รายงานการเมือง
การออกมาดิ้นพราดๆ ไม่ต่างจากไส้เดือนถูกขี้เถ้าของ พิชิต ชื่นบาน ทนายของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจ้าของตำนานถุงขนมสองล้าน เกี่ยวกับกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. บรรจุวาระการพิจารณาสำนวนถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ในคดีส่อว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ซึ่งมีกำหนดที่จะประชุมในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้
โดยหยิบยก 7 ประเด็นมาคัดค้าน คือ เสียงตะโกนของนักโทษประหารที่แม้ใกล้ตายก็ยังไม่สำนึกในความผิดของตัวเอง
ลองมาไล่ดู 7 ประเด็นของนักกฎหมายรับใช้ตระกูลชินวัตรกันว่ามีความพยายามที่จะพลิกแพลงบิดเบือนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อให้นายเหนือหัวพ้นผิดอย่างไร เป็นเรื่องที่รับฟังได้หรือไม่ ถ้าไม่สมเหตุสมผลเราจะหักล้างความเท็จที่มีความพยายามจะทำให้คนเข้าใจว่าเป็นความจริงอย่างไร
1) หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ คดีถอดถอนมีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้หากรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดให้อำนาจไว้
- การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพใช้กับพลเมืองไทยที่สุจริต ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่นำมาเป็นเกราะกำบังให้คนชั่วพ้นจากการกระทำผิดของตัวเอง คดีถอดถอนจะไม่เกิดขึ้นหากยิ่งลักษณ์ไม่ได้กระทำผิด การอ้างว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้อำนาจถอดถอนไว้นั้นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะไม่เขียนโดยตรงถึงอำนาจการถอดถอนไว้ แต่ให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว. อีกทั้งยังให้อำนาจในการพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ในวงงานของ สนช.ไว้ในมาตรา 5 วรรค 2 ว่า
“ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด” ซึ่ง สนช.ก็ได้มีมติออกข้อบังคับในหมวดเกี่ยวกับการถอดถอนไปแล้ว ย่อมหมายถึงว่า สนช.ได้วินิจฉัยแล้วว่ามีอำนาจหน้าที่ดำเนินการถอดถอนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ประเด็นที่ พิชิต หยิบยกขึ้นมาจึงไม่มีน้ำหนัก เพราะผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญคือ สนช.ได้ชี้ขาดแล้วว่า “การถอดถอนอยู่ในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ที่สามารถดำเนินการได้
2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2557 มิได้กำหนดให้อำนาจเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ให้อำนาจ สนช.เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นที่เกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การบรรจุวาระถอดถอนยิ่งลักษณ์ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.ที่ให้อำนาจไว้ตามมาตรา 5 วรรค 2
3) ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 เฉพาะหมวด 10 ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักการตรากฎหมายในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
- ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ทั้งหมดรวมหมวด 10 ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 13 วรรค 2
“สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติ การอภิปราย การลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การรักษาระเบียบและความเรียบร้อยและกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
4) ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 เฉพาะหมวดที่ 10 ในส่วนที่ 1 การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯเป็นการขัดหรือล้างประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 5
- กระบวนการถอดถอนของไทยดำเนินการมาแล้ว 17 ปี นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 40 จนมาถึงรัฐธรรมนูญ 50 โดยรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับกำหนดขั้นตอนกระบวนการถอดถอนให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ชี้มูลส่งให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 มีบทลงโทษคือให้ผู้ดำรงตำแหน่งถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองและรับราชการเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้นข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติฯเกี่ยวกับการถอดถอนฯจึงเป็นไปตามประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
5) ประธาน สนช. หรือวิป สนช.ไม่อาจเลือกปฏิบัติ ในการเลือกฐานความผิดในการดำเนินคดีถอดถอนให้ผิดไปจากมติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดต่ออดีตนายกฯ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาตามข้อบังคับหมวด 10 ส่วนที่ 1 ที่ปรากฏตามรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เสนอต่อ สนช. หากฝ่าฝืนปฏิบัติถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญมาตรา 5 เสียเอง
- ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประธาน สนช.หรือ วิป สนช.เลือกปฏิบัติในการเลือกฐานความผิดดำเนินคดีถอดถอน ยิ่งลักษณ์ให้ผิดไปจากมติ ป.ป.ช. แต่กระบวนการถอดถอนพิจารณาตามสำนวนการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.
6) อ้างบทบัญญัติกฎหมายที่ไม่มีบทบังคับโทษมาเป็นเหตุถอดถอนไม่ได้
- กระบวนการถอดถอนเป็นไปตามอำนาจของ ป.ป.ช.ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯโดยบทลงโทษเป็นไปตามข้อบังคับ สนช.
7) ความเป็นนายกฯของนางสาวยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 58 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
- แม้ความเป็นนายกฯของนางสาวยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลงแล้วแต่ไม่มีผลให้พ้นผิดจากการละเมิดกฎหมาย โดยที่ผ่านมาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่งก็พ้นจากตำแหน่งไปแล้วทั้งสิ้นแต่ไม่ได้ทำให้กระบวนการถอดถอนยุติแต่อย่างใด เช่น กรณี นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาก็มีการพิจารณาถอดถอนในขณะที่พ้นจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศแล้ว เช่นเดียวกับ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกชี้มูลความผิดจากการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็มีการพิจารณาถอดถอนหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว
เหตุผลที่ทำให้กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งยังเดินหน้าแม้ว่าผู้กระทำความผิดจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเนื่องจากบทลงโทษจากการกระทำความผิดที่อยู่ในข่ายการถอดถอนนั้นมิได้มีผลเฉพาะเรื่องการพ้นจากตำแหน่งแต่ยังมีผลในการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีด้วย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า สังคมไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ แต่ความสับสนจนนำไปสู่ความขัดแย้งเกิดจาก “คนชั่ว” ไม่ยอมรับผิดและบิดเบือนกฎหมาย