xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เชื่องานร่าง รธน.หนักขึ้น แนะจับตาถอดถอน “ปู” - “ไพบูลย์” ลั่นยกร่างตามสัญญา กปปส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” เชื่อได้รับเลือกเป็น กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญงานหนักมากขึ้น รอฟังความเห็นส่วนตัวแต่ละคน เผยไม่มีฉบับใดเป็นต้นแบบ อาจนำกฎหมายปีก่อนๆ มาร่วมกันพิจารณา แนะจับตากระบวนการถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ด้าน “ไพบูลย์” เผยทำตามสัญญามวลมหาประชาชน แต่แปลกใจหลายคนไม่ได้รับเลือก รอลุ้นสัดส่วน ครม.- คสช.

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมาย ในฐานะคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังจากที่ได้รับเลือกจาก สปช. ให้เป็น 1 ใน 20 คนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ว่า จากนี้ไปก็ถือว่ามีงานหนักมากขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ เพราะตนไม่เคยทำมาก่อน ส่วนกรอบทำงานต่อจากนี้ ก็ต้องดูความคิดส่วนตัวของคณะกรรมาธิการฯ ก่อนว่าคิดอย่างไรกันบ้าง สำหรับตนก็มีแนวคิดต่อกฎหมายหลายๆ มาตราไว้แล้ว แต่ความสำคัญก็คงต้องยกให้กับทางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นหลักด้วย ส่วนการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็จะต้องนำกฎหมายของปีก่อนๆ มาร่วมกันพิจารณาหลายๆ ฉบับ คงไม่มีโมเดลฉบับใดเป็นต้นแบบ

นายคำนูณ ยังกล่าวถึงกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้มีคำสั่งให้บรรจุวาระถอดถอนในวันพุธที่ 12 พ.ย. นี้ ว่า ให้จับตาดูกระบวนการครั้งนี้ เพราะจะไม่เหมือนกับกรณีการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ที่ครั้งนั้นเป็นเพียงวาระหารือว่าจะรับหรือไม่รับเท่านั้น แต่สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือการนับหนึ่งเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนทันที ซึ่งหมายความว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องมาชี้แจง เหมือนกับการถอดถอนหลายๆ กรณีในวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม ตนขอชื่อชมการทำหน้าที่ของนายพรเพชรด้วย

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. ด้านการเมือง กล่าวภายหลังได้รับเลือกว่า ตนสัญญาว่าจะใช้ความรู้ความสามารถเข้าไปร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญให้ตรงกับความต้องการของมวลมหาประชาชนตามที่ได้เคยสัญญาไว้แน่นอน ทั้งนี้ น่าแปลกใจว่า ผู้สมัครบางคนกลับไม่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 20 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่าง นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มากความรู้ความสามารถ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า โอกาสสำหรับสมาชิก สปช. ที่พลาดยังเปิดกว้าง อาจจะได้เข้ามาร่วมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น