“มาร์ค ดีแต่พูด” จ้อ 250 สปช.ต้องเร่งยกร่างรัฐธรรมนูญ หากทำไม่สำเร็จทุกคนต้องรับผิดชอบ เชื่อ “ประยุทธ์” ไม่มีเจตนาอยู่ในอำนาจ ไม่แคร์กระแสจับมือนักการเมืองรุ่นเดอะตั้งพรรคทหาร บอกยุคนี้ทำไม่ง่าย ยังมีแค่สองขั้ว คนละเรื่องกับที่ภาคราชการลงมาสถานการณ์นี้ ไม่มีปัญหาหาก “อลงกรณ์” ได้นั่งเก้าอี้ สปช. แต่ตอบไม่ได้จะให้กลับมาลงเลือกตั้งหรือไม่
วันนี้ (30 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำงานของ 5 องค์กรที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า แต่ละองค์กรต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะออกนอกกรอบไม่ได้ แต่ภารกิจร่วมกันคือการปฏิรูปประเทศ โดยมีสภาปฏิรูปแห่งชาติรับผิดชอบโดยตรง แต่อำนาจที่แท้จริงคือเห็นชอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยงานแรกที่ต้องเร่งทำหลังมีสภาปฏิรูปคือการได้ตัวกรรมาธิการยกร่าง และรีบส่งความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมือง เพื่อเป็นกรอบให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
“สปช.ทั้ง 250 คนต้องตระหนักว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่ผลักดัน ได้รับการยอมรับ มีความชอบธรรมเพราะไม่มีทางสำเร็จได้ใน 1 ปี ดังนั้นทุกเรื่องที่ทำต้องให้สังคมมีส่วนร่วมโดยการรับฟังความคิดเห็น แต่ผมหวังว่า ถ้าสภาปฏิรูปทำสิ่งที่สังคมขานรับ ก็เชื่อว่า ครม.กับ สนช. เขาก็ต้องทำ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่า หาก 1 ปีทำไม่สำเร็จจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การกำหนดกรอบเวลา 1 ปี เหมือนกับเป็นโจทย์ตายตัว ทุกอย่างต้องเดินตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีช่องโหว่อันเดียวคือ หากรัฐธรรมนูญใหม่ทำไม่เสร็จ ทุกคนต้องรับผิดชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการก็อยู่ไม่ได้ อะไรก็อยู่ไม่ได้
“ผมเชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ว่าไม่มีเจตนาที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป หากสถานการณ์ไปถึงจุดนั้น แล้วยังอยู่ต่อ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นต้องให้โอกาสเขาเดินไปกรอบก่อน ทุกอย่างต้องดูตามเนื้อ แต่ว่าถามว่าเป็นไปได้ไหมว่า 5 องค์กรนี้สมคบกันว่าจะมาทำให้มันล้มเพื่อจะยืดนั้นผมไม่ค่อยเชื่อ อันนั้นมันเกินไป ไม่น่าจะเป็นไปได้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ และกลุ่มบุคคลบางกลุ่มเตรียมตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยมีนักการเมืองระดับเซียนรุ่นเก่า และนักธุรกิจบางคนร่วมด้วย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ แต่สถานการณ์อย่างนี้ควรมองไปข้างหน้า แต่ตนพอรับทราบการเคลื่อนไหวต่างๆ ของนักการเมืองอยู่บ้าง แต่จะทำจริงจังหรือสำเร็จหรือไม่ยังเร็วเกินไปที่จะบอก และทำได้ไม่ง่ายในยุคนี้ การเมืองในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งขึ้น ในอดีตประชาชนยึดติดกับตัวบุคคล แต่ในหลายพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นต่อให้ไปเอานักการเมืองระดับเซียน แต่ประชาชนไม่นิยมตัวองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ แต่เขาเห็นว่าพรรคการเมืองที่เขาเคยสนับสนุนนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่า เขาก็จะสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น
ส่วนที่มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่ามีโอกาสที่ประชาชนจะหันไปหาทางเลือกที่ 3 หรือพรรคราชการซึ่งนำโดยทหาร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าก็มีความเป็นไปได้ แต่การเมืองปัจจุบันสู้ด้วยตัวพรรค หรือตัวแบรนด์ หากกลุ่มคนเหล่านั้นออกมาร่วมตั้งพรรคใหม่ ก็อาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้งฉะนั้นการเมืองยังป็นลักษณะของ 2 พรรค 2 ขั้วชัดเจนขึ้น
“การที่ภาคราชการต้องมาในสถานการณ์นี้เพื่อให้ทุกอย่างสงบก่อนที่จะกลับสู่การเมืองปกติ หากอยากจะมาเป็นตัวเล่นหลังจากนี้ มันคนละสถานการณ์