“ดุสิตโพล” เปิดผลสำรวจความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หลัง คสช.เข้ามาควบคุมประเทศ พบด้านการเมืองเห็นว่าดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจยังเหมือนเดิม ด้านสังคมดีขึ้น
หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาดูแลบริหารบ้านเมือง ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยหลายฝ่ายต่างจับตามองว่าบ้านเมืองจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีบ้านเมือง ณ วันนี้ ในสายตาประชาชน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,459 คน ระหว่างวันที่ 7-11 ตุลาคม 2557
ผลการสำรวจในคำถามที่ว่า ประชาชนคิดว่าสถานการณ์ทาง การเมืองไทย ณ วันนี้ เป็นอย่างไร อันดับ 1 ร้อยละ 87.05 ระบุกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ อันดับ 2 ร้อยละ 84.24 ระบุยังคงมีความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิด และอันดับ 3 ร้อยละ 64.08 ระบุรัฐบาลมีนโยบายในการทำงานที่ชัดเจน ตั้งใจแก้ปัญหาอย่างเต็มที่
ส่วนเมื่อเปรียบเทียบ การเมืองไทย ณ วันนี้ กับก่อนที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ (22 พ.ค. 57) ประชาชนคิดว่าเป็นอย่างไร อันดับ 1 ร้อยละ 73.54 เห็นว่าดีขี้น เพราะการทะเลาะเบาะแว้งลดน้อยลง ไม่มีการชุมนุมประท้วง การเมืองกำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง อันดับ 2 ร้อยละ 20.70 เชื่อว่าเหมือนเดิม เพราะไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศก็ยังคงมีปัญหา มีความขัดแย้ง ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ฯลฯ และอันดับ 3 ร้อยละ 5.76 เห็นว่าแย่ลง เพราะปัญหาการเมืองฝังรากลึกมานานยากที่จะแก้ไข เป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ฯลฯ
ต่อข้อถามว่า ประชาชนคิดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ณ วันนี้เป็นอย่างไร อันดับ 1 ร้อยละ 74.02 ระบุค่อนข้างดีขึ้น แต่ยังเป็นห่วงเรื่องการท่องเที่ยวและการเกษตร อันดับ 2 ร้อยละ 73.75 ระบุค่าครองชีพสูง ของกิน ของใช้ ราคาสินค้ายังคงมีราคาแพง และอันดับ 3 ร้อยละ 62.85 เห็นว่ายังคงมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน
เมื่อเปรียบเทียบเศรษฐกิจ ณ วันนี้ กับก่อนที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ (22 พ.ค. 57) ประชาชนคิดว่าเป็นอย่างไร อันดับ 1 ร้อยละ 42.43 เห็นว่าเหมือนเดิม เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว รายได้ยังเหมือนเดิม ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย คนไม่กล้าใช้จ่าย ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 40.16 เห็นว่าดีขึ้น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างจริงจัง สร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุน ฯลฯ และ อันดับ 3 ร้อยละ 17.41 เห็นว่าแย่ลง เพราะค่าครองชีพสูง ข้าวของแพง ยังมีหนี้สิน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ความเป็นอยู่ลำบาก ฯลฯ
ส่วนประชาชนคิดว่าสถานการณ์ทางสังคมไทย ณ วันนี้เป็นอย่างไร อันดับ 1 ร้อยละ 79.10 เห็นว่า มีความสงบเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น การทะเลาะเบาะแว้งน้อยลง อันดับ 2 ร้อยละ 71.83 เห็นว่าสภาพสังคมเสื่อมโทรม คนในสังคมขาดจิตสำนึก คุณธรรมจริยธรรมลดลง และอันดับ 3 ร้อยละ 66.00 เห็นว่าความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติดยังมีอยู่มาก
เมื่อเปรียบเทียบสังคมไทย ณ วันนี้ กับก่อนที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนคิดว่าเป็นอย่างไร อันดับ 1 ร้อยละ 59.43 เห็นว่าดีขึ้น เพราะประชาชนตระหนัก ตื่นตัว เห็นแก่ส่วนร่วมมากขึ้น หวังเห็นบ้านเมืองก้าวหน้า สงบสุข ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 30.29 เห็นว่าเหมือนเดิม เพราะปัญหาสังคมยังมีอยู่มาก มีการทะเลาะเบาะแว้ง ความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก ฯลฯ และอันดับ 3 ร้อยละ 10.28 เห็นว่าแย่ลง เพราะคนขาดจิตสำนึก คุณธรรมลดลง ห่างไกลศาสนา พฤติกรรมเยาวชนยังน่าเป็นห่วง ฯลฯ