xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กมธ.ยกร่างฯ ยันประชาพิจารณ์มีแน่ ลั่นยังไม่ได้คุยวางกรอบห้ามแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“บวรศักดิ์” ปาฐกถาอานิสงส์ของการสวดมนต์ ยันปกครองต้องยึดหลักพุทธจะตามตะวันตกอย่างเดียวไม่ได้ ชี้ระบบดีคนต้องดีด้วย ระบุประชาพิจารณ์มีแน่อย่างน้อย 10 ครั้ง ไม่ซ้ำ สปช. เผย “มาร์ค” จะมาพรุ่งนี้ ส่วนเพื่อไทยรอ “เลิศรัตน์” แถลง ลั่นด้วยความสัตย์จริงยังไม่ได้คุยกันเรื่องวางกรอบห้ามแก้ รธน.


วันนี้ (23 พ.ย.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทยร่วมกับมูลนิธิสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ได้จัดพิธีมอบเข็มทองคำเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นประจำปี 2557 อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติคนที่ 1 และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นอีก 5 คน โดยมีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล จากนั้นนายบวรศักดิ์ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อานิสงส์ของการสวดมนต์” ตอนหนึ่งว่า การบริหารการปกครองจำเป็นต้องพึ่งหลักพุทธศาสนา จะไปยึดตามแบบตะวันตกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมุ่งเน้นให้ระบบดีแต่มักจะจะทิ้งตัวคน ในความเป็นจริงระบบที่ดีคนก็ต้องดีด้วย หากระบบไม่ดีคนก็ไม่ดีก็จะเกิดความเสียหายเหมือนอย่างรัฐธรรมนูญในอดีต

“พระพุทธเจ้ากล่าวถึงผู้นำโดยเปรียบเทียบว่าในฝูงโคจะมีโคตัวหนึ่งที่เป็นผู้นำ ถ้าตัวผู้นำมาฝูงโคลงแม่น้ำลึกและตลิ่งชัน โคในฝูงก็จะตายจำนวนมาก แต่ถ้าผู้นำพาลงน้ำตื้น ตลิ่งเรียบ โคทั้งฝูงก็จะสวัสดี ดังนั้นผู้นำต้องมีปัญหาแห่งการรู้แจ้ง เพราะสังคมจะดีหรือร้ายนั้นขึ้นอยู่ที่ตัวผู้นำจะพาไป” นายบวรศักดิ์กล่าว

จากนั้นนายบวรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐธรรมนูญจะอยู่ได้ถาวรหรือไม่ อยู่ที่ 1. ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี 2. ผู้ใช้รัฐธรรมนูญที่ดี และ 3. วัฒนธรรมการเมืองที่ดีของพลเมือง นักการเมือง สามสิ่งนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญอยู่ได้นาน ถ้ารัฐธรรมนูญดี นักการเมืองไม่ดี หรือรัฐธรรมนูญไม่ดี นักการเมืองดียังไงก็มีปัญหา ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญไม่อาจแก้ปัญหาเชิงวัฒนธรรมได้ เช่น วัฒนธรรมอุปถัมภ์ ที่อยู่ในสังคมไทยมานาน เช่น การซื้อเสียงขายเสียงในการเลือกตั้ง ที่แก้ไม่ได้ด้วยกกต.หรือรัฐธรรมนูญ แต่จะทำอย่างไรที่ไม่ให้คนไทยขายเสียง จะทำอย่างไรให้นักการเมืองเห็นว่าการซื้อเสียงเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายคุ้มครองไม่ได้หากผู้ใช้ไม่รับถือ ก็จะไม่มีความหมาย รัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่กระดาษหรือเอกสารชิ้นหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องดีทั้งคนและระบบ

เมื่อถามถึงแนวคิดที่จะให้มีการทำประชาพิจารณ์ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ประชาพิจารณ์มีแน่ โดย กมธ.ยกร่างฯ จะทำอย่างน้อย 10 ครั้ง ส่วน สปช.จะทำในระดับจังหวัดซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ จะมีการประสานกับ สปช.เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน โดยคณะอนุ กมธ.การมีส่วนร่วมและการรรับฟังความเห็นที่มีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็น กมธ.ของ สปช.ด้วย และนายประชา เตรัตน์ ก็อยู่ในชุดดังกล่าวก็จะทำงานประสานเพื่อไปรับฟังความเห็นประชาชน

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ส่วนพรรคการเมืองได้ข่าวว่าภายในวันที่ 24 พ.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะแจ้งมายัง กมธ.ยกร่างฯ นั้นเมื่อไม่ได้รับอนุญาตของ คสช.ที่ไม่ให้ประชุมพรรคการเมืองก็จะมาในฐานะส่วนตัว ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ติดต่อมาแต่ให้รอ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงในวันที่ 24 พ.ย.เช่นกัน

เมื่อถามว่า เมื่อมีการทำประชาพิจารณ์แล้วต้องทำประชามติด้วยหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ตนยังมีความเห็นอย่างเดิม แต่ไม่อยากพูดอีก ซึ่งอันหนึ่งเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมก่อนที่จะมีการเขียนรัฐธรรมนูญ เช่น ตอนปี 2540 ที่ กมธ.จำนวนมากไม่เห็นด้วยในการกำหนดคุณสมบัติ ส.ส. ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งการเขียนแบบนี้ค่อนข้างไม่เป็นสากล แต่เมื่อไปฟังประชาชนที่ต้องการอย่างนั้นก็ต้องไปปรับตาม แต่ท้ายที่สุดการทำประชามติก็อยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ถ้าถามความเห็นส่วนตัวก็บอกแล้วว่าควรทำ แต่คนตัดสินใจไม่ใช่ สปช. หรือ กมธ.ยกร่างฯ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาอย่าเพิ่งพูด

เมื่อถามว่า มี สนช.บางคนแสดงความเห็นว่าต้องมีการวางกรอบห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า นั่นเป็นความเห็นส่วนตัว แต่ใน กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้คุยกันถึงประเด็นนี้ด้วยความสัตย์จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น