“ประยุทธ์” ถามมีใครจะประท้วงอีกมั้ย หลังก๊วนดาวดินโชว์ต้านหน้าเวที บอกคิดต่างไม่เป็นไรเดี๋ยวไปหาข้อยุติ ยันไม่บังคับแค่บอกว่าควรทำอะไรต่อ ย้ำเข้ามาเพื่อแก้วันหน้า วอนอย่าเชื่อข่าวลือ ลั่นไม่ใช่คนก้าวร้าว ระบุเจ็บปวดทุกครั้งที่ต้องเจอปัญหา ชี้ถ้ามัวขัดแย้งก็ไปไม่ได้ รับนึกพวกประท้วงมาแสดงกระตั้วโชว์ ขู่อย่าให้เกิดโกงในพื้นที่เด็ดขาด ก่อนเข้าฟังรายงานสถานการณ์ภัยแล้งร่วมผู้ว่าฯ 20 จังหวัด และเรื่องศูนย์ดำรงธรรม
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่ จ.ขอนแก่น ภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งและการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ในวันที่ 19 พ.ย. ว่านายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ประกอบด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ ดาว์พงษ์ รัตนสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ เดินทางถึงจังหวัดขอนแก่นเมื่อเวลา 09.45 น.
ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดขอนแก่นไม่ได้มีการขึ้นป้ายต้อนรับนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด ซึ่งเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีระบุไว้ว่าไม่ต้องการให้ใช้งบประมาณ ไปกับการขึ้นป้ายต้อนรับ ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัย พล.ต.ต.กิจจรูญ ศรีวนิชย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ยืนยันว่ามีการเตรียมการ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยบูรณาการระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่อาสาป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กรมการปกครอง และสารวัตรทหาร ในการดูแลทั้งระหว่างการประชุมและการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ โดยจะมีการตรวจบุคคลเข้าออกทุกประตูทางเข้า-ออก ลานศาลากลางจังหวัดและจุดสำคัญอย่างละเอียด พร้อมเตรียมเครื่องสแกนวัตถุแปลกปลอมในจุดต่างๆ โดยจัดสถานที่สำหรับให้ประชาชนยื่นหนังสือร้องเรียนไว้ต่างหาก สำหรับบุคคลที่จะเข้าออกอาคารศาลากลาง จะต้องติดบัตรแสดงตนทุกคน
สำหรับมาตรการการรักษาความปลอดภัยชั้นใกล้ตัวนายกรัฐมนตรีนั้น ได้จัดกำลังทหารจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ส่วนบริเวณรอบนอกใช้กำลังทหารจากมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) กองพลทหารม้าที่ 3 (พม.3) กรมทหารราบที่ 8 จำนวน 2 กองร้อย บูรณาการร่วมกับฝ่ายต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ก่อนเช้ามืดวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจขอนแก่นพบใบปลิวโจมตีการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ได้มีกลุ่มบุคคลโปรยใบปลิวต่อต้านการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีบริเวณ ถนนศูนย์ราชการรอบศาลากลาง จ.ขอนแก่น และ ถ.ศรีจันทร์ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ใบปลิวเป็นกระดาษขนาด เอ 4 มีข้อความ “อีสานไม่ต้อนรับเผด็จการ!!!” ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งเก็บและเคลียร์พื้นที่ก่อนที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง
จากนั้น เวลา 09.50 น. ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดขอนแก่น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการปล่อยแถวเครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ประกอบด้วย รถบรรทุกน้ำ รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล และรถผลิตน้ำดื่ม โดยมีนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พล.ต.ต.กิจจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น รวมทั้งประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบจ.ให้การต้อนรับประมาณ 700 คน
ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นบนเวทีเพื่อกล่าวเปิดงาน โดยขณะที่กล่าวสวัสดีทักทายผู้ที่มาร่วมงานว่าวันนี้คงได้เห็นตัวจริงกันแล้ว วันนี้ตนพกพาความห่วงใยและนำกำลังใจมาเยอะแยะเพื่อส่งมอบให้กับพวกเราชาวอีสานโดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงตรงนี้ ปรากฏว่ามีกลุ่มนักศึกษา 5 คนอ้างตัวว่าเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ปะปนอยู่กับผู้ที่มาร่วมงาน ได้ลุกขึ้นวิ่งเข้าไปด้านหน้าเวทีพร้อมถอดเสื้อคลุมสีดำและโยนไปด้านหน้าเวทีเพื่อโชว์ข้อความบนเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความสีขาวที่แตกคำกันว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร” พร้อมกับชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วต่อต้านรัฐประหารที่กลุ่มต่อต้าน คสช.เคยใช้ในช่วงต้นของการยึดอำนาจ ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปชาร์จและพาตัวออกไปจากบริเวณงานและส่งต่อให้เจ้าหน้าที่พาไปสอบสวนเพิ่มเติมทันที ทั้งนี้ 1 ในนักศึกษา 5 คน กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “เป็นนักศึกษา ม.ขอนแก่น ต้องการมาแสดงออกทางความคิดเห็นและพวกผมก็เป็นคนที่นี่”
จากการตรวจสอบปรากฏว่ากลุ่มนักศึกษากลุ่มดังกล่าวคือกลุ่ม “ดาวดิน” นักศึกษาเครือข่ายประชาธิปไตยที่เคยถูกทหารเชิญตัวไปปรับทัศนคติมาแล้วครั้งหนึ่ง
ระหว่างที่นักศึกษาออกมาแสดงสัญลักษณ์หน้าเวที ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับหยุดนิ่งและมองไปที่กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวและหัวเราะในลำคอ พร้อมกล่าวทันทีว่า “เนี่ยก็มีแบบนี้ ไม่เป็นไร ค่อยๆ พาเขาไป ไม่เป็นอะไรหรอก ไปๆ เดี๋ยวเราจะดูแลให้อยู่แล้ว ปัญหาทั้งหมด ไม่ค่อยเข้าใจกันก็ลำบากนะ มีใครมาประท้วงอีกมั้ยล่ะ มาเร็วๆ จะได้พูดซะทีเดียว ถ้าประท้วงกันก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น ผมว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจพวกเรานะ เข้าใจว่าวันนี้เราจะทำอะไรกัน” เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์พูดมาถึงช่วงนี้ก็ได้รับเสียงปรบมือจากผู้ที่มาร่วมงานจึงได้กล่าวขอบคุณทันที โดยกล่าวว่า “ขอบคุณนะ เขามาเขาก็มีความคิดของเขาอีกแบบ มีความคิดที่แตกต่างก็ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวก็ต้องไปหาข้อยุติกันให้ได้ วันนี้เราต้องการเข้ามาทำทุกอย่างให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ผมเคยเป็น ผบ.ทบ.ทุกคนก็เคยรับราชการ ซึ่งเข้าใจงานดี”
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์พูดมาถึงตรงนี้ก็ต้องหยุดพูดลงอีกครั้ง เนื่องจากผู้ที่มาร่วมงานยังส่งเสียงฮือฮาและวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเซ็งแซ่ลั่นบริเวณจัดงาน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องทักขึ้นว่า “อ้าวตกลงใครจะพูดกันก่อน ฟังกันนิดนึง เดี๋ยวจะได้เข้าใจกัน เราเป็นทหารเรามีความรู้สึกว่าต้องดูแลประชาชนทุกคนให้ได้ ทหารไม่ใช้ศัตรูของพวกเรา วันนี้เราทุกคนต้องหันหน้ากัน วันนี้ตนมาในบทบาทของนายกฯ และ รมว.ที่ร่วมคณะ ต้องการมาดูแปลทุกคนให้มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ผมจึงอยากบอกพวกเราสั้นๆว่า เราต้องมองประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวให้ได้ ทุกภาคทุกจังหวัดคือประเทศไทย รัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลทุกจังหวัดทุกพื้นที่และทุกตารางนิ้วของประเทศให้เกิดความเป็นธรรมให้ได้ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล สิ่งที่เป็นปัญหามาโดยตลอด โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ไปบังคับใครทั้งสิ้น เพียงแต่จะบอกว่าเราควรทำอะไรอย่างไรต่อไป เพียงแต่ต้องมาตกลงกันก่อน ถ้าเราจะขัดแย้งกันอยู่ตลอดไปไม่รู้จะหาทางร่วมมือกันได้อย่างไร ประเทศชาติ ก็ไปไหนไม่ได้ วันนี้เราต้องมาแก้ไขภาพใหญ่ของประเทศให้ได้ เพื่อเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านและประชาคมโลก เราอย่ามองประเด็นเล็กๆน้อยๆเป็นปัญหาทุกเรื่องเพราะจะทำให้การขับเคลื่อนประเทศไปไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า วันนี้พวกเราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมานาน ตนเป็นทหารมา 38 ปี ทุกคนทราบดีว่า ปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาให้ทุกคน ไม่ใช่เข้ามาแก้เรื่องการเมืองหรือความขัดแย้งเป็นหลักนั้นไม่ใช่ แต่ปัญหาความขัดแย้งก็เป็นเรื่องหนึ่ง เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความบาดเจ็บสูญเสีย แต่สิ่งสำคัญเราต้องการเข้ามาแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมให้ทั่วถึงและเท่าเทียม วางรากฐานประชาธิปไตยเพื่อวันข้างหน้า วันนี้ถ้าประชาธิปไตยยังขัดแย้งอยู่อย่างนี้ก็คงเดินหน้าไม่ได้ ทุกคนเห็นอยู่แล้วว่าในช่วงแรกก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามา ยุ่งเหยิงวุ่นวายไปหมด ทหารจึงต้องทำทุกอย่างให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย จนถึงวันนี้เข้ามาทำหน้าที่ 4-5 เดือนก็เห็นว่าทุกอย่างค่อนข้างดีขึ้น อยู่ที่พวกเราจะพอใจหรือไม่เท่านั้น แต่อยากจะบอกว่าทุกอย่างต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะการแก้ปัญหาคน 67 ล้านคน ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรจะให้ทุกคนพอใจมันยาก วันนี้อย่าไปเชื่อข่าวลือ ว่าจะไปยึดที่ตรงนั้นตรงนี้คืน ยังไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่เรากำลังพิจารณาว่าทำอย่างไรจะให้ปัญหาดีขึ้น และเป็นระบบขึ้นและเกิดความเชื่อมั่น วันนี้เราต้องลดความขัดแย้งให้ได้ หนักนิดเบาหน่อยต้องอดทนกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน
“ผมไม่ใช่คนก้าวร้าว หรือชอบความรุนแรง ก็เห็นตัวตนของผมวันนี้แล้ว และผมก็เจ็บปวดทุกครั้ง เวลาที่ต้องมามีปัญหาอะไรกับพวกท่านทั้งหลายซึ่งไม่เคยคิดอะไรทั้งสิ้น วันนี้ผมมาเอาหัวใจเต็มร้อยมา ผมก็คาดหวังว่าจะได้หัวใจของพวกเรากลับไปให้ผมเกินร้อย ให้ผมได้มั้ยครับ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อนายกฯ พูดถึงช่วงนี้ได้รับเสียงปรบมือ พร้อมพูดต่อว่าเราสัญญากันและกันว่าเราและรัฐบาลทหารต้องช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความยากจนความเหลื่อมล้ำ รายได้ การเข้าถึงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เพราะเวลาเรามีจำกัด จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ถ้ายังมัวขัดแย้งกันเหมือนเมื่อเหตุการณ์เมื่อซักครู่ มันก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด วันนี้ทุกคนต้องให้ความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ได้อย่างรวดเร็ว วันนี้ผมไม่มีเวลาที่จะมาต่อสู้กับใครได้อีกแล้ว เพราะเวลามีจำกัดใครมีปัญหาอะไรก็ให้ส่งเรื่องมาได้ผมพร้อมรับแก้ทั้งหมด เท่าที่ทราบวันนี้ก็มี 10 กว่ากลุ่ม เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ก็รับมาแล้วส่งต่อให้กรรมการพิจารณาว่าจะแก้อย่างไร ทุกอย่างเราต้องแก้เพียงแต่บางเรื่องต้องใช้เวลา อย่างเหตุการณ์เมื่อสักครู่ ก็น่าจะส่งไปยังศูนย์ดำรงธรรม ถ้ามาอย่างนี้มันไม่ได้ประโยชน์
“เมื่อกี๊ผมนึกว่ามีการเอาการแสดงมารับผม จริงๆ นะ เพราะปกติจะต้องมีการแสดงไอนี้มาใหม่เว้ย ทำไมมันใส่ชุดดำ นึกว่ามาเต้นกระตั้วแทงเสือ นึกว่าพี่น้องมาแสดงกัน ไม่เป็นอะไร ไม่โกรธแค้นกัน พี่น้องทั้งนั้นคนไทยทั้งสิ้น คนไทยไม่รักคนไทยด้วยกันแล้วใครจะมารักเรา ถ้าเราไม่ร่วมมือกันแล้วใครจะมาทำให้เรา ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยและดูแลประชาชนใครจะดู ขอฝากไปถังพี่น้องซึ่งไม่ได้มาด้วย ขอให้กำลังใจกับข้าราชการที่ทำงาน อะไรที่เป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ก็ขอให้เลิก ใครจะมาอ้างผมเรื่องผลประโยชน์ยืนยันว่าไม่มี ผมไม่ต้องการผลประโยชน์สลึงเดียวก็ไม่เอา เพราะฉะนั้นอย่าให้เกิดปัญหาในพื้นที่เด็ดขาด มีอะไรให้สื่อสารหันหน้าเข้าหากันอย่าหงุดหงิดหรือโมโห เรื่องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ เดี๋ยวค่อยว่ากัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
