xs
xsm
sm
md
lg

คสช.เข้มปิดกั้นเสรีภาพ ความกลัวที่ขวางการปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นรัอน

ทำไปทำมาระวังจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว! สำหรับกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าไปควบคุมตัวนักวิชาการและนักศึกษา ยุติงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ” ที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี ก่อนจะปล่อยตัวออกมาในภายหลัง

แต่เรื่องไม่จบแค่เท่านั้น ถูกนำมาขยายเป็นประเด็นเรียกร้องกันถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่จัดงานเสวนาในวันดังกล่าวเกิดขึ้นในรั้วสถาบันการศึกษาอันเป็นแหล่งความรู้ การเข้าไปควบคุมตัว จึงทำให้ถูกมองเป็นเรื่องของการปิดกั้น จำกัดเสรีภาพ

เข้าทางแนวร่วมฝ่ายตรงข้ามที่รอกระทืบ เลยได้ทีจุดประเด็นเรียกร้องกันกว้างขวาง ถึงขนาด 60 นักวิชาการร่อนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปลดล็อก ซึ่งก็มีกระแสตอบรับจากนักศึกษาและนักวิชาการบางส่วนไม่น้อย ถือว่าไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลที่ต้องการความร่วมมือในการบริหารประเทศในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เอาเสียเลย

ทว่า “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สองพี่น้องแห่งบูรพาพยัคฆ์ก็ยังยืนยันคำเดิมว่าปัจจุบันเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ การจะเสวนาต้องให้มีการส่งเนื้อหามาก่อน ไม่มีผ่อนปรนไปจากนี้ แถมยังมีหลุดวลีโหดๆ “อย่าล้ำเส้น” ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงภาพของเผด็จการ หนักขึ้นไปอีก

จากเดิมที่ “บิ๊กตู่” พยายามทำให้สถานการณ์ดูปกติมากที่สุด แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากทหาร แต่จากปรากฏการณ์นี้ กลับเป็นการฉุดให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลกลายเป็นเผด็จการเต็มตัว ซึ่งไม่ดีแน่ในระยะยาว เพราะนอกจากจะควบคุมไม่ได้แล้ว ยังเป็นการสร้างความอัดอั้นให้กับนักวิชาการ และนักศึกษา อันเป็นองคาพยพหนึ่งที่มีอิทธิพลไม่น้อยในสังคมไทย อาจบานปลายไปถึงขั้นก่อตัวเป็นกระแสต่อต้าน

กระแสต่อต้านนี้เองอาจกลายเป็นอุปสรรคฉุดรั้งที่ทำให้งานของรัฐบาลที่ตั้งเอาไว้ไม่ราบรื่น และไม่ทันการณ์ เพราะต้องมาเสียเวลาตามแก้ปัญหาระหว่างทางจนไม่เป็นอันทำงานทำการ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในการเข้ามาควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ

นอกจากเรื่องภัยคุกคามที่อาจกลายมาเป็นปัจจัยแทรกซ้อนข้างต้นแล้ว การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ ยังอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปประเทศในอนาคต เพราะจะทำให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จำเป็นต้องมีข้อมูลที่หลากหลาย อุดตันอยู่แค่ 250 คน เสมือนการไม่เปิดใจกว้างรับฟังเสียงสะท้อนจากคนภายนอก หรือนักวิชาการที่เห็นต่างจากตัวเอง

ขณะเดียวกัน การปฏิรูปที่เกิดขึ้นจะถูกจำกัดจากความคิดของคนไม่กี่คน และจากคนของตัวเองเท่านั้น เป็นการตอกย้ำอย่างที่มีคนค่อนแคะก่อนหน้านี้ว่า สุดท้าย สปช.ชุดนี้ถูกล็อกสเปกเอาไว้แล้ว ที่สำคัญมีธงอยู่ในใจแล้วว่าจะปฏิรูปประเทศอย่างไร ไม่ใช่มติมหาชนจริงๆ

ผลเสียที่ออกมาคือ การแก้ไขปัญหาต่างๆ จะออกมาในลักษณะเดิมๆ ไม่มีมิติใหม่ๆ เพราะมาจากพวกหน้าเดิมๆ เรื่อยไปจนถึงเรื่องการปฏิรูป และการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับใหม่ ก็จะออกในทางมุ่งสกัดฝ่ายตรงข้ามมากกว่าตอบโจทย์ประชาชนจริงๆ เหมือนกับครั้งก่อน สุดท้ายกลายเป็นการปฏิรูปเพื่อตอบสนองความต้องการตน มากกว่าตอบสนองประเทศ

