ผ่าประเด็นร้อน
ระหว่างที่สายตาของคนในสังคมส่วนใหญ่กำลังเพ่งมองไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่กำลังมีคดีสำคัญที่ชวนติดตามถึงที่มาที่ไป ซึ่งอีกไม่นานคงจะมีความชัดเจนออกมามากกว่านี้
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง ในอีกแง่มุมหนึ่งของรัฐบาลก็ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเจอกับปรากฏการณ์หลายอย่างที่ประดังเข้ามาในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้ามาควบคุมอำนาจรัฐนานกว่า 6 เดือนแล้ว เริ่มมีเสียงบ่นไม่พอใจ มีความท้าทายเข้ามาในหลายรูปแบบ หลังจากเกิดความคาดหวังกันไปต่างๆ นานา
อย่างไรก็ดี ในความเคลื่อนไหวหลายอย่างดังกล่าว ก็มีเสียงเตือนออกมาจากปากของ อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ที่แม้ปัจจุบันจะไร้อำนาจ แต่ในฐานะที่มีประสบการณ์สูง ผ่านเหตุการณ์ในยุคเผด็จการทหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเคยเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลหลังเหตุการณ์รัฐประหารมาแล้ว ย่อมมีมุมมองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการส่งเสียงเตือนสติไปถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ทั้งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในระหว่างงานสัมมนาทางวิชาการของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถือว่ามีมุมมองหลายอย่างที่น่าสนใจ และสอดคล้องกับสถานการณ์ในเวลานี้และต่อเนื่องไปถึงอนาคตข้างหน้าด้วย
สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือคำพูดเตือนสติไปถึงรัฐบาล และ คสช. ที่มีผู้นำเป็นทหาร ซึ่งก็หมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็น “เบอร์หนึ่ง” และอาจหมายรวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งเป็นบอร์ด คสช. ด้วย
อานันท์ ชี้ถึง “ข้อจำกัด” ของการบริหารแบบทหารว่ามักจะมาในรูปของการ “สั่งการ” อย่างเดียวจากบนลงล่าง จะไม่มีบทสนทนา มีการให้ความสำคัญกับ เบอร์หนึ่ง เบอร์สอง ซึ่งการบริหารบ้านเมือง และในทางการเมืองต้องลืมเรื่องดังกล่าว นั่นคือ ต้อง “ฟังทุกระดับ”
ขณะเดียวกัน สิ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้แสดงความกังวลใจออกมา ก็คือ ความกังวลใจในเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งเขาบอกว่าชักไม่มั่นใจ เนื่องจากมี “ข่าวลือ” เรื่องแบบนี้เข้ามามากมาย และหวังว่าทหารคงได้ยิน เช่นเรื่องการไปเจรจา “ตกลงกันนอกรอบ” ซึ่งก็ต้องสร้างความชีดเจนและทำความเข้าใจให้ได้
“มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้ทำมาแล้วสบายใจ แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมอึดอัดใจ ผมชักเริ่มไม่ค่อยแน่ใจว่า ความพยายามที่จะดูแลปัญหาคอร์รัปชันจริงใจแค่ไหน และจะทำหรือเปล่า เพราะข่าวลือมันมากเหลือเกิน ผมก็หวังว่าข่าวลือข้างนอก ทหารก็คงจะได้ยินบ้าง ผมเป็นคนไม่ค่อยเชื่อข่าวลือ แล้วก็ไม่ใช่เป็นคนฟังแล้วไปขยายต่อข่าว แต่เมื่อได้ยินมา ผมก็หวังว่าไม่ใช่ แต่ผมว่า ใครก็ตามที่รับผิดชอบ จำเป็นต้องรู้ว่ามีข่าวลือกันอยู่ และเขาต้องรู้ดีว่าข่าวลือนั้นจริงไม่จริง ถ้าเป็นจริงผมก็ช่วยไม่ได้ ถ้าไม่จริงก็ควรหาทางปรับความเข้าใจ มีการพูดกันต่างๆ นานา ว่า มีการตกลงกันนอกรอบ ผมไม่รู้ แต่ผมรู้สึกว่า ถ้ายังสนใจทำเรื่องการปรองดอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องแยกให้ถูก การปรองดองเรื่องหนึ่ง การเอาผิดลงโทษเรื่องหนึ่ง ผมไม่ได้บอกว่าควรจะทำอย่างไร การปฏิรูปก็อีกเรื่องหนึ่ง”
นั่นคือคำพูดตอนหนึ่งของ อานันท์ ปันยารชุน ที่พูดถึงเรื่องข่าวการคอร์รัปชันที่หนาหู นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงการปฏิรูปและการปรองดอง ว่า สามารถทำไปพร้อมกันได้ แต่ต่องแยกออกจากกัน และ “การปรองดองไม่ใช่การประสานผลประโยชน์” ส่วนการปฏิรูปสิ่งที่ต้องทำคือทำให้ส่วนกลางเล็กลงและกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด
แน่นอนว่าคำพูดและข้อเสนอแนะดังกล่าวมีความน่าสนใจและตรงใจกับหลายคนในเวลานี้ ที่กำลังจดจ่ออยู่กับการบริหารบ้านเมืองและการปฏิรูปของรัฐบาล ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และแน่นอนว่าคำพูดและข่าวลือที่ อานันท์ ปันยารชุน นำมาพูดให้ฟังย่อมเป็นเรื่องที่ “แสลงหู” บ้าง แต่ก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ามีจริง และที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยนำมากล่าวถึงเรื่องข่าวคอร์รัปชัน เพียงแต่ย้ำว่าให้หาหลักฐานมา อย่าพูดลอยๆ ให้เสียหาย
อย่างไรก็ดี เรื่องข่าวทุจริต เรียกรับผลประโยชน์นั้น ที่ผ่านมามีบุคคลในแวดวงธุรกิจรายหนึ่งเคยนำออกมาเปิดเผยให้ทราบมาแล้ว เพียงแต่ไม่สามารถระบุตัวตนเท่านั้น และครั้งนี้ออกมาจากปากของ อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งก็มีแบ็กกราวนด์มาจากภาคอุตสาหกรรมและวงการธุรกิจ การพูดแบบนี้ย่อมต้องมีข้อมูลเหมือนกัน ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจทั้งเบอร์หนึ่งและเบอร์สองจะรับฟัง หรือฟังได้แค่ไหนเท่านั้น
เพราะนี่คือการบั่นทอนความมั่นใจ ทั้งเรื่องการปรองดองและปฏิรูป ในคราวเดียวกัน !!