ผ่าประเด็นร้อน
“ต้องดูอีกที” คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า “จะปรับคณะรัฐมนตรีอีกหรือไม่” ที่จังหวัดขอนแก่นระหว่างเดินทางไปตรวจเยี่ยมและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ถ้าพิจารณาจากคำพูดดังกล่าวหากพิจารณาโดยรวมๆ อาจยังไม่ชัดหรือยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีอีกหรือไม่ แต่ขณะเดียวกัน จากความหมายแล้วน่าจะออกมาในโทน “ต้องปรับแน่” ซึ่งขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา โดยน่าจับตาว่าหากจะปรับคณะรัฐมนตรีคงจะเกิดขึ้นหลังปีใหม่ไปแล้วในราว “ต้นปี” นั่นแหละ
หากพิจารณาตามเวลาที่ส่วนใหญ่ที่มักมีการปรับเปรียบเทียบกันในอดีต ก็มักเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีผ่านไปแล้ว แต่สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถือว่าเป็น “รัฐบาลเฉพาะกาล” ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีการประกาศเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเข้ามาทำภารกิจสำคัญในช่วงเวลาจำกัดนั่นคือประมาณปีเศษ เท่านั้น และขณะนี้หากพิจารณาแยกอายุรัฐบาลออกมาจากการทำงานในฐานะคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็กำลังเข้าสู่เดือนที่สามแล้ว หากมีเวลาแค่ปีเศษก็เหลืออีกไม่กี่เดือนเท่านั้น
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากปัจจัยและองค์ประกอบรอบตัวมันก็ยิ่งสร้างความกดดันนัก นั่นคือ “ความคาดหวัง” จากสังคมและประชาชนค่อนข้างสูงลิบ เนื่องจากเข้ามาในสถานการณ์พิเศษ มีอำนาจพิเศษแบบเบ็ดเสร็จ ถือว่ามีทุกอย่างพร้อมสรรพ ดังนั้นจะ “พลาด” หรือล้มเหลวห่วยแตกไม่ได้เป็นอันขาด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมตระหนักดี เพราะเคยพูดออกมาให้ได้ยินหลายครั้งแล้วว่า ประชาชนคาดหวังและตัวเขาเองก็รู้สึกกดดันเหมือนกัน
ยิ่งระยะหลังยิ่งออกมาขอร้องให้ทุกฝ่าย “เงียบ” อยู่นิ่งๆ สักพักเพื่อรอให้การทำงานเสร็จสิ้นตามเป้าหมาย มองอีกด้านหนึ่งมันก็ยิ่งกดดัน เพราะหากผลออกมาทำไม่ได้ตามคำพูดหรือผิดเพี้ยนไปจากเป้าหมายที่เคยสัญญาเอาไว้มันก็เละเหมือนกัน
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าคราวนี้เขาได้ลากสถาบันกองทัพเข้ามาเสี่ยงด้วย เพราะการทำงานในยุคนี้ถือว่ามีกองทัพเป็นแกนหลักและเป็นแบ็กอัพในทุกเรื่อง ยิ่งพลาดไม่ได้
เมื่อวกกลับมาพิจารณาผลงานของรัฐบาลที่ผ่านล่วงเข้าสู่เดือนที่ 3 ก็ต้องยอมรับความจริงว่า “ยังไม่เข้าเป้า” โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็บอกว่ายังไม่เวิร์กเท่าที่ควร พิสูจน์ได้จากตัวเลขที่มีการแถลงออกมาจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เช่นธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักวิจัยสถาบันการเงินต่างๆออกมาตรงกันว่า “ผิดไปจากคาดหมาย” ไม่ว่าตัวเลขการส่งออก การท่องเที่ยว ราคาสินค้าการเกษตรตัวหลัก เช่นข้าว ยางพารา ยังไม่กระเตื้อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกินระยะสั้นที่ออกมาล็อตแรกจำนวน 3.6 แสนล้านยังไม่ได้ผล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการ “เบิกจ่าย” งบประมาณล่าช้า ปัญหาค่าครองชีพที่เริ่มรุมเร้าชาวบ้านมากขึ้นทุกวัน ซึ่งล่าสุดเริ่มมีการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีจะโตแค่ร้อยละ 1 หรืออาจต่ำกว่านั้น
แน่นอนว่าเมื่อไม่เข้าเป้า ผิดไปจากเป้าหมายแบบนี้คำถามก็ย่อมพุ่งไปที่ ผู้นำรัฐบาลคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมเศรษฐกิจ ที่นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ว่าทำไมเมื่อลงมือทำงานจริงทำไมไม่ร้อนแรงเหมือนกับที่เคยวิจารณ์อยู่ข้างนอก
อย่างไรก็ดีในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็เริ่มได้เห็นการ “ขยับ"อะไรบางอย่างออกมา ที่เห็นเป็นทางการก็คือ การเพิ่มสองรัฐมนตรีเข้ามาช่วยงาน นั่นคือ อำนวย ปะติเส เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หากพิจารณาจากแบ็กกราวนด์ก็ถือว่าทั้งคู่มีประสบการณ์ในการทำงานเหมาะสมกับตำแหน่งที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง และเมื่อรวมกันแล้วทำให้ทั้งคณะรัฐมนตรีมีจำนวนรวมทั้งหมด 36 คน เต็มโควต้าแล้ว
ขณะเดียวกัน ที่น่าจับตาไม่แพ้กันก็คือ การแต่งตั้งทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มีคุณสมบัติต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งล่าสุดเริ่มมีบทบาทอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากคำพูดข้างต้นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตีความหมายว่าเป็นการส่งสัญญาณว่าจะปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากมีก็คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นหลังปีใหม่ หากเป็นอย่างนี้ก็ย่อมหมายถึงจะต้องมีการ “ปรับเปลี่ยน หรือปรับออก” เท่านั้น ไม่มีปรับเพิ่มได้อีกแล้ว ซึ่งถ้าเปลี่ยนก็ต้องพิจารณากันว่ามีกระทรวงใดบ้าง ตั้งแต่รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงพลังงาน เป็นต้น เจ้ากระทรวงไหนที่ถูกจับตามากที่สุด และทำงานไม่เข้าเป้ามากที่สุด
ขณะเดียวกัน แม้ว่า กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลที่เน้นด้านความมั่นคงจะถูกรวมเข้าเป็นกระทรวงเศรษฐกิจก็ตาม เมื่อพิจารณาจากศักยภาพแล้วก็ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคงและรมว.กลาโหม ที่นับวันบทบาทก้าวล้ำเข้ามาในด้านเศรษฐกิจด้วย น่าสังเกตก็คือการเดินทางไปเยือนจีนพรีอมกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นอกจากไปพบฝ่ายกลาโหมที่นั่น แต่ผลงานที่โปรโมตกลับเป็นเรื่องการเจรจานำร่องเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเดินหน้าเร่งรัดอย่างรวดเร็ว เจรจาขายข้าว ยางพารา และล่าสุดทีมนี้กำลังจะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในแบบเดียวกันอีก จะเจรจานำร่องโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ เจรจาโครงการลงทุนในทวายและเจรจาให้ซื้อสินค้าเกษตรของไทย ก่อนที่นายกฯจะไปเยือนในเดือนธันวาคม
ภาพที่ปรากฏล้วนเป็นการเคลื่อนไหวที่บดบังบทบาทของทีมเศรษฐกิจที่นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อย่างชัดเจน ดังนั้นหากมีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี หากมีขึ้นในต้นปีหน้าก็น่าจะมุ่งไปที่ทีมเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะนี่คือจุดอ่อน!!