาด้วยกัน” เขากล่าว
ครอบครัวของแฮชและฟรายเบิร์ก เป็นสมาชิกของชนพื้นเมืองอเมริกันเผ่าทูลาลิป
“เท่าที่ผมรู้ พวกเขาเป็นเด็กที่สดใสและมีอนาคต มันเป็นเรื่องที่หนักหนามาก ผมไม่รู้ว่าทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้น ผมได้ยินข่าวลือต่างๆ นาๆ แต่ตอนนี้ผมอยากจะรู้แค่ความจริง” แฮช กล่าว
เจ้าหน้าที่สืบสวน ระบุว่า ยังคงค้นหาแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้ พร้อมกับได้รับปืนพกขนาด .40 มาจากทางโรงเรียนแล้ว
ผู้เห็นเหตุการณ์ ระบุว่า หลังจากมือปืนได้ก่อเหตุยิงเข้าใส่เพื่อนและญาติที่มารวมตัวกันที่โต๊ะในโรงอาหารของโรงเรียน ตำรวจก็ได้แห่กันมาที่โรงเรียนพร้อมด้วยอาวุธครบมือ โดยมีเด็กหญิงคนหนึ่งถูกยิงจนเสียชีวิต แต่ไม่มีการระบุตัวตนของเธอ
เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ระบุว่า แอนดรู ฟรายเบิร์ก อายุ 15 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากแผลที่ถูกยิงบริเวณศีรษะ ส่วนเนท แฮช อายุ 14 ปี บาดเจ็บหนักจากการถูกยิงที่บริเวณกราม
เหยื่อที่เป็นหญิงอีก 2 ราย ได้แก่ เชย์ลี ชัคกัลนาสกิต และจิอา โซริอาโน ทั้งคู่อายุ 14 ปี ยังคงอยู่ในอาการสาหัส ที่โรงพยาบาลสองแห่ง
เหตุครั้งนี้ได้สร้างความตกตะลึงให้กับบรรดาชนเผ่าพื้นเมืองและทั่วทั้งแมร์รีวิลล์ เมืองที่มีประชากรราวๆ 63,000 คน ซึ่งหลายคนต่างพากันบอกว่าไม่อยากเชื่อว่าฟรายเบิร์กเป็นผู้ลงมือก่อเหตุครั้งนี้
“เจย์เลนมักจะออกไปเล่นข้างนอกเสมอ แบบพวกนักกีฬา เขาเป็นคนมีอารมณ์ขันด้วย เป็นตัวฮา” แบรนดอน แฮช กล่าว
อย่างไรก็ตาม เหล่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนและกลุ่มผู้ปกครองพากันบอกว่า มีสัญญาณบ่งชี้ความรุนแรงไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อในช่วงหลังๆ ฟรายเบิร์กมีเรื่องขัดแย้งกับเพื่อนในสนามฟุตบอล
รีเบคกา คูลลี ผู้ซึ่งมีลูกชายเล่นฟุตบอลกับฟรายเบิร์ก บอกว่าเขาได้ทะเลาะวิวาทกับผู้เล่นคนอื่นในระหว่างการฝึกซ้อมฟุตบอล
“เจย์เลนทำจมูกของเด็กคนหนึ่งหัก ขณะที่นักฟุตบอลคนอื่นๆ ก็เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทครั้งนี้ด้วย” เธอกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณบอกใบ้เป็นนัยไว้บนโซเชียลมีเดีย ที่แสดงให้เห็นถึงความผิดหวัง หลายครั้งมีข้อความที่บ่งบอกให้รู้ว่าอกหักและโกรธแค้น
เจ้าหน้าที่ของทางโรงเรียนผู้ไม่ประสงค์จะเผยนาม กับเพื่อนของเหยื่อที่เป็นหญิง ได้บอกว่า มีเด็กหญิงคนหนึ่งเพิ่งจะปฏิเสธฟรายเบิร์กไป
“ฉันได้ยินมาว่าเขาชวนเธอออกไปเที่ยว เธอปฏิเสธแล้วก็ไปกับลูกพี่ลูกน้องของเขา” เบลลา ปันเจลี นักเรียนเกรด 9 จากอีกโรงเรียน ผู้เป็นเพื่อนกับเด็กหญิงรายหนึ่งที่เป็นเหยื่อ บอกกับนักข่าว
มีการสวดไว้อาลัยให้กับเหยื่อเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ที่โบสถ์ของคริสตจักรเพรสไบเทอเรียนในแมร์รีวิลล์ โดยมีบรรดานักเรียนและผู้ปกครองที่กำลังเศร้าหมอง พยายามปลอบโยนกันและหาสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้
จอห์น และ ซินดี ฮันนีแมน บอกว่า ลูกชายวัย 15 ปีของพวกเขา ถูกสั่งให้หลบอยู่ในห้องเรียนในระหว่างที่มีการยิงกัน
“พวกเขาทุกคนล้วนอายุน้อยกันทั้งนั้น ทำให้ฉันรู้สึกเศร้าใจมาก” ซินดี กล่าว
ชนเผ่าทูลาลิป ระบุในคำแถลงบนเว็บไซต์ของพวกเขาว่า ทางชุมชนกำลังเศร้าเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
“มันน่าเศร้ามาก ตอนนี้พวกเราต้องเจอกับเหตุการณ์ที่กลายเป็นกระแสระดับชาติ ซึ่งพวกเราทุกคนในฐานะของสังคมจะต้องหาทางแก้ไข” คำแถลงระบุ
จากข้อมูลของสำนักงานเทศมณฑล สโนโฮมิช เคาน์ตี มีพนักงานของโรงเรียนรายหนึ่งพยายามที่จะหยุดยั้งการก่อเหตุยิงกันครั้งนี้ ที่นับว่าเป็นครั้งล่าสุดของเหตุร้ายจากอาวุธปืน ทำให้เกิดการถกเถียงกันในระดับชาติเกี่ยวกับความปลอดภัยในโรงเรียนและกฎหมายควบคุมอาวุธปืน