สนช. รับคดี “นิคม - สมศักดิ์” เข้าสู่กระบวนการถอดถอน แต่สุดท้ายหลุดเพราะไร้ฐานความผิดตาม รธน. 50 ขณะที่ “ยิ่งลักษณ์” ผิดชัด ตาม กฎหมาย ป.ป.ช. - พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่ม 40 ส.ว. ผนึกกลุ่มข้าราชการพลเรือน พร้อมถอดถอน จับตาสายทหาร 130 เสียงกล้าหักทักษิณหรือไม่
วันที่ 4 พ.ย. แหล่งข่าวระดับสูงจาก สนช. เปิดเผยถึงการพิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่กล่าวหานายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า เป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของ สนช. ที่จะพิจารณาถอดถอน ตามข้อบังคับการประชุม สนช. หรือไม่ โดยในวันที่ 6 พ.ย. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะเปิดให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าถอดถอนได้และไม่ได้
สุดท้าย สนช. จะลงมติให้ทั้งสองสำนวนดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาถอดถอนตามกระบวนการต่อไป และเปิดโอกาสให้คู่ความ คือ นายนิคม นายสมศักดิ์ และ ป.ป.ช. เข้ามาชี้แจงและต่อสู้คดีในเวทีการประชุม สนช. อย่างไรก็ดี แม้จะมีการลงมติถอดถอน ใช้เสียง 3 ใน 5 สนช. หรือสมาชิกจำนวน 132 จาก 220 เสียง จะไม่สามารถดำเนินการถอดถอนสำนวนของนายนิคม และ นายสมศักดิ์ ได้ เนื่องจากสำนวนที่ ป.ป.ช. ทำเรื่องการถอดถอนมาให้ สนช. ถอดถอน เป็นการอ้างฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญ 50 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วเพียงหลักกฎหมายเดียวเท่านั้น โดยไม่ได้อ้างฐานความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 58 หรือกฎหมายอื่นๆ ซึ่งในการต่อสู้ของนายนิคม และสมศักดิ์ ก็จะต่อสู้ในกระเด็นดังกล่าวเพียงเรื่องเดียว ก็จะทำให้ไม่ถูกถอดถอนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สนช. กลุ่ม 40 ส.ว. และ กลุ่มนักวิชาการ แม้จะเห็นว่า นายนิคม และ นายสมศักดิ์ มีความผิดก็จริง แต่ก็ยอมเลือกที่จะไม่ถอดถอน เนื่องจากไม่สามารถตอบคำถามแก่สังคมได้ โดยเฉพาะหลักกฎหมายและทางวิชาการที่ไม่สามารถเอาผิดถึง อย่างไรก็ตาม แม้ สนช. จะไม่สามารถถอดถอนได้ แต่เชื่อว่านายนิคม และ นายสมศักดิ์ ก็ยังมีความผิดในคดีอาญาอยู่ อย่างเช่น การปลอมแปลงเอกสาร ในการเปลี่ยนเอกสารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เป็นต้น ซึ่งต้องรอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อไป
แหล่งข่าวระดับสูง สนช. กล่าวต่อว่า แต่สำนวนการถอดถอน ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่จะมีคิวพิจารณาในวันที่ 12 พ.ย. ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดแตกต่างออกไป โดยอ้างฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญ 50 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และ กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 58 โดยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า สนช. สามารถถอดถอนอดีตนายกฯ ได้ เพราะ ป.ป.ช. ได้อ้างความผิดของกฎหมายที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เหลือเพียงการพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่
ทั้งนี้ จากการเช็กเสียงของ สนช. ทั้ง 220 คน ปรากฏว่า สนช. สาย 40 ส.ว. รวมทั้ง สนช. กลุ่มข้าราชการพลเรือน เห็นด้วยกับการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังนั้น เหลือเพียงการวัดใจว่า สนช. ในสายทหาร ที่มีความเป็นเอกภาพด้วยจำนวนเสียงมากถึง 130 คน จะกล้าที่จะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือไม่