xs
xsm
sm
md
lg

จับตาภาคประชาชน กำลังถูก “บอนไซ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

คำปาฐกถาของเนติบริกรอย่าง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ การเมืองการปกครองของไทยหลังรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 มีเนื้อหาที่พอจะทำให้เห็นถึงเค้ารางของรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการร่างใหม่ในเร็ววันนี้ว่า คนไทยกำลังจะต้องอยู่ภายใต้กติกาสูงสุดในแบบใด หลังจากที่ใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับ

“มาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะกลายเป็นหัวใจหลักของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่คณะกรรมาธิการจะต้องนำไปยกร่างต้องบัญญัติให้ได้ อาทิ คณะกรรมาธิการยกร่างจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดประชานิยมที่ไม่พึ่งปรารถนา ป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่ทุจริตการเลือกตั้งเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีก และกำหนดว่าควรมีองค์กรอิสระใดบ้าง มีรัฐบาลเข้มแข็ง รัฐสภาที่ไม่อ่อนแอ และเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งจะมีความขัดแย้งจากรัฐธรรมนูญใหม่”

ใจความโดยสรุปจากปากคำของ วิษณุ มีจุดที่น่าสนใจ คือ กรอบคิดของผู้ที่มีบทบาทนำในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ความเข้มแข็งของประชาชน” อันเป็นหัวใจหลักสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และเป็นสิ่งที่น่าจับตาต่อไปว่าทิศทางบ้านเมืองนับจากนี้ไป “ภาคประชาชนกำลังถูกบอนไซ” หรือไม่

เพราะหากพิจารณาตามกรอบที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่กำหนดไว้เป็นบัญญัติ 10 ประการให้คณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเดินตามแนวทางดังกล่าวก็มิได้ระบุถึงสิทธิของประชาชนที่พึงมีต่อการกำหนดนโยบายของภาครัฐ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีจุดเด่นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้ง สิทธิในการให้ชุมชนฟ้องหน่วยงานรัฐ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ มีสิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเป็นครั้งแรกในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่าย รวมทั้งยังได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม

การชุมนุมของประชาชนได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนที่เป็นไปโดยสุจริตปราศจากอาวุธมีความเข้มแข็งมากพอที่จะคัดค้านพฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาล ทำให้อำนาจการปกครองยังคงอยู่ในมือของประชาชนแม้ว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งไปแล้ว

โดยดูได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่พรรคเพื่อไทยไปยื่นคำร้องว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศอันไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลไว้ว่า

“การชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยมีเหตุผลสืบเนื่องจากการต่อต้าน พ.ร.บ.โทษนิรโทษกรรม และความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ส่วนการกระทำของนายสุเทพและพวก จะเป็นการทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ต้องรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงไม่มีมูลกรณีที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งการได้อำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในวิถีทางรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ที่จะศาลจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย”

จะเห็นได้ว่าการชุมนุมของประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนั้นมีผลอย่างยิ่งต่อการหยุดยั้งพฤติกรรมชั่วของนักการเมืองเลว จนทำให้ ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการเซ็ตซีโร่ประเทศไทยด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยไม่สำเร็จ

ในขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังวางกรอบการชุมนุมที่แยกแยะให้เห็นถึงเสรีภาพและความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน คือ ประชาชนมีสิทธิชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ไม่น่าไว้วางใจ ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมก็มีความรับผิดชอบตามกฎหมายและถูกดำเนินคดีอาญาได้หากมีการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง

ถ้ามองจากวิธีคิดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านคำปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จะพบว่า ผู้มีอำนาจในขณะนี้มองสาเหตุของปัญหาและความขัดแย้งว่ามีต้นเหตุมาจากการชุมนุมทางการเมือง โดยไม่ได้แยกแยะเนื้อหาการชุมนุมว่าเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม หรือเป็นกลุ่มก้อนที่ถูกปลุกระดมจากข้อมูลเท็จให้ลุกขึ้นมาปกป้องคนชั่ว

ทัศนคติมองปัญหาแบบเหมาเข่งไม่กล้าแยกขาวออกจากดำ วางสถานะเป็นกลางระหว่างความดีกับความชั่ว ทำให้น่าเป็นห่วงว่าการกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะมีมากขึ้น บนข้ออ้างว่าเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ซึ่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็กำลังเข็นกฎหมายการควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะออกมา โดยเชื่อได้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะผ่านออกมามีผลบังคับใช้ในเวลาอันใกล้นี้

แม้จะเป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมการชุมนุมที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวที่เกินขอบเขต แต่ในขณะเดียวกันคนไทยต้องไม่หลงไปกับมายาภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาว่า ทุกการชุมนุมคือการสร้างความวุ่นวาย ดังที่ผู้นำประเทศกำลังพยายามชี้นำอยู่ในขณะนี้

ผู้นำมีอำนาจเพราะพวกเขามีตำแหน่ง คนรวยมีอำนาจจากเงินที่มีในกระเป๋า แต่ประชาชนจะมีอำนาจได้ก็ต่อเมื่อรวมตัวกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการตรวจสอบถ่วงดุลย์อำนาจรัฐ ดังนั้นสิ่งที่คนไทยจะต้องเรียกร้องไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน จึงไม่ใช่แค่เรื่องการทำตามกรอบในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เท่านั้น แต่ต้องส่งเสียงดังๆ บอกผู้มีอำนาจว่า

หัวใจของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ และการชุมนุมคัดค้านการปกครองที่ขาดธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมีอำนาจในขณะนี้ไม่เคยพูดถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น