xs
xsm
sm
md
lg

อนุฯ แจงแนวคิดปรับองค์กรอิสระ จ่อเข้า กมธ.ยกร่างฯ ลดอำนาจ กกต.- ให้ ป.ป.ช.ฟ้องตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไพบูลย์  นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
อนุ กมธ. พิจารณากรอบจัดทำ รธน. คณะที่ 8 แจงแนวคิดปรับองค์กรอิสระยกเป็นหมวดสอบอำนาจรัฐ ก่อนส่ง กมธ. ยกร่างพรุ่งนี้ เพิ่ม กกต. เป็น 7 คน มีอำนาจแค่แจกใบเหลือง ขยายวันเลือกตั้งใหม่ 60 วัน รับรอง ส.ส. 75% เปิดประชุมสภาได้ แจกใบแดงหน้าที่ศาล ตั้งสภา ปชช. กำกับองค์กรอิสระ ผุดรางวัลนำจับซื้อเสียง ให้สิทธิ์ ป.ป.ช. ฟ้องตรงศาล ยุบ ป.ป.ช.จว. ลดจำนวน กสทช. ให้ดูสื่อสาธารณะ

วันนี้ (30 พ.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ กล่าวว่า จากผลการหารือของคณะอนุกรรมาธิการ คณะที่ 8 ได้เสนอให้มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้มีหลักของความเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ สุจริตเที่ยงธรรม มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล การปฏิบัติหน้าที่ต้องมีเงื่อนเวลาในแต่ละขั้นตอน โดยรวมองค์กรอิสระหลายองค์กรตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หลายองค์กรเข้ามาเป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจขององค์กรเหล่านี้ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้มีอำนาจเพียงการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) เท่านั้น โดยขยายเวลาให้จัดการเลือกตั้งใหม่ได้จากเดิม 30 วัน เป็น 60 วัน และกำหนดให้ กกต. สามารถประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. ได้ 75 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถดำเนินการเปิดประชุมสภาได้ ไม่ต้องรอจนครบ 95 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเดิม ส่วนที่ยังไม่ประกาศผลก็ให้ส่งเรื่องให้ศาลอาญาแผนกคดีเลือกตั้งเป็นผู้คัดสินว่าจะต้องตัดสินผู้สมัคร (ใบแดง) รายใดหรือไม่

“หลักการคือจะไม่ใช่ต้องรีบรับรองไปก่อน แล้วไปสอยทีหลังเหมือนอดีต แต่ถ้าศาลประทับรับฟ้อง ก็ต้องรอจนกว่าคดีจะยุติ ซึ่งอาจจะระบุให้ศาลต้องตัดสินใน 60 วัน ถึงจะให้เข้าไปทำหน้าที่ ส.ส. ได้”

นอกจากนี้ ยังเห็นควรเพิ่มจำนวน กกต. จาก 5 คนเ ป็น 7 คน โดยกรรมการสรรหาต้องมีคุณวุฒิและที่มาอย่างหลากหลาย ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่วน กกต. จังหวัดๆ ละ 5 คน ต้องยุบเลิก แต่สำนักงานและเจ้าหน้าที่ กกต. จังหวัดยังคงอยู่ โดยให้ไปเป็นฝ่ายธุรการรองรับสภาตรวจสอบภาคประชาชน ที่จะตั้งมาเพื่อดำเนินการกับกรณีการทุจริตเลือกตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐ และทุจริตการใช้จ่ายงบประมาณในจังหวัด ซึ่งมีอำนาจฟ้องตรงต่อศาลเลือกตั้ง ศาลปกครอง ศาลยุติธรรมหรือศาลอื่นๆ แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องผ่าน กกต. ใหญ่ แต่ไม่ตัดอำนาจ กกต. ใหญ่หากเห็นว่ามีมูลทุจริตเลือกตั้งจะยื่นฟ้องศาลเอง

นอกจากนี้ ยังมีสภาตรวจสอบภาคประชาชน เพื่อกำกับตรวจสอบหลายสภา โดยมาจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ เพื่อกำกับหรือทำงานควบคู่กับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ทั้งนี้ก็มีการปรับโครงสร้างและอำนาจของบางองค์กรอิสระ เช่น กกต. ป.ป.ช. และสภาปฏิรูปการเมือง เป็นต้น ซึ่งจะมีโครงสร้างราว 50 - 100 คน ในแต่ละจังหวัด มีวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี มาจากประชาชนในเขตเลือกตั้งสมัครเข้ามา และการเสนอชื่อขององค์กรกลุ่มวิชาชีพแบบเดียวกับ สปช. เมื่อได้รายชื่อแล้วจะมีคณะกรรมการทำหน้าที่สุ่มส่วนที่ประชาชนสมัครมาให้ได้ 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภา ส่วนที่มาจากสาขาวิชาชีพ ก็จะสุ่มมา 1 ใน 3 ประกอบเป็นสภาการตัดสินความผิดที่คล้ายๆ คณะลูกขุน