นอกจากนี้ยังจะส่งผลต่อความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และถูกโจมตีเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับก่อนที่โดนถากถางว่า เป็นฉบับหน้าแหลมฟันดำ คิดกันแค่คนไม่กี่คน เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางในการกำหนดกติกาประเทศ แล้วยังประจานกระบวนการคัดเลือกต่างๆ เป็นเพียงพิธีกรรมที่จัดฉากขึ้นมาให้ตัวเองดูดีเท่านั้น

หนำซ้ำ กติกาบางข้อบางอันยังจะถูกมองว่า เป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อตนเอง และอาจเป็นการสืบทอดอำนาจให้ตัวเองต่อไปในอนาคต สุดท้ายก็จะเวียนว่ายตายเกิดเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาก็จ้องจะแก้ไขกันอยู่ร่ำไป เพราะมองว่าเป็นผลไม้พิษที่เกิดจากต้นไม้พิษ ไม่มีความชอบธรรม ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

บทเรียนในอดีตมีถมเถให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า ถ้าคิดเองเออเอง สุดท้ายผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ย่างเท้าเข้ามาสู่อีหรอบเดิมๆ ไม่เข็ดหลาบ

ในมุมกลับกันหากรัฐบาลและคสช. ยอมเปิดอ้าระบายรูหายใจ นอกจากจะคลายบรรยากาศที่ตึงเครียดแล้ว ยังส่งผลดีต่องานใหญ่ที่ตัวเองกำลังทำอยู่ด้วย เพราะนักวิชาการเหล่านี้ จะเป็นตัวสะท้อนความคิดของสังคมอีกซีกหนึ่งให้รัฐบาลและคสช.รับรู้ เพื่อจะได้ไปหาจุดที่ลงตัวที่สุด ดีไม่ดีบางข้อบางจุดฝ่ายกุมอำนาจในปัจจุบันยังสามารถนำไปประกอบเป็นส่วนผสมในสปช.ได้

ผลพวงจากตรงนี้จะทำให้สังคมมองรัฐบาล และคสช.อีกแบบหนึ่งทันที นั่นคือ ภาพของการเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แม้กระทั่งฝ่ายที่ต่อต้านตัวเองมาตลอด โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีจุดประสงค์เพื่อการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ไม่หวังดีที่หวังจะเอาปมนี้มาขยายจะหมดชอบธรรมไปในตัวเองไปทันที ฝ่ายกุมอำนาจมีแต่ได้กับได้

การผ่อนปรนให้มีรูระบายไม่ถือว่า เป็นการเสียฟอร์มของรัฐบาลและ คสช.แต่อย่างใด ทว่ากลับจะยิ่งทำให้ถูกมองในแง่บวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปิดพื้นที่และการให้เสรีภาพมหาศาลแม้จะเป็นรัฐบาลทหารก็ตามที

ส่วนเรื่องคลื่นใต้น้ำที่รัฐบาลและ คสช.ยังหวาดระแวงว่าหากหย่อนยานให้อาจมีการก่อตัวนั้น ตลอดช่วง 4 -5 เดือนที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อำนาจที่รัฐบาลและคสช.มีนั้นมากมายก่ายกองเพียงใด และพร้อมจะใช้เป็นกลไกสกัดปัญหาได้หากเกิดเหตุอันไม่คาดฝันได้แทบจะทุกรูปแบบ ขณะที่ปฏิกิริยาของคนสังคมส่วนใหญ่ ก็ยังให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหา มากกว่าจะกลับไปขัดแย้งกันเหมือนก่อน จึงไม่ต้องกังวลมากนัก

ถือเป็นจังหวะดีมากกว่าที่รัฐบาลและ คสช.จะได้ปลดล็อกพันธนาการบางอย่างที่ไม่กระทบต่อการแก้ไขปัญหาประเทศ อย่างน้อยได้แสดงให้ต่างชาติได้เห็นว่า แม้จะเป็นรัฐบาลทหาร แต่ไม่ได้เผด็จการเหมือนประเทศอื่นๆ

ทว่าหากยังยึดหลักเดิมไม่ให้ใครเข้ามารับล้ำเส้นตัวเอง อยู่แบบหวาดระแวงเกินเหตุ สิ่งที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นปฏิรูป ยกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขปัญหาหมักหมม ก็จะเสียของ
กำลังโหลดความคิดเห็น