ผ่าประเด็นร้อน
คำพูดของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี มือไม้สำคัญในการเดินเครื่องเปิดสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบล่าสุด คือ รอบที่ 21 จำนวนอีก 29 แปลง ที่เคยพูดว่าสาเหตุที่ต้องรีบดำเนินการดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเกิดวิกฤติพลังงาน ขณะเดียวกันมีเวลาจำกัดจึงต้องรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี
ความหมายก็คือ “ต้องรีบทำให้เรียบร้อยตามกำหนด” นั่นคือตั้งธงไว้แล้ว และเรื่องที่บอกว่าจะให้มีการนำเสนอข้อมูลอย่างหลากหลายเพื่อหาข้อสรุปด้านการปฏิรูปพลังงานในสภาาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายใน 2 เดือนนั้น มันก็ชัดเจนแล้วว่าแค่"ปาหี่"สร้างภาพลดแรงกดดันจากสังคมภายนอกเท่านั้น เพราะปฏิกิริยาจากฝ่ายที่ควบคุมอำนาจรัฐทั้งจากผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้นำในรัฐบาล คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างก็แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าต้องเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมโดยเร็วที่สุด อ้างว่าจะเกิดวิกฤติขาดแคลนพลังงานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันก็เท่ากับว่าปฏิเสธแนวทางระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ที่หลายประเทศทั่วโลกหันมาใช้วิธีการแบบนี้ เนื่องจากเป็นธรรมกับประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากร
คำถามก็คือ ทรัพยากรด้านปิโตรเลียมในประเทศไทยจะหมดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจริงหรือ แน่นอนว่าชาวบ้านทั่วไปอาจได้คำตอบที่แท้จริงได้ยาก เพราะต้องใช้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการปิดบังข้อมูลจากฝ่ายรัฐที่มักจะอ้างในเรื่องความมั่นคง และผลประโยชน์อันมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่ได้รับรู้ความจริง
อย่างไรก็ล่าสุด วันที่ 12 พฤศจิกายน สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักได้รายงานข่าวตรงกันว่า “บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม” ในเครือของมูบาดาลา กรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เริ่มเดินหน้าผลิตน้ำมันจากแหล่ง “มโนราห์” ในอ่าวไทยตอนเหนือเต็มกำลัง โดยจะแบ่งปันผลประโยชน์กับบริษัท แทบเอ็นเนอร์จี ของออสเตรเลีย และบริษัท นอร์ธเทิร์นกัลฟ์ ปิโตรเลียม ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต
ตามข่าวยังบอกด้วยว่าจะสามารถสูบน้ำมันได้สูงสุดถึงวันละ 15,000 บาร์เรล!
เท่ากับแหล่ง “นงเยาว์” ในอ่าวไทยอีกแห่งที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ ทักษิณ ชินวัตร เพิ่งอนุมัติสัมปทานให้ไปเมื่อต้นปี แต่แปลงนี้จะเริ่มเดินหน้าเต็มกำลังในต้นปีหน้าตามที่มีการแถลงไปแล้ว และมีการยืนยันบริษัทเดียวกันนี้ยังได้สัมปทานอีกแห่งคือ แหล่ง “จัสมิน” ที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากกว่า 50 ล้านบาร์เรล
และเพื่อกันลืมก็ย้ำอีกทีก็ได้ว่า บริษัทมูบาดาลา ดังกล่าวนี้มีที่ตั้งอยู่ “ตึกชินวัตร 3” ถนนวิภาวดีรังสิต และแน่นอนว่าซีอีโอของบริษัทนี้คือ “คัลคูน คาลิฟา อัน มูบารัค” เป็นซีอีโอ และยังเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี ที่ซื้อกิจการต่อจาก ทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากปริมาณน้ำมันสำรอง และปริมาณน้ำมันที่สูบขึ้นมาในแต่ละวันจำนวนกว่า 15,000 บาร์เรล และเมื่อรวมทั้งสามแหล่งย่อมถือว่ามีปริมาณไม่น้อย คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ และที่สำคัญยังสามารถสูบขึ้นมาใช้ได้อีกหลายปี ซึ่งนี่เพียงแค่สามหลุมที่ได้รับอนุญาตให้สูบขึ้นมาขายเท่านั้น ยังมีอีกหลายบริษัท เช่น เพิร์ลออยล์(ประเทศไทย) ที่เพิ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้ สวนทางกับคำพูดของเหล่าผู้มีอำนาจในประเทศนี้ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่อ้างว่าพลังงานใกล้หมดและต้องใช้วิธีให้สัมปทานเท่านั้นถึงจะจูงใจอีกทั้งคุ้มค่ากว่า
คำถามที่ต้องการคำอธิบายอย่างเร่งด่วนก็คือ เมื่อข้อมูลที่เห็นในเรื่องปริมาณน้ำมัน และพลังงานที่บริษัทพลังงานข้ามชาติดังกล่าวได้รับ และถูกระบุว่าเชื่อมโยงไปถึง ทักษิณ ชินวัตร โดยตรง ยังถือว่ามีจำนวนมหาศาล ทำให้ยังสงสัยว่าทำไมต้องรีบเปิดสัมปทานกันนัก เป็นเพราะกลัวว่าพลังงานหมดจนเกิดวิกฤต หรือเป็นเพราะต้องรีบลงมือเสียก่อน “หมดเวลา” หรือเปล่า!!