แม่ทัพภาคที่ 1 เปิดอบรมแนวทางปฏิบัติงานด้านพลเรือนแก่ ชป.กร.335 นาย หวังมีทิศทางเดียวกัน เชื่อมความเข้าใจประชาชนคู่ขนานสภาปฏิรูปฯ นำประเด็นลงพื้นที่สะท้อนมุมมองส่งกลับมายังเวที วอนอย่ามองไปสลายสีเสื้อ แค่รับฟังก่อนประสานราชการมาแก้ ยันทรัพย์สินมีที่มาที่ไป
วันนี้ (3 ต.ค.) ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมแนวทางการปฏิบัติงานด้านกิจการพลเรือนให้แก่เจ้าหน้าที่ของชุดปฏิบัติการมวลชนกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ชป.กร.) กองทัพภาคที่ 1 ในพื้นที่ กทม. และเขตปริมณฑล จำนวน 335 นาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการเข้าพบประชาชนในเขตต่างๆ เพื่อเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริงในการนำกรอบการดำเนินงานและข่าวสารของ คสช.เข้าไปสร้างความเข้าใจต่อประชาชน และรับฟังข้อคิดเห็นและปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของประชาชนมาสู่กระบวนการแก้ไขของ คสช.
ทั้งนี้ พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เพื่อให้กำลังพลที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่มีทิศทางเดียวกัน เห็นได้ว่าขณะนี้ คสช.กำลังดำเนินการตามโรดแม็ประยะที่ 2 ดังนั้นทางทหารจึงได้ลดกำลังของ กกล.รส.ลง เพื่อให้ประเทศกลับไปสู่การใช้กฎหมายปกติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะฉะนั้นทหารจะลดบทบาทลงไป แต่ทั้งนี้ก็ยังมีชุดกิจการพลเรือนลงพื้นที่ เพื่อเป็นจุดเชื่อมสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลได้เข้าใจทั้งเรื่องสถาบันและประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อีกทั้งภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ทำให้เกิดปัญหาต่อประชาชนนั้นเราควรดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ ชป.กร.จะทำงานคู่ขนานกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนำประเด็นต่างๆ ลงไปในพื้นที่ซึ่งจัดเป็นชุดละ 5 คนในแต่ละเขตของ กทม.โดยจัดจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ กองพลทหารราบที่ 9 กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ เพื่อประสานงานกับชุมชน และสะท้อนมุมมองของประชาชนให้กับ สปช.ได้เป็นข้อคิด
“ส่วนกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยนั้นก็ลดกำลังลงไปตามนโยบายของรัฐบาล เพราะทหารอยากให้งบประมาณถูกนำไปใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศมากกว่า รวมถึงเป็นการช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณ จากเดิมที่เรามีอยู่เกือบสองร้อยชุด ตอนนี้ลดลงไปครึ่งหนึ่ง เหลือไม่ถึงร้อยชุด โดยเราจะใช้ ชป.กร.ลงไปทำงานเสริม เพื่อสร้างความเข้าใจ แต่อย่าไปมองแง่ร้ายว่าเราจะทำนั่นทำนี่ ไปสลายสีเสื้อ หรือ เอาไปเทียบกับการจัดชุดลงหมู่บ้านช่วง คมช. เพราะส่วนที่เราทำจะเน้นการรับฟังเป็นหลัก เป็นตัวเชื่อมในการประสานกับ ตำรวจ อำเภอ และส่วนงานต่างๆ เพื่อให้เขาลงมาแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และรับข้อมูลปัญหาต่างๆ สะท้อนไปสู่ คสช. ทั้งนี้ เป้าหมายก็เพื่อให้เกิดความปรองดอง สร้างบรรยากาศไปสู่การเลือกตั้ง ใครจะลงพื้นที่ตรงไหนก็ไม่เกิดปัญความขัดแย้ง” พล.ท.กัมปนาทกล่าว
เมื่อถามว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาลคล้ายกับเป็นประชานิยมนั้น ทาง ชป.กร.จะไปชี้แจงทำความเข้าใจประชาชนในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า ทุกเรื่องที่เป็นประเด็นต่างๆ เราก็จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และทำงานคู่ขนานกับรัฐบาลที่จะมีการประชุมร่วมกันกับ คสช.ตามนโยบายเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน รัฐบาลดูแลงานเรื่องบริหารราชการแผ่นดิน ส่วน คสช.ก็ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคง สำหรับจะมีการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือไม่นั้น ขณะนี้มีทุกฝ่ายประเมินอยู่ ตนในฐานะหน่วยปฏิบัติก็ยินดีที่จะดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่ทุกฝ่ายต้องประเมินร่วมกัน เพราะเราไม่อยากให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น ดังนั้นการจะทำอะไรต้องรอบคอบอย่าผลีผลาม สำหรับความเป็นห่วงเรื่องคลื่นใต้น้ำ ในแง่ความมั่นคงก็ดูทุกมิติ แต่จะรักษาสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการเดินหน้าประเทศไทย
นอกจากนี้ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ สนช.จำนวน 195 คนว่า สนช.ทุกคนเปิดเผยบัญชีหมด ขณะนี้เราพยายามสร้างธรรมาภิบาล ทรัพย์สินของทุกคนก็มีที่มาที่ไปหมด สำหรับตนเองก็ไม่มีอะไร เมื่อถามต่อว่า แต่ในส่วนของ สนช.ที่เป็นทหารนั้นถูกจับตามองเป็นพิเศษ พล.ท.กัมปนาทกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะทหารถูกมองเป็นเป้าหมาย สำหรับตนสามารถชี้แจงได้หมด และเป็นมรดกจากบิดามารดาที่เสียชีวิตหมดแล้วซึ่งไม่ได้มีอะไรเพิ่มเติม