“ประยุทธ์” ลัดฟ้าประชุมอาเซมที่มิลาน เผยถกความร่วมมืออาเซียน-ยุโรป 53 ชาติ หารือไม่เป็นทางการ 5-6 ชาติ เล็งจ้อความสัมพันธ์ที่ดี แผนพัฒนา หวังเชื่อมการค้าสามเสาหลักทุกมิติ ขออย่าเหมาปมไฟใต้ พร้อมสร้างความปลอดภัยเอื้อลงทุน ดันมูลค่ายางดิบ เล็งถกเอกชนผลิตยางรถเพิ่ม ย้ำยึดตามโรดแมป เลือกตั้ง 59 หรือไม่ ขึ้นอยู่ รธน.เสร็จตอนไหน
วันนี้ (15 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อร่วมประชุมผู้นำอาเซียน-ยุโรป ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 15-18 ต.ค. ที่กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางว่า การประชุมดังกล่าวจะมีผู้นำเข้าร่วมประชุม 53 ประเทศ โดยสหภาพยุโรปเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม มีสมาชิกเดิม 51 ประเทศ และสมาชิกใหม่อีก 2 ประเทศ เป็นการประชุมความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียนและยุโรป ส่วนประเทศที่จะหารือร่วมกับตนมี 5-6 ประเทศ มีทั้งอาเซียนและยุโรป ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการประสาน โดยการพูดคุยจะมีเรื่องการค้า การลงทุนในทุกมิติทั้งสามเสาหลักที่เราจะมีความสัมพันธ์ต่อกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังอะไรจากการเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ยุโรป พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คาดหวังให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ยุโรป จะพัฒนาขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งเดิมดีอยู่แล้ว โดย 3 นาทีที่ได้พูดจะพูดเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และการเตรียมการของเราที่จะไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นในเรื่องความมั่นคงและความเชื่อมโยง และพูดในนามของอาเซียน ดังนั้น ต้องพูดในสิ่งที่ได้หารือร่วมกับอาเซียน เรื่องการสร้างความเข้มแข็งของตัวเองในทุกมิติ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจการค้าการลงทุน รวมถึงการที่เราเป็นกลุ่มประเทศหลักด้านการเกษตรกรรม ผลผลิตทางการเกษตรจะทำอย่างไร อาจจะเจรจาเรื่องข้อตกลงในระยะต่อไป ซึ่งต้องเป็นรูปแบบของคณะกรรมการเพื่อให้ผลการพูดคุยเดินหน้า ที่ผ่านมาอาจจะมีการพูดคุยกันน้อยไป
เมื่อถามว่าจะพูดคุยถึงเรื่องสินค้าที่เราถูกกีดกันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าใช้คำว่ากีดกัน มันเป็นเรื่องของการพัฒนาตามสถานการณ์โลก อันนี้คือสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิด ถ้าเรารอรับกติกาต่างๆ ไม่ได้เราก็ต้องคิดในเชิงรุกว่าจะเดินเศรษฐกิจของเราอย่างไร ดังนั้น ต้องมีมาตรการเตรียมรับ โดยสิ่งที่ต้องทำเวลานี้คือ พัฒนาภาคเศรษฐกิจของเราให้เข้มแข็งขึ้น รัฐต้องเข้าไปมีส่วนร่วมสงเสริมการลงทุนให้เข้าถึงกองทุนในธุรกิจทุกประเภท วันนี้เรามีธุรกิจหลายประเภทที่เป็นสินค้าออก ฉะนั้น ต้องดูเรื่องราคา ตลาด การกีดกันเป็นเรื่องธรรมดาเพราะเป็นกติกาโลก คนมากขึ้นการแข่งขันมากขึ้น ผลผลิตมากขึ้นจึงต้องมีการแข่งขันกัน เราจึงต้องมีการเตรียมความพร้อม ปรับคุณภาพ เพิ่มเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มา หากยังทำงานเชิงรับอยู่เหมือนเดิม ในอนาคตเราจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เพราะเวลาน้อยมาก ปีสองปีเขาปรับหมดในข้อตกลงต่างๆ
