xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” แนะทางออกถอดถอน รอสภาจากการเลือกตั้ง ซัด “ยิ่งลักษณ์” ไม่รู้เห็นโกงจำนำข้าวไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
หน.ปชป.ชี้ สนช.กระอักกระอ่วนใจเพราะข้อกฎหมายเรื่องถอดถอนไม่ชัด ชี้ถ้าชัดเจนคงต้องเขียนบทเฉพาะกาลให้อำนาจถอดถอน เชื่อหากทำสำเร็จกลายเป็นประเด็นโจมตีไม่จบสิ้น แนะเขียนทางออกที่ 3 รอสภาที่มาจากการเลือกตั้งจัดการ ซัด “ยิ่งลักษณ์” อ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ เหตุโกงจำนำข้าวมาจากนโยบายที่คาดการณ์แล้วว่าจะเกิดการโกง ชี้ประเด็นสำคัญคือ รู้ว่าโกงแล้วทำอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับว่า ป.ป.ช.-ศาล-สนช.ฟังขึ้นหรือไม่

วันนี้ (11 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รวมถึงกรณีการยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ไม่มีการบัญญัติเรื่องการถอดถอนไว้ชัดเจนว่า ตนไม่ทราบว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดหรือไม่ แต่ตนได้ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีปัญหาในประเด็นนี้ เพราะหากต้องการจะสร้างความชัดเจน จะต้องไปเขียนเป็นบทเฉพาะกาลว่า เรื่องที่เป็นอำนาจของวุฒิสภาในกระบวนการตามรัฐธรรมนูญเดิมให้ทำอย่างไร สามารถระบุได้ชัดว่า สนช.สามารถทำได้หรือทำไม่ได้ หรืออาจจะเขียนว่ารอจนกว่าจะมีวุฒิสภาในอนาคตมาทำ

ทั้งนี้ การไม่ระบุไว้จึงทำให้เกิดปัญหาข้อโย้แย้งได้ แม้จะมีการเขียนให้ สนช.ทำหน้าที่ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ก็มีคำถามว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง หรือแม้จะมีการอ้างถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2542 (พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.) แต่ก็มีคำถามคือ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.เขียนไว้แค่ไหน แม้มีการกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภา แต่ประเด็นอำนาจของวุฒิสภาไม่ได้อยู่ในกฎหมายดังกล่าว

“เรื่องนี้มันมีปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งควรจะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นว่า กระบวนการนี้ควรจะเป็นอย่างไร เมื่อ สนช.มีความเห็นเป็น 2 ทาง ผมไม่แน่ใจว่าจะมีช่องทางที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งความผิดของนายสมศักดิ์และนายนิคมถือเป็นความผิดทางการเมืองที่สมควรแก่การถอดถอน แต่ที่ลำบากใจเพราะ เป็นการลงโทษทางการเมืองกับนักการเมืองซึ่งมีตามรัฐธรรมนูญปี 50 แต่กลุ่มบุคคลที่จะมาพิจารณาถอดถอนมาจากรัฐธรรมนูญปี 57 ขณะที่บุคคลทั้งสองมาจากการเลือกตั้ง คนที่จะถอดถอนจึงต้องยึดโยงกับประชาชน คือวุฒิสภา เหตุที่ไม่ให้ศาลเป็นคนถอดถอน เพราะศาลพิจารณาเชิงกฎหมาย จึงทำให้เกิดภาวะกระอักกระอ่วนใจ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากมองในเชิงความชอบธรรมทางการเมือง ก็ควรให้คนที่มาจากการเมืองเป็นผู้พิจารณา แต่ในแง่พฤติกรรม หากไม่มีโทษทางการเมืองเลยก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด เพราะเรากำลังพูดถึงการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมือง หากยังมีประธานที่ทำหน้าที่ตัดสิทธิ์สมาชิกเสียงข้างน้อย เปลี่ยนเอกสาร อนุญาตให้มีการลงคะแนนแทนกันได้ จะเป็นการปฏิรูปหรือไม่ ดังนั้นควรจะมีโทษทางการเมือง แต่เรื่องความชอบธรรม หรือสภาพปัจจุบันมันมีข้อโต้แย้งอยู่ คือในเชิงกฎหมายนั้น สนช. มีอำนาจในการถอดถอน แต่ในเชิงการเมือง หรือความชอบธรรมทางการเมืองยังมีคำถามอยู่

