“สปช.เทียนฉาย” ยันยังไม่ได้ถูกทาบนั่งประธาน แต่พร้อมเป็นที่โดนเลือก หนักใจกรอบเวลามีไม่มาก เล็งงานแรกคุยนอกรอบคัดคนนั่ง กมธ.ยกร่าง รธน. คาดพรุ่งนี้รู้ใครเอาบ้าง เคาะได้ตัว 3 พ.ย. เชื่อส่งข้อเสนอปฏิรูปได้ปลายปีนี้ ขณะที่เลขาฯ สปช.ออกหนังสือนัดเลือกประธานพรุ่งนี้
วันนี้ (20 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. หนึ่งในรายชื่อที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธาน สปช.ในการประชุมพรุ่งนี้ (21 ต.ค) ยืนยันว่าตนยังไม่ได้รับการทาบทามให้ทำหน้าที่ประธาน สปช. หากสมาชิกสนับสนุนก็พร้อมจะทำหน้าที่ แต่รู้สึกหนักใจเรื่องกรอบเวลาการทำงานที่มีไม่มาก โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับจากประชุม สปช.นัดแรก โดยมองว่า สปช.ต้องเร่งทำงาน ระหว่างรอโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งจะต้องมีการคุยกันนอกรอบเกี่ยวกับวิธีการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมเป็นกรรมาธิการยกร่างในสัดส่วนของ สนช.20 คนที่จะต้องเปิดกว้าง และขณะนี้ทราบว่ามีผู้ประสงค์จะทำหน้าที่นี้แล้ว วันพรุ่งนี้รายชื่อน่าจะมีความชัดเจน และหากมีผู้สนใจจำนวนมากกว่าโควตาที่กำหนด ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ คาดว่าหลังจากมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตำแหน่งประธานและรองประธานแล้วจะมีการประชุม สปช.ในวันที่ 3 พ.ย. เพื่อเคาะตัวบุคคลที่จะเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนการเสนอแนวทางปฏิรูปให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างภายใน 60 วัน นับแต่การประชุม สปช.ครั้งแรก นายเทียนฉายมองว่า การทำงานของ สปช.มีระยะเวลาที่จำกัด จึงอาจเป็นรูปแบบที่ไม่ปกติ จะมีการหารือนอกรอบประกอบกับการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็น โดยคาดว่าจะสามารถส่งข้อเสนอการปฏิรูปได้ในปลายปีนี้
ด้านนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช) ได้ออกหนังสือนัดประชุม สปช.นัดแรก ในพรุ่งนี้( 21 ต.ค.) เวลา 09.30 น. โดยมีเรื่องตามระเบียบวาระการประชุม คือ 1. รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้ง สปช. 2. ให้ สปช.ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้ง กล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุม จากนั้นจะเป็นการเลือกประธาน สปช. และรองประธาน สปช.
สำหรับวิธีเลือกประธานและรองประธาน สปช.นั้น จะใช้ข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พ.ศ. 2557 โดยอนุโลม และมีขั้นตอนในที่ประชุม คือ 1. การเลือกประธานและรองประธานฯ ครั้งแรกให้เลขาธิการฯ เชิญสมาชิก ที่อายุสูงสุด ในที่นี้ คือ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวของที่ประชุม จากนั้นให้สมาชิกเสนอชื่อสมาชิกที่เห็นว่าเหมาะสมต่อที่ประชุม โดยผู้ที่จะเสนอมีสิทธิ์เสนอชื่อได้เพียง 1 ชื่อ ทั้งนี้ต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 10 คน จากนั้นให้ผู้ที่ได้การเสนอชื่อต้องกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการที่จะดำรงตำแหน่งประธานฯ ต่อที่ประชุม ในกรณีที่มีการเสนอชื่อเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือก ถ้าหากมีเสนอชื่อสองชื่อหรือมากกว่านั้น ให้ใช้ลงคะแนนลับโดยเขียนชื่อผู้ที่ประสงค์เลือกบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ แล้วให้เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรมาลงคะแนนเป็นรายคน โดยนำซองใส่ลงในภาชนะที่ขัดไว้เพื่อการนั้น ในการตรวจนับคะแนน ให้ประธานเชิญสมาชิกจำนวน 5 คนเป็นกรรมการตรวจนับคะแนน กรณีมีการเสนอชื่อสองชื่อ ให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก แต่ถ้าได้คะแนนสูงสุดเท่ากันให้เลือกใหม่อีกครั้งหนึ่ง หากยังคะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับฉลาก
ส่วนกรณีมีการเสนอชื่อมากกว่า 2 รายชื่อ ให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดและมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมเป็นผู้ได้รับเลือก แต่ถ้าผู้ใดได้คะแนนสูงสุดมีคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมให้ดำเนินการ ดังนี้ 1. หากมีผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับแรก 1 คน และผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 2 จำนวน 1 คนให้นำชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับดังกล่าวมาให้สมาชิกลงคะแนน หรือ 2. ถ้ามีผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับแรกเกินกว่า 1 คน ให้นำชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดดังกล่าวมาให้สมาชิกคะแนน หรือ 3. หากมีผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับแรก 1 คนและมีผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 2 เกินกว่า 1 คน ให้นำชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับแรกและลำดับที่ 2 ทุกคนมาให้สมาชิกลงคะแนน ทั้งนี้ให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก แต่ถ้าคะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับฉลาก และเมื่อที่ประชุมประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกต่อที่ประชุมสภาแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ทำลายบัตรออกเสียงลงคะแนนด้วย
ส่วนวิธีการเลือกรองประธาน สปช.ให้ใช้วิธีเดียวกัน โดยเริ่มจากการคัดเลือกประธานคนที่ 1 และรองประธานคนที่ 2 ตามลำดับ จากนั้นเลขาธิการสภาจะดำเนินการแจ้งชื่อบุคคลที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาและรองประธานสภา ไปยังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป