xs
xsm
sm
md
lg

“ถวิล” มองต่างกลาโหม ค้านเลือกนายกฯ โดยตรง ชี้อันตรายกว่าปฏิวัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายถวิล ไพรสณฑ์ (แฟ้มภาพ)
อดีตรองประธานสภาฯ ชี้พิมพ์เขียวปฏิรูปฉบับ คสช. หลายประเด็นคิดได้แต่ทำยาก ขวางตั้งนายกฯ โดยตรง อ้างอันตรายยิ่งกว่าปฏิวัติ ถอดถอนได้ยาก เย้ยสุดประหลาดจำกัดวาระ ส.ส.2 สมัย ส่วน Primary Vote ก็สุดเชย แนะให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ในวันประชุมสภาเท่านั้น หนุนใช้ตุลาการพระธรรมนูญชี้ขาดข้อกฎหมาย ไม่มีสิทธิ์ยุบพรรค จับตา กมธ.ร่าง รธน.กระชับไม่เวิ่นเว้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 12 ต.ค. นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงพิมพ์เขียวของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่มี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ได้แจกให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่ามีหลายประเด็นที่ตนไม่เห็นด้วย อาทิ ประเด็นข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกนี้นอกจากระบบประธานาธิบดี และน่าอันตรายทำให้นายกฯ มีความเข้มแข็งมาก การถอดถอนจะต้องใช้มติประชาชน ซึ่งวัฒนธรรมไทยหากมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งเกินไปและมีการตรวจสอบยากจะอันตรายมากกว่าการปฏิวัติรัฐประหารด้วยซ้ำ แม้แต่การเลือกนายกฯทางอ้อม คือเลือกจาก ส.ส.ในสภา หากมีรัฐบาลที่เข้มแข็งเช่นกรณีรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่มีเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นจนฝ่ายค้านอภิปรายอะไรไม่ได้ ก็ยังอันตรายถ้าเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงไม่อันตรายกว่าหรือเพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาหรือ ปลดจากตำแหน่งไม่ได้เลย เพราะถือว่ามาจากการเลือกตั้งโดยตรงโดยคนทั้งประเทศ เว้นแต่ทำผิดกฎหมายอาญาหรือกฎหมายเฉพาะ ในทางปฏิบัติประเด็นนี้ถือว่าเป็นไปไม่ได้

“ถ้าเราใช้ระบบรัฐสภาที่มีมานานและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างนี้ ผมคิดว่าระบบการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงเป็นไปไม่ได้ และไม่ควรมี ซึ่งควรใช้การเลือกตั้งทางอ้อมเช่นปัจจุบัน แต่ต้องหามาตรการหรือกระบวนการต่างๆที่เป็นการเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม เพราะไม่ว่าจะใช้วิธีไหนถ้าซื้อเสียงได้ ทุกอย่างก็เหมือนเดิม สิ่งที่ คสช.ควรทำคือจะแก้ปัญหาการขายสิทธิซื้อเสียงอย่างไรมากกว่า ส่วนกรณีนายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้งต้องควบคู่ไปกับประเด็น ส.ส.ไม่สังกัดพรรค และรัฐธรรมนูญต้องเขียนว่านายกฯ ต้องมาจากสภาโดยไม่เป็น ส.ส.ก็ได้เหมือนกรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่กรณี ส.ส.ไม่สังกัดพรรคเราเคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว คือปัญหาการขายตัว ปัญหาก็ยังคงเหมือนเดิม จึงควรยังคงให้สังกัดพรรคแต่ปรับปรุงระบบพรรคการเมือง ไม่ให้อำนาจทั้งหมดอยู่ที่หัวหน้าพรรคเท่านั้น”

ส่วนระบบสภาเดียวคือมีแต่ ส.ส.นั้นตนไม่เห็นด้วย เพราะหากไม่มีการกลั่นกรองกฎหมายจะอันตรายมาก ดังนั้น ยังควรให้มี ส.ว.โดยมาจากการสรรหาจากสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่หลากหลายเท่านั้น และมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย แต่ไม่มีควรมีอำนาจถอดถอน ควรให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอื่น ส่วนการกำหนดวาระ ส.ส.2 สมัยเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก ไม่มีในประเทศไหนกำหนดเช่นนี้ ปกติจะใช้กับตำแหน่งประธานาธิบดีเท่านั้น ทุกวันนี้ ส.ส.ที่มีปัญหาไม่ใช่เพราะระบบไม่ดี แต่เป็นเรื่องตัวบุคคล มีการหาผลประโยชน์ตามงบประมาณแผ่นดิน ดังนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญห้าม ส.ส.ยุ่งเกี่ยวเรื่องการเงินทั้งสิ้น ต้องทำหน้าที่ ส.ส.ของประเทศชาติ ส่วนท้องที่เป็นเรื่องของ ส.จ. เรื่องนี้สำนักงบประมาณรู้ดีเพราะเป็นคนจัดสรรงบให้ ส.ส.แบบไม่โจ่งแจ้ง ส่วนการใช้ระบบ Primary Vote กับผู้สมัคร ส.ส.ให้มีคนรับรอง 200 คนนั้นเชยมากเพราะนักการเมืองสามารถหากคนมาสนับสนุนตนเองได้ง่ายดายซึ่งไม่ใช้กับระบบสภา แต่จะใช้กับระบบการเลือกผู้บริหารประเทศ เพื่อให้เลือกคนดีจริงๆ แต่ ส.ส.เมืองไทยไม่สามารถใช้ระบบนี้ได้เพราะมีระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยม

นายถวิลกล่าวว่า หลายประเด็นในพิมพ์เขียวของ คสช.เป็นเพียงแนวคิดที่นำไปปฏิบัติไม่ได้ เช่น กำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งขั้นสูงไม่เกิด 70 ปี เพราะอยู่นานยิ่งมีประสบการณ์ ไม่ควรคิดว่า ส.ส.ทุกคนโกงกันหมด เช่น นายชวน หลีกภัย ที่อายุเกิน70 ปี แต่สามารถใช้ประสบการณ์การที่เชี่ยวชาญแนะนำข้อกฎหมายต่างๆ ในสภามากมาย เป็นต้น ส.ส.เป็นตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่ผู้บริหาร หรือกรณีนายกฯ ไม่มีอำนาจยุบสภา ยังต้องมีการใช้อำนาจคานกันเพราะการยุบสภาเป็นวิธีการหนึ่งที่แก้ปัญหาทางการเมืองได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรแก้ไขภายหลัง แต่สิ่งจำเป็นเร่งรีบคือกระบวนการคัดกรองคนเข้ามามากกว่า กฎเกณฑ์ไม่จำเป็นต้องมีมากมาย

ส่วนประเด็นยกเลิกเอกสิทธิ์ ส.ส.ในสมัยประชุมนั้น นายถวิลกล่าวว่า เดิมทีที่เรามีเอกสิทธิ์ให้กับ ส.ส.ในสมัยประชุม เพราะมีระบบไม่ไว้วางใจในสภา ซึ่งบางทีรัฐบาลจะใช้วิธีการแกล้งจับฝ่ายค้านเพื่อให้คะแนนลดลงไป แต่หากจะยกเลิก ควรยกเว้นกรณีที่มีวันประชุสภาเท่านั้นที่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม มีหลายประเด็นที่ตนเห็นด้วย เช่น การกลับไปใช้ตุลาการพระธรรมนูญ โดยมีอำนาจวินิจฉัยข้อขัดแย้งทางกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ควรมีอำนาจยุบพรรคการเมือง หรือ ป.ป.ช. ควรเพิ่มเติมให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องได้ด้วยโดยผ่านกระบวนการบางอย่างไม่ใช่ผ่านอัยการ และกรณีที่มีศาลเลือกตั้งประชาชนควรมีสิทธิที่จะได้เพราะถือว่าเป็นผู้เสียหาย รวมถึงประเด็นให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงซึ่งเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ต้องทยอยเลือกในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน และต้องมีมาตรการต้องป้องกันการซื้อเสียงที่เข้มแข็งซึ่งเป็นการดีที่จะได้คนในพื้นที่ที่รู้ปัญหาต่างๆมาทำงาน หลายคนเกรงว่าจะมีระดับเจ้าพ่อหรือมาเฟีย เข้ามาเป็นผู้ว่า แต่แง่ดีคือคนเหล่านี้ได้ออกจากที่ซ่อนมาอยู่ในที่เปิดเผย หากทำผิดอย่างไรประชาชนก็ถอดถอนได้ เพราะต้องถือว่าประชาชนเริ่มมีการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นนับแต่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กปปส. ตนคิดว่ายังดีกว่าปัจจุบันที่ผู้ว่าฯ ทำตัวเป็นมาเฟีย หาเงิน วิ่งเต้นซื้อตำแหน่งมากมาย

“ผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้คงไม่ถือเป็นพิพม์เขียวในการปฏิรูปประเทศทั้งหมด และมีหลายประเด็นที่ดูเหมือนมีอคติกับนักการเมือง หวังว่าสปช.คงจะแยกแยะตามข้อเท็จจริงและผลในทางปฏิบัติอย่างรอบคอบ ในช่วงเวลาที่จำกัดคงทำได้เพียงที่ปรึกษา แต่ที่สำคัญคือการยกร่างรัฐธรรมนูญคงต้องจับตาดูต่อไปว่าจะออกมาอย่างไร และคณะทำงานยกร่างจะบัญญัติเฉพาะส่วนสำคัญๆ อย่าลงรายละเอียดปลีกย่อย เพราะจะเปิดช่องให้ตีความกันมากมายเหมือนที่ผ่านมาเพราะคนไทยเรามีพวกศรีธนชัยเยอะ” นายถวิลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น