“ผมเชื่อว่ากระบวนการถอดถอนหลังจากนี้ หากสำเร็จและชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายที่ถูกถอดถอนจะหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นโจมตีไปอีกไม่จบไม่สิ้น ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่สร้างปัญหาทางการเมืองขึ้นมา ถ้าเป็นผมจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวผมจะเขียนทางออกที่ 3 ว่าเรื่องแบบนี้อาจจะต้องรอสภาที่มาจากการเลือกตั้งมาจัดการ โดยจะไม่กระทบต่อความชอบธรรมทางกฎหมายหรือกระบวนการทางอาญา หรือทางการเมืองทั้งสิ้น” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีทุจริตในโครงการจำนำข้าว ในฐานะที่เคยเป็นประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) คนที่เป็นนายกฯ และเป็นประธานนโยบายข้าว ต้องรับผิดชอบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูบทบาทอำนาจหน้าที่ของนายกฯ ควบคู่ไปกับปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น เช่น หากมีนโยบายไปแล้วเกิดการทุจริต ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างและสันนิษฐานว่า ตัวนายกฯ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ตรงนี้คงไม่ใช่ความผิดนายกฯ แต่หากมีคนพบว่ามีการทุจริตแล้วมาแจ้ง โดยนายกฯ ได้สั่งให้แก้ไขตรวจสอบ ก็แสดงให้เห็นว่านายกฯ พยายามที่จะแก้ไข แต่หากไม่ทำอะไรเลยก็จะถูกตั้งข้อสงสัยว่าเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์อะไรกับการทุจริตที่เกิดขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้ ในกรณีนโยบายการจำนำข้าวมีประเด็นที่เกิดการกล่าวหาว่านายกฯ สมควรจะถูกถอดถอนเพราะว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะการทุจริตที่เกิดขึ้นไม่ใช่ในเชิงการปฏิบัติตามนโยบาย แต่จากการที่นโยบายถูกออกแบบมา แล้วคาดการณ์ตั้งแต่ต้นว่าจะเกิดปัญหาการทุจริต และความเสียหายขึ้น โดยมีหลายคนที่เกี่ยวข้องได้เตือนแล้ว ดังนั้นนายกฯ จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่รับรู้ หรืออ้างว่าการทุจริตนั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติ และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จึงเป็นที่มาของการชี้มูลของ ป.ป.ช. ว่านายกฯจะละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนอกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ติดตามการดำเนินการของโครงการนี้

เมื่อถามว่า ทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โต้แย้งว่าเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา โดยอ้างมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญปี 50 นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้แถลงเรื่องโครงการจำนำข้าวอย่างเดียว แต่ยังนโยบายการป้องกันปราบปรามการทุจริตด้วย จะอ้างว่าแม้มีการทุจริตแต่จำเป็นต้องเดินหน้า เพราะเป็นนโยบายที่แถลงไว้ ก็ขัดกับนโยบายที่แถลงว่า จะต้องปราบปรามการทุจริตที่เกิดขึ้น หรือนโยบายอื่นๆ ที่มีการแถลงต่อสภา เช่น ลดราคาน้ำมันเบนซิน ลด 7 บาท โดยครั้งแรกจะยุบกองทุนน้ำมัน และลดราคาต่างๆ แต่ว่าพอทำไปแล้วก็เลิก ในที่สุดก็กลับมาเก็บเงินกองทุนน้ำมัน และขึ้นราคาน้ำมันเบนซินก็ในระดับที่สูง ดังนั้นนายกฯ มีสิทธิ์ที่จะยับยั้งนโยบาย หากมันสร้างความเสียหายได้ ดังนั้นประเด็นที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องเป็นว่า เมื่อได้เห็นปัญหาต่างๆ ของนโยบายข้าวแล้ว ได้ทำอะไรบ้าง ในการที่จะระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือไม่ให้เกิดการทุจริต ซึ่ง ป.ป.ช. หรือศาล หรือ สนช. ก็ต้องไปพิจารณาต่อไปว่าข้อต่อสู้นั้นฟังขึ้นหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น