“ขณะนี้ทุกอย่างกำลังเดินหน้า รัฐบาลก็เข้ามาแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ผ่านมาผมพูดเยอะมาก พูดทุกวัน จนเหนื่อย เพราะอยากให้ทุกคนรู้ว่าตั้งใจ ไม่อยากไปทะเลาะเบาะแว้งกันใคร วันนี้ที่มามีกำลังใจเต็มร้อย แต่พอมาเจอเต้นกันนิดหน่อยเลยขึ้นเป็นร้อยห้าสิบ เข้าใจดี เพราะไม่มีใครทำให้คนรักได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว แต่พยายามทำให้คนพอใจมากที่สุด โดยไม่เสียประโยชน์ส่วนร่วมของคนทั้งประเทศ ผมยืนยันว่าผมเป็นคนจริงใจ ไม่พูดโกหก รักพี่น้องทุกคน เราต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อย่าบั่นทอน มีอะไรขอให้เสนอแนะเข้ามา ให้เวลาบ้าง”
จากนั้น เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดขอนแก่น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานประชุมผู้ว่าราชการและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 20 จังหวัด เพื่อติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล และเตรียมการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมรับฟังการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม โดยมีผู้ว่าราชการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยกล่าวก่อนการประชุมติดตามปัญหาภัยแล้งว่า พื้นที่ไหนมีปัญหามาก จะลงพื้นที่นั้นก่อน รัฐบาลมีความยินดี และ เต็มใจที่จะดูแลชาวอีสาน 20 จังหวัด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวรายงานการคาดการณ์ภัยแล้งและการเตรียมรับสถานการณ์ว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งไว้ 3 เรื่อง คือ 1. ตรวจสอบและชี้เป้าหมายหมู่บ้านที่จะประสบภัยแล้งและมีความรุนแรง ซึ่งจากการตรวจสอบคาดว่ามีหมู่บ้านประสบปัญหาภัยแล้ง ประมาณ 9,535 หมู่บ้าน คิดเป็น 12.72% โดยมีตัวชี้วัดคือปริมาณน้ำฝนสะสมเฉลี่ยปี 2557 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี 2. เตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านต่างๆ เช่น เตรียมบุคลากร เครื่องจักรกล เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติงาน สำรวจภารชนะรองรับน้ำ และจุดจ่ายน้ำกลางประจำหมู่บ้านพร้อมทำแผนแจกจ่าย รวมถึงสำรวจระบบประปาและมีการซ่อมบำรุงแก้ไข ตลอดจนการขุดลอกคูคลอง และกำจัดผักตบชวา 3. ชี้แจงสร้างความเข้าใจในข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชนให้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมให้ความเชื่อมั่นประชาชนต่อการดำเนินการเตรียมการและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวรายงานสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า สถานการณ์น้ำฝนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี 2% และน้อยกว่าปี 2556 ประมาณ 7% ปริมาณส่วนใหญ่ไหลลงแม่น้ำโขง สถานการณ์น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำพบว่ามีปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 2,200 ล้าน ลบ.ม.และน้อยกว่าปี 2556 ประมาณ 1,800 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 12 แห่ง อยู่ในเกณฑ์น้ำดีมาก 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิรินธร อยู่ในเกณฑ์น้ำดี 7 แห่ง อยู่ในเกณฑ์พอใช้ 4 แห่ง สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีทั้งหมด 265 แห่ง อยู่ในเกณฑ์น้ำดีมาก 130 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ น้ำดี 64 แห่ง น้ำพอใช้ 32 แห่ง และอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย 39 แห่ง สำหรับการวางแผนจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2557/2558 คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอ่างเก็บน้ำน้อย 7 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีน้ำพอใช้และน้ำน้อยรวม 71 แห่ง ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งได้ แต่ยังสามารถสนับสนุนการใช้น้ำในกิจกรรมหลัก ใช้ในการอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวรายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ภาพรวมพื้นที่เพาะปลูกมีจำนวน 100 กว่าล้านไร่ อยู่ในพื้นที่ชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทานอาศัยน้ำฝน และแหล่งน้ำตามธรรมชาติในการเพาะปลูก โดยคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะเริ่มขึ้นในเดือนมกราคมทำให้พื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทานประสบปัญหาอย่างมาก โดยที่ผ่านมากรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือ การสูบน้ำเติมแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับผลิตประปาหมู่บ้าน นำน้ำสะอาดแจกจ่ายประชาชน จ้างงานแก่เกษตรกรในท้องถิ่นที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ขุดลอกคลอง เป็นต้น
นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวรายงานผลการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลว่า การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลมุ่งเน้นเพื่อน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยในปี 2558 จะดำเนินการให้ครอบคลุมจังหวัดที่คาดว่าจะเกิดภัยแล้ง จำนวน 31 จังหวัด จำนวน 9,535 หมู่บ้าน โดยจะดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 639 แห่ง เพื่อใช้อุปโภคบริโภคในหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำ จำนวน 305 แห่ง น้ำสะอาดในโรงเรียน จำนวน 323 แห่ง ซึ่งทั้งหมดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2557
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดว่าปัญหาความจำเป็นเร่งด่วนของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด 3 อันดับแรก คือ 1. การบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ 2. การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขาดที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และ 3. หนี้สินนอกระบบ สำหรับแนวทางการแก้ไขกรณีการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ ได้จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกและการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เป็น 4 ระยะ คือ 1. ระยะเตรียมการ (30 วัน) กำหนดแนวเขตพื้นที่บุกรุกอย่างชัดเจน 2. ระยะเร่งด่วน (3 เดือน) จัดทำแผนที่กำหนดแนวเขตพื้นที่บุกรุกอย่างชัดเจนและประประชาสัมพันธ์ให้ผู้บุกรุกออกจาพื้นที่ 3. ระยะปานกลาง (6 เดือน) ดำเนินการกับผู้บุกรุกตาม พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และกำหนดแผนการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ซึ่งขณะนี้ได้ยึดพื้นที่คืนจำนวน 16,388 ไร่ และ 4. ระยะยาว (1 ปี) ฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยให้ชุมชนร่วมกันเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม กรณีขาดที่ดินทำกินเป็นของตนเอง นำเอาพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ยึดคืนมากจากผู้ทำผิดเงื่อนไขและนายทุนมาจัดสรรให้กับประชาชนผู้ยากไร้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินของจังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งนี้ กรณีปัญหาหนี้สินนอกระบบนั้นในเบื้องต้นได้ใช้กลไกศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด อำเภอในการไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ รวมทั้งประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสินให้พิจารณาช่วยเหลือปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้เพื่อนำไปใช้หนี้ต่อไป
ในช่วงท้ายของการชี้แจงการทำงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด นายวิบูลย์กล่าวว่า การดำเนินการของศูนย์ดังกล่าวเริ่มต้นด้วยรอยยิ้มของผู้จัดตั้ง และ หวังให้จบลงด้วยรอยยิ้มของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมว่า ปลัดมีคำหวานตลอด และ กล่าวด้วยว่า อยากเห็นรอยยิ้มของประชาชนมาก่อน ไม่เช่นนั้นตนเองก็คงจะยิ้มไม่ออก พร้อมขอให้หัวหน้าส่วนราชการทุกจังหวัด ในฐานะข้าราชการของแผ่นดิน ช่วยกันดูแลประชาชนในช่วงเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลง ก่อนกล่าวหยอกล้อ ปลัดกระทรวงมหาดไทยด้วยว่า จากการรายงานดังกล่าว หากตัดสินใจอย่างรวดเร็ว อาจต้องยุบกระทรวงมหาดไทยทิ้งทันที