หน.ปชป.เข้าให้คำแนะนำ กมธ.ยกร่างฯตามนัด แจงมาในนามส่วนตัว เหตุพรรคถูกห้ามประชุม ชง 3 เรื่องหวัง รธน.นำสู่ปฏิรูปยั่งยืน แย้มเสนอระบบเลือกตั้งต่างออกไป เหตุแก้เลือกตั้งเกาไม่ถูกที่คัน ต้องแก้กันทุจริตเมื่อเลือกไปแล้ว ตรวจสอบต้องรวดเร็ว ชี้ประชามติสำคัญ ตัดปัญหาพวกไม่พอใจ ย้ำอัยการศึก จำกัดสิทธิ ขอชั่งน้ำหนักตัดโอกาสฟังความเห็นหลากหลายหรือไม่
วันนี้ (27 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้าให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าหารือว่า การมาให้ความเห็นครั้งนี้เป็นการมาส่วนตัว โดยความเห็นทั้งหมดไม่ผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากพรรคยังไม่สามารถจัดประชุมได้ สิ่งที่ตนอยากนำเสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ อาจแตกต่างจากหลายคนพูดเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งซึ่งเป็นเรื่องของนักการเมือง พรรคการเมือง แต่สิ่งที่ตนตั้งใจพูดคือ อยากได้รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การปฏิรูปและเป็นการปฏิรูปอย่างยั่งยืน ดังนั้นจะเสนอ 3 เรื่องใหญ่ 1. ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญมีความยั่งยืน โดยต้องเริ่มต้นจากการมีกระบวนการทำประชามติ 2. รัฐธรรมนูญไทยไม่ควรถอยหลัง ไม่ควรไปลดทอนสิทธิหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการที่ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้บริหารประเทศและการกำหนดทิศทางประเทศ และ 3. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ปัญหาหลักของระบบการเมือง คือ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายการเมือง เป้าหมายคือต้องไปเพิ่มกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลและบทบาทของภาคประชาชน รวมทั้งต้องลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ส่วนแนวความคิดที่ว่าจะเลือกตั้งกันอย่างไร ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด อยู่ที่ว่าเมื่อเลือกตั้งเข้าไปแล้วเข้าไปใช้อำนาจทุจริตมิชอบ ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเสียประโยชน์ เราจะแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยสิ่งเหล่านี้จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและอีกหลายส่วนต้องไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะในอดีตบางบทบัญญัติที่อยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเขียนไว้ดีแต่ปฏิบัติไม่ได้ ต้องแก้ไขอย่างไร ส่วนระบบการตรวจสอบซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่เป็นที่มาของวิกฤติการเมือง ซึ่งตนเห็นว่าในระบบรัฐสภาต้องมีเสียงข้างมากไม่เช่นนั้นทำงานไม่ได้ ปมปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้พรรคการเมืองหรือการทำงานในสภาอ่อนแอ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีเสียงข้างมาก สถาบันการเมืองต้องเข้มแข็ง แต่เมื่อพรรคการเมือง นักการเมืองมีอำนาจแล้วจะต้องยอมถูกตรวจสอบและรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และการตรวจสอบการถ่วงดุลต้องทันต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่เกิดเรื่องขึ้นแล้วแต่ใช้เวลาเป็นปีในการตรวจสอบ ความตรึงเครียดความไม่พอใจการต่อต้านก็สะสมมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ส่วนการได้มาของ ส.ว.นั้น มองว่าไม่ควรถอยหลังแต่วิธีการได้มาของ ส.ว.อย่าให้เหมือนกับฐานการเลือกส.ส.เพราะเป็นคนละวัตถุประสงค์กันและต้องพยายามหาวิธีการไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ส่วนที่นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่าจะนำหลักสถิติมาถามความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปนั้น ตนเห็นว่าถ้าใช้หลักสถิติเพื่อก็เป็นเรื่องที่ดี ดีกว่ารับฟังความคิดเห็นโดยไม่มีหลักวิชาการอ้างอิง แต่ต้องเข้าใจว่าการออกกแบบระบบการเมืองหรือประเทศจะเอาเพียงแค่ความเห็นเป็นประเด็นมารวมกันไม่ได้ ระบบต้องสอดคล้องกัน จึงคิดว่าเป็นหลักหนึ่งที่ใช้นำมาประกอบเท่านั้น อะไรที่เป็นข้อมูลถูกต้องเที่ยงธรรมก็นำมาเป็นประโยชน์ได้ แต่ไม่ได้ความว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องทำตามที่ไปสำรวจมาเพราะการไปสำรวจมาเมื่อนำมาประกอบแล้วอาจไม่สอดคล้องกัน
“ยืนยันว่าการทำประชามติเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีการทำประชามติข้อโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเกิดขึ้น ประเทศไทยก็จะต้องมาเสียเวลากับคนกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐธรรมนูญว่าจะรื้อหรือทำกันใหม่หรือไม่ สุดท้ายก็ไม่เดินไปสักที เราหวังว่าเมื่อเหตุการณ์มาถึงจุดนี้ เราอยากได้กติกาที่ดี ใช้ได้ ประชาชนยอมรับ พอพ้นระยะที่สาม ประเทศจะได้เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องการเมืองและรัฐธรรมนูญอีก แต่ถ้าไม่ทำประชามติ จะร่างรัฐธรรมนูญดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็ต้องมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจ สิ่งแรกที่เขาจะหยิบขึ้นมาคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนให้การยอมรับหรือไม่ ฉะนั้นการทำประชามติเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ผมมีข้อเสนอว่า การทำประชามติต้องมีทางเลือกให้กับประชาชนที่ชัดเจน ไม่ใช่เลือกว่ารับหรือไม่รับ แล้วจะได้อะไรเมื่อไหร่ จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบเพราะไม่อยากให้เสียเวลาอีก” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
เมื่อถามว่า ช่วงการแสดงความคิดเห็นควรมีการผ่อนปรนกฎอัยการศึกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่ากฎอัยการศึกเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น ผู้มีอำนาจจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการรักษาความสงบเรียบร้อยกับการเสียโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายหรือเปิดเผยมากขึ้น ซึ่งจะบอกว่ากฎอัยการศึกนั้นไม่มีผลกระทบใดเลยคงไม่จริง โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นทางผู้มีอำนาจต้องพิจารณาว่าคุ้มค่ากับการที่มีเครื่องมือนี้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือไม่ เพราะหน่วยงานความมั่นคงมีข้อมูลอยู่แล้ว ตนเห็นด้วยที่จะให้ผ่อนปรนกฎอัยการศึก ตนไม่เชื่อว่าเมื่อไม่มีกฎอัยการศึกแล้วจะมีปัญหาเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ถ้าเกิดปัญหาตรงจุดใดก็อาจประกาศเฉพาะพื้นที่ได้ และคิดว่าหากบรรยากาศยังเป็นข้อโต้แย้งไปเรื่อยๆ ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานปฏิรูป