รายงานการเมือง
จับกระแสล่าสุด จากท่าทีแกนนำฝ่ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดูแล้ว ทำท่าว่า การเดินหน้าพิจารณาสำนวนคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สปช.) มีมติเสียงข้างมากส่งไปให้ สนช. ลงมติ “ถอดถอน - ไม่ถอดถอน” จะเป็นหนังยาวเสียแล้ว
อาจจะไม่ได้ข้อยุติโดยเร็ว ทั้งที่เป็นเรื่องที่สังคมคาดหวังกับสนช.ชุดนี้ไว้มาก ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ให้อำนาจสนช.ทำหน้าที่เป็นทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ดังนั้น กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ใช้อำนาจไปในทางฉ้อฉล ทุจริตต่อหน้าที่และเงินแผ่นดิน ประพฤติตนผิดรัฐธรรมนูญและการเป็นนักการเมืองที่ดี ก็สมควรต้องถูกสนช.ลงมติถอดถอนเพื่อให้พ้นจากวงจรการเมืองไปห้าปี และจะได้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
แต่ท่าทีล่าสุด ดูเหมือนชักจะยังไง ทำท่าเหมือนกับ สนช. จะไม่อยากถอดถอนอะไรกันเสียแล้ว แม้ไม่ถึงกับปฏิเสธแต่ก็ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ต่อสังคมอย่างที่ควรจะเป็น เหมือนหนึ่งกับต้องการยื้อเรื่องนี้ไว้ โดยอ้างความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย ทั้งที่รัฐธรรมนูญบางมาตราใน รธน. ฉบับชั่วคราว รวมถึงมติของ ป.ป.ช. ที่ยืนยันอำนาจในส่วนนี้ของ สนช. ที่ทำหน้าที่เป็นวุฒิสภาว่ามีอำนาจเต็มที่ในการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน
โดยเฉพาะกับสำนวนคดีถอดถอน สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาและนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีโดน ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในกรณีปฏิบัติหน้าที่ในช่วงรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่อดีตนักการเมืองสภาทาสร่วมกันเสนอ แต่ฝ่าย สนช. บิ๊กๆ ทั้งหลาย กลับดูเหมือนจะไม่เต็มร้อยเปอร์เซนต์ในเรื่องนี้
โดยเฉพาะ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ที่เป็นคีย์แมนสำคัญในการยกร่าง รธน. ฉบับชั่วคราวให้ คสช. และจะต้องเป็นคนบรรจุระเบียบวาระเรื่องการถอดถอนเข้าสู่ที่ประชุม สนช. หลังรับเรื่องจาก ป.ป.ช. ภายในไม่เกิน 30 วัน แม้จะบอกว่า เมื่อ ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับมาก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป แต่กลับบอกว่า ยังมีปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องอำนาจหน้าที่ของสนช.กรณีการถอดถอนอยู่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ยกเลิกไปแล้ว จึงต้องดูสำนวนของป.ป.ช.ที่จะส่งมาก่อน และได้ย้ำว่า หากสุดท้ายเกิดปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ยังไม่เห็นว่า จะหาทางออกโดยใช้ มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ แต่เรื่องดังกล่าวก็อาจนำเข้าสู่ที่ประชุมให้สมาชิก สนช. ชี้ขาดว่าถอดถอนได้หรือไม่
เป็นคำพูดและท่าทีของพรเพชร ซึ่งแม้ไม่ปฏิเสธเรื่องจะให้ สนช. ลงมติถอดถอนหรือไม่ แต่ก็ไม่สร้างความชัดเจนให้กับสังคมได้ว่าสุดท้าย สนช. จะเอาอย่างไร
ในประเด็นเรื่องมาตรา 5 ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมี สนช. หลายคน เช่น พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.ที่ดูเรื่องข้อกฎหมายให้กับสนช.และเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับ สนช. ที่มีเรื่องสำคัญอยู่ในนั้นก็คือ “หมวดถอดถอน” เห็นว่าเรื่องนี้หากมีปัญหาการตีความว่า สนช. ถอดถอนได้หรือไม่ได้ ก็แค่ให้ที่ประชุมใช้มาตรา 5 ของ รธน. มาหาทางออก ตัดสินไปเลยจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไปด้วย
เมื่อส่องดูมาตรา 5 ดังกล่าวบัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา 5 เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดหรือเมื่อมีกรณีที่เกิดขึ้นนอกวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุดจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี”