ประธานอนุกรรมาธิการคณะที่ 8 กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการปรับแนวคิด ให้ผู้ขายสิทธิ์เป็นเสมือนผู้เสพติดยาที่ควรได้รับการเยียวยา ซึ่งจะมีโทษน้อยลงคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 - 20,000 บาท โดยสามารถส่งศาลแขวนให้ดำเนินการได้เลยแบบเดียวกับเมาแล้วขับ และมีเงินรางวัลนำจับให้กับผู้แจ้งเบาะแส ส่วนผู้ซื้อสิทธิ์เหมือนผู้ค้ายา ซึ่งจะมีการกำหนดโทษหนักอีกที ส่วน กกต. มีหน้าที่จัดการหาเสียงเพื่อให้ผู้สมัครต้องใช้เงินหาเสียงให้น้อยที่สุด และทำให้ กกต. ควบคุมการหาเสียงแบบประชานิยมแบบเกินเหตุได้

ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) จะปรับปรุงให้ทำแต่เรื่องการทุจริตระดับชาติ มีอำนาจฟ้องตรงไปยังศาลโดยไม่ต้องผ่านอัยการ ยุบเลิก ป.ป.ช. ระดับจังหวัด ไปให้สภาตรวจสอบภาคประชาชนทำหน้าที่แทน โดยมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินประจำจังหวัดมาทำให้ที่รองรับสนับสนุนในด้านความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบเชิงบัญชี

ทั้งนี้ ในที่ประชุมอนุกรรมาธิการคณะที่ 8 ยังเสนอให้มีสภาตรวจสอบจริยธรรมแห่งชาติ ที่เน้นผู้ทรงคุณวุฒิด้านจริยธรรม เสนอตัวมาแล้วสุ่มเลือกมาทำหน้าที่ ทำหน้าที่วินิจฉัยการขัดต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการหรือไม่ หากมีมติว่ามีพฤติกรรมขัดจริยธรรม ก็จะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ และมีผลต่อการเข้าสู่ตำแหน่ง โดยมีผู้ตรวจการแผ่นดินคอยสนับสนุนในเชิงธุรการ และเสนอให้ตั้งสภาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่จะตั้งขึ้นภายหลัง เป็นฝ่ายธุรการสนับสนุน

“สภาทั้งหมดที่เสนอมาไม่ได้มีการเพิ่มเติม หรือขยายองค์กรที่จะต้องมีสถานที่ หรือตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ โดยมีองค์กรตรวจสอบที่มีอยู่เดิมเป็นฝ่ายธุรการคอยจัดให้มีการประชุมตามโอกาส มีค่าตอบแทนแค่เบี้ยประชุมไม่มีเงินเดือน โดยใช้อำนาจพิจารณาแบบคณะลูกขุน มีวาระทำงานไม่เกิน 1 ปี โดยหมุนเวียนจับสลากออกครึ่งหนึ่งทุก 6 เดือน และให้ผู้เป็นกรรมการในองค์กรหรือสภาตรวจสอบ รวมทั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งของรัฐทุกคน ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และข้อมูลการเสียภาษีต่อสาธารณะ”

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ยังมีข้อเสนอให้ปรับคณะกรรมการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการกำกับดูแลการสื่อสารสาธารณะแห่งชาติ โดยลดจำนวนลง แต่เพิ่มขอบเขตหน้าที่ให้ดูแลในส่วนของวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม รวมทั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านเทคโนโลยีเช่นจัดสรรคลื่นทุกประเภท และกำกับดูแลด้านเนื้อหาด้วย โดยมีสภาตรวจสอบภาคประชาชนตรวจสอบองค์กรนี้แทนซูเปอร์บอร์ด

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของคณะกรรมาธิการคณะที่ 8 ยังคงอำนาจการตรวจสอบของสภานิติบัญญัติตามเดิม หรือตรวจสอบ ถอดถอนและส่งฟ้องได้ แต่ให้ยุบเลิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่วนสภาพัฒนาการเมืองอาจปรับไปยึดโยงกับสภาปฏิรูปที่จะตั้งขึ้นภายหลัง โดยข้อเสนอทั้งหมด จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ ในวันจันทร์ที่ 1 ธ.ค. ร่วมกับอนุกรรมาธิการคณะอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การจัดทำเป็นกรอบเบื้องต้นของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


ชงปฏิรูปองค์กรอิสระ ปปช.ฟ้องศาลเอง-มีสินบนจับซื้อเสียง
อนุกมธ.พิจารณากรอบจัดทำรธน. คณะ 8 เตรียมเสนอแนวคิดปรับรูปแบบองค์กรอิสระ ยกเป็นหมวดการตรวจสอบอำนาจรัฐ เพิ่มกกต.เป็น 7 คน มีอำนาจแค่แจกใบเหลือง ขยายวันเลือกตั้งใหม่เป็น 60 วัน รับรองผล ส.ส.75 % เปิดประชุมสภาได้ ส่วนอำนาจแจกใบแดงเป็นหน้าที่ศาล ตั้งสภาประชาชนกำกับองค์กรอิสระ ปรับแนวคิดซื้อขายเสียง มีรางวัลนำจับ โทษเหมือนเมาแล้วขับ ให้สิทธิ์ป.ป.ช. ฟ้องศาลไม่ต้องผ่านอัยการ ยุบปปช.จังหวัด ลดจำนวนกสทช.ให้ดูแลสื่อสาธารณะ เตรียมส่งกมธ.ยกร่างวันนี้ พีระศักดิ์ดีเดย์รับฟังความเห็นภาคอีสาน 27–29 ธ.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น