สะเก็ดไฟ
ปัญหาการออกอากาศในระบบอนาล็อกของช่อง 3 ที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายเดือน สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายขององค์กรที่กำกับดูแล คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท.
รวมถึงการคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลักของผู้บริหารช่อง 3 นำไปสู่การอ้างผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนที่จะไม่สามารถดูช่อง 3 ผ่านจานดาวเทียมได้ เนื่องจากช่อง 3 ตั้งแง่ว่าหากจะนำไปออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอลได้จะต้องคงสิทธิโฆษณา 12 นาทีต่อชั่วโมงไว้ แทนที่จะหั่นโฆษณาเหลือ 6 นาทีต่อชั่วโมง ตามกติกาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้ช่อง 3 ได้เปรียบผู้ประกอบการดิจิตอลรายอื่นที่โฆษณาได้ 6 นาทีต่อชั่วโมง
หัวใจของปัญหาเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องผลประโยชน์จากเงินโฆษณาที่ช่อง 3 กอดไว้ไม่ยอมให้ตัวเองเสียรายได้ จึงพยายามต่อสู้เพื่อยื้อเวลาการนำระบบอนาล็อกไปออกอากาศในระบบดิจิตอลให้ได้ยาวนานที่สุด
เพราะหากทำตามกฎกติกาแล้วแม้ช่อง 3 จะมีโฆษณาได้ 12 นาทีต่อชั่วโมงแต่ปริมาณผู้ชมจะลดลงถึง 70% เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนที่รับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบเดิม หรือที่เรียกกันว่า หนวดกุ้งอยู่เพียงแค่ประมาณ 30% เท่านั้น
ถามว่าช่อง 3 ไม่รู้หรือว่าสิทธิในการออกอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปจากการเปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกไปเป็นระบบดิจิตอล คำตอบคือผู้ประกอบการโทรทัศน์ทุกรายทราบดีว่า กสท. คือ ผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกมาตรการมากำกับดูแล แต่ช่อง 3 เลือกที่จะวางแผนทางธุรกิจด้วยการตั้งบริษัทแยกออกมาทำทีวีดิจิตอล ทำให้เป็นสถานีโทรทัศน์ช่องเดียวที่มีทั้งบริษัทที่ออกอากาศแบบอนาล็อกกับบริษัทที่ออกอากาศแบบดิจิตอล
ทั้งๆ ที่แผนการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลนั้น มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยสถานีโทรทัศน์ที่ยังคงสัญญาสัมปทานไว้มีอยู่ 2 รายคือ ช่อง 7 กับช่อง 3 ซึ่งควรจะได้นำมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่า ทำไมช่อง 7 สามารถปฏิบัติตามกติกาที่ กสท. กำหนดได้แต่ช่อง 3 กลับไม่ยอมทำ
กรณีของช่อง 7 นั้น กสท. มีมติเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2556 ให้ลดอายุสัมปทานลง 5 ปี ไปสิ้นสุดที่ปี 2561 แทนที่จะเป็นปี 2566 แลกกับการให้ใบอนุญาตระบบดิจิตอลกับช่อง 5 ของกองทัพบก ซึ่งทางช่อง 7 ก็มีการวางแผนธุรกิจด้วยการประมูลทีวีดิจิตอลเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับระบบอนาล็อคที่จะถูกยกเลิกในปี 2563 โดยใช้ผังรายการเดิมทั้งหมดไปใส่ในระบบดิจิตอล
ในขณะที่ช่อง 3 ได้สัมปทานจาก อ.ส.ม.ท. ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2563 แต่ไม่มีการลดอายุสัมปทานลงเหมือนช่อง 7 และมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ประมูลทีวีดิจิตอลโดยมีการสร้างผังรายการใหม่ที่แตกต่างไปจากบริษัทเดิมที่ออกอากาศในระบบอนาล็อค อันเป็นต้นเหตุที่ใช้เป็นเงื่อนไขในทางกฎหมายว่า ไม่สามารถปฏิบัติตาม กสท. ในการออกคู่ขนานได้ เนื่องจากจะมีปัญหาเรื่องสถานะความเป็นนิติบุคคลที่ถือว่าเป็นคนละบริษัท ซึ่งถ้าหากเป็นไปอย่างที่ช่อง 3 ต้องการก็จะทำให้ช่อง 3 ได้ประโยชน์ทางธุรกิจเหนือผู้ประกอบการรายอื่น คือ สามารถโฆษณาผ่านระบบดิจิตอลได้ 12 นาทีต่อชั่วโมง ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นโฆษณาได้เพียง 6 นาทีต่อชั่วโมงเท่านั้น โดยอ้างว่าหากจอดำก็จะทำให้ประชาชนไม่สามารถดูช่อง 3 ผ่านระบบดาวเทียมได้ เพื่อบีบให้ กสท. เต้นตาม และก็ได้ผลเสียด้วย
หลังการเคลื่อนไหวของช่อง 3 ทำให้ กสท. มีมติเพิ่มเติมเพื่อแก้ไข ตั้งแต่การลดค่าธรรมเนียมทีวีดิจิตอลลง 4% แต่ช่อง 3 ก็เล่นแง่ว่าไม่เกี่ยวกับตัวเอง เพราะเป็นคนละบริษัทกับที่ไปประมูลทีวีดิจิตอลแม้ว่าจะเป็นเจ้าของเดียวกันก็ตาม พอ กสท. บอกว่า ช่อง 3 สามารถมาออกคู่ขนานกับทีวีดิจิตอลได้ก็ตั้งแง่อีกว่าจะผิดกฎหมาย เพราะไม่สามารถเอารายการจากบริษัทหนึ่งไปออกอากาศในนามของอีกบริษัทหนึ่งได้ แม้ว่าจะเป็นเจ้าของเดียวกันก็ตาม แม้ว่า กสท. จะมีมติล่าสุดว่าสามารถทำได้ก็ตาม โดยเชื่อได้ว่า ช่อง 3 จะยังดิ้นรนไม่ยอมรับและยื้อเวลาเพื่อให้ช่อง 3 อนาล็อกไปออกอากาศในระบบดิจิตอลโดยโฆษณา 12 นาทีต่อชั่วโมงให้ได้ยาวนานที่สุด
ทั้งๆ ที่ช่อง 3 แพ้คดีหลักในศาลปกครองกลางที่ขอให้ชะลอการใช้กฎมัสต์แครีให้ช่อง 3 ยุติการออกอากาศผ่านระบบดาวเทียมในวันที่ 25 พ.ค. 57 โดยศาลเห็นว่ากฎมัสต์แครีไม่ได้มีผลทำให้ใบอนุญาตประกอบกิจการของช่อง 3 สิ้นสุดลง จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะทุเลาคดีด้วยการชะลอการใช้กฎมัสแครี
จึงเท่ากับกฎดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้กับช่อง 3
แต่ที่เป็นปัญหามากและทำให้ช่อง 3 นำมาเป็นประเด็นในการสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม คือ การเกี้ยเซี๊ยะกันระหว่างช่อง 3 กับ กสท. โดยใช้ศาลปกครองมาเป็นเครื่องมือ เริ่มจากช่อง 3 ยื่นร้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวเพื่อขยายเวลาการใช้กฎมัสแครีออกไปก่อนโดยความยินยอมของ กสท. ซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นผู้เสนอต่อ ศาลปกครองกลางว่าต้องการให้ขยายเวลาบังคับใช้เพื่อจะได้ไปเจรจาหาข้อยุติ ศาลจึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติ กสท.ที่สั่งให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวียุติการออกอากาศช่อง 3 อนาล็อกไปจนถึงวันที่ 11 ต.ค. 57 ทำให้มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าการที่ศาลมีคำสั่งเช่นนี้เท่ากับว่าช่อง 3 ทำถูกจึงได้รับความคุ้มครอง ทั้งที่ความจริงแล้วศาลไม่ได้พิจารณาถึงประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ออกคำสั่งตามความต้องการของคู่กรณี คือ ช่อง 3 และ กสท.
การแก้ปัญหาช่อง 3 จึงไม่ใช่เรื่องที่ กสท. จะต้องออกมติใดๆ มาเพิ่มเติมอีก แค่ดำเนินการให้ทุกอย่างเป็นไปตามกติกาและให้ความจริงกับประชาชนว่าช่อง 3 ยังคงออกอากาศในระบบอนาล็อกได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถมาเผยอหน้าในระบบดิจิตอลได้เนื่องจากแยกบริษัทออกมาต่างหาก
ถ้าคนดูช่อง 3 จะโกรธใครสักคนก็ควรมองไปที่ช่อง 3 ไม่ใช่ตกเป็นเครื่องมือให้ช่อง 3 จับเป็นตัวประกันบีบให้มีการลดหย่อนกติกาที่จะทำให้ช่อง 3 ได้ประโยชน์ทางธุรกิจเหนือผู้ประกอบการรายอื่นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้