ดูแล้ว รัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ก็น่าจะเขียนเป็นทางออกให้กับ สนช. พิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้ได้ หลังมีการตั้งข้อสังเกตในเชิงกฎหมายจากหลายฝ่ายว่าแม้ รธน. ฉบับปี 50 จะยกเลิกไปแล้ว แต่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยังมีผลบังคับใช้อยู่ อีกทั้ง ข้อบังคับการประชุม สนช. ที่ สนช. ลงมติด้วยเสียงท่วมท้นผ่านข้อบังคับดังกล่าวที่ให้มีหมวดถอดถอน ผนวกกับ ป.ป.ช. ก็มีมติยืนยันอำนาจในส่วนนี้ของ สนช. แล้ว แถมก่อนหน้านี้เมื่อปี 2549 ที่ นายพรเพชร ก็เป็น สนช. อยู่ด้วย ก็เคยลงมติถอดถอน “จรัล ดิษฐาอภิชัย” พ้นจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาแล้ว โดยที่ตอนนั้น รธน. ชั่วคราวปี 49 ก็ไม่ได้เขียนให้อำนาจ สนช. ในเรื่องการถอดถอนไว้ ก็ถือเป็นกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ สนช. ที่มาจากรัฐประหาร
คนจึงสับสนกับ สนช. มากว่า ใยไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้แบบทุบโต๊ะไปเลยว่าจะเอายังไง ทำไม สนช. สับสนในอำนาจของตัวเอง ครั้นจะหาทางออกเพื่อให้ชัดเจนไปเลยด้วยการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เอ้า ก็ลองทำดูกันไป สนช. จะได้เซฟตัวเองด้วย ก็ลองดู แต่ระวังสังคมจะตั้งคำถามกับสนช.ขึ้นมา หลังพบว่าช่วงหลังๆ คนเริ่มตั้งคำถามกับสนช.ชุดนี้มากพอสมควรถึงการทำหน้าที่และความสง่างามทางการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นกรณี 28 สนช. นำโดย พลเอก นพดล อินทปัญญา กับพวกรวม 28 ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอจะไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เหมือนหนึ่งกับต้องการไม่ทำตามกฎหมายและมีเจตนาหลีกเลี่ยงระบบตรวจสอบ แต่สุดท้ายศาลก็ยกคำร้อง ยิ่งพอไปดูรายชื่อ สนช. บางคนก็พบว่า มีบางชื่อที่ไม่คาดคิดกันว่าจะมาร่วมลงชื่อด้วยอาทิ รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน จากนิด้า ที่เคยเป็นแกนนำนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ที่เรียกร้องการเมืองโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่เอาทุนนิยมสามานย์ และยังเคยขึ้นเวที กปปส. ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศมาตลอด แต่กลับไปร่วมลงชื่อร้องศาลปกครองไม่ยอมรับกติกาการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน สนช.
หรือจะเป็นกรณีที่มี สนช. บางคนไปร่วมเป็นกรรมการสรรหา สปช. แล้วปรากฏว่ารายชื่อตามโพยที่ออกมามีหลายคนถูกตั้งคำถามว่า เลือกเข้ามาได้อย่างไร เช่น บัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีรับจำนำข้าวที่เคยมีปัญหาการทำงานกับ ป.ป.ช. ในช่วงไต่สวนคดีรับจำนำข้าวจน ป.ป.ช. ยื่นเรื่องให้สภาทนายความตรวจสอบมารยาทสภาทนายความมาแล้ว กลับมีรายเชื่อติดโผเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สาขากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม แต่คนที่สังคมเห็นว่าเหมาะสมมากกว่ากลับไม่ติดในสาขานี้ และมีข่าวว่าชื่อหลุดไปตั้งแต่ในชั้นสรรหาด้วยซ้ำอาทิเช่น วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช., ปัญญา อุดชาชน ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, เดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ, ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม, พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
แล้วรู้ไหมว่าใครเป็นประธานกรรมการสรรหาชุดนี้ ก็คนนี้ไง “พรเพชร” ประธาน สนช. ก็ไม่รู้ว่าเลือกเข้ามาได้ยังไง ตั้งแต่ในชั้น สรรหา เอวัง สนช. ไหมล่ะ หากชื่อตามโผ สปช. เป็นความจริง
ประเมินดูแล้ว หาก สนช. ยังไม่สามารถสร้างผลงานอะไรให้กระเตื้อง และคนเห็นได้ ไม่ต้องเอาเรื่องถอดถอนก็ได้ แต่ต้องให้มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง หากยังทำไม่ได้ แล้วปล่อยให้เป็นแบบนี้ มีแนวโน้มคนจะส่ายหน้ากับ สนช. ชุดนี้แน่นอน
.