เมื่อถามถึงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างชาติยังมองเป็นอุปสรรคการค้าการลงทุน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน วันนี้ปัญหาภาคใต้มีอยู่บางพื้นที่ไม่ใช่ภาคใต้ทั้งหมด ขอฝากพวกเราทุกคน ถ้าจะพูดทั้งหมดมันไม่ใช่ เพราะการค้าการลงทุนต่างๆ ยังเดินอยู่ เพียงแต่การลงทุนขนาดใหญ่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะติดปัญหาด้านความมั่นคง ดังนั้นเราต้องสร้างความมั่นคงความปลอดภัยให้กับเขา และวันนี้มีการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอมากขึ้น ตนได้แก้กติกาต่างๆ พร้อมเพิ่มระยะเวลาการให้การสนับสนุนกองทุนต่างๆ โดยปีนี้จะเร่งให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะการแปรรูปยางในชั้นต้นต้องเร่งมูลค่ายางแผ่นดิบให้มากขึ้น เพื่อให้ราคายางในพื้นที่สูงขึ้น ลดต้นทุนการขนส่งเข้ามาส่วนกลางและการส่งออก
“เดี๋ยวจะมีการเจรจาพูดคุยกับบริษัทเอกชนในการขอความร่วมมือเรื่องการผลิตยางรถยนต์ให้มากขึ้น เพื่อใช้ในประเทศ พร้อมให้เหล่าทัพโดยกระทรวงกลาโหมไปพิจารณาหาทางส่งเสริมเพื่อให้เกิดการใช้ยางมากขึ้น ถ้ามองแต่เรื่องราคาตกอย่างเดียว และคิดว่าจะขายให้ใครมันเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ต้องเริ่มการใช้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจในไทยที่มีจำนวนมาก ทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ให้เกิดผลประโยชน์ในประเทศมากที่สุด ถ้าเกินจากการใช้ในประเทศก็ส่งออกขาย ซึ่งการส่งขายต้องพูดอีกในมิติหนึ่ง เพื่อทำให้ราคาขายได้รับการยอมรับ สมาคมยางอาเซียน-ยุโรปต้องคุยกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ต่อข้อถามว่า การเดินทางไปครั้งนี้หากมีโอกาสจะพูดคุยเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หากมีโอกาสจะคุย ขึ้นอยู่กับเวลา เพราะการประชุมครั้งนี้มีทั้งการประชุมอย่างไม่เป็นการทางและการพูดคุยเต็มคณะ แต่เน้นพูดในมิติของการประชุม ซึ่งมีหัวข้อมาแล้ว เรื่องอื่นๆ คงไม่ได้พูด นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอาเซียนและยุโรป โดยมี 5-6 ประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศกำลังติดต่อ ซึ่งตนยินดีคุยกับผู้นำทุกประเทศที่พร้อมคุย และขึ้นอยู่กับเวลาด้วย เมื่อถามอีกว่า ในโอกาสพูดคุยนอกรอบกับ 5-6 ประเทศนี้จะคุยนอกมิติเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทยด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าเขาสงสัยตนต้องตอบ และตอบได้หมด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศที่เดินทางเป็นส่วนล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้ไม่เห็นแจ้งว่า เขาจะมีการพูดถึงเรื่องภายในประเทศของเรา เขาเป็นกำลังใจให้เรา เพียงแต่บอกว่าขอให้ทำให้รวดเร็วเท่านั้น
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อถึงโอกาสที่จะขยายเวลาโรดแมปในระยะ 3 ออกไปหรือไม่ว่า ตนได้กำหนดโรดแมปไปแล้ว ขึ้นอยู่กับการดำเนินการจะทำได้อย่างไรก็ทำกัน และช่วยกัน ถ้ามัวแต่ตีรันฟันแทงต่อสู้กันไปตลอดจะทำอะไรก็ขยับไม่ได้ สรุปไม่ได้ แล้วจะไปได้หรือไม่ การเลือกตั้งครั้งใหม่ต้องมาด้วยรัฐธรรมนูญและผลของการปฏิรูป 11 เรื่อง ถ้าทำรัฐธรรมนูญเสร็จ ปฏิรูปทั้ง 11 เรื่องได้นี่คือระยะแรก เพราะคงแก้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะบางอันต้องใช้ระยะเวลายาว ใครเป็นรัฐบาลต้องมาแก้ต่อ มาคาดคั้นกับตนมากมันไม่ใช่ ซึ่งได้พูดจบไปแล้ว ดูตามโรดแมปนั่นแหละ ปัญหาอยู่ที่ว่า การทำตามโรดแมปทำได้หรือไม่ ก็ทำกันไป ไม่ใช่ตนคนเดียวที่ทำโรดแมป และตนก็ไม่ได้นั่งเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาระบุว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นต้นปี 2559 นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าโรดแมปจะเสร็จเมื่อไหร่ ถ้ารัฐธรรมนูญเสร็จก็ต้องใช้เวลาในการเตรียมการเลือกตั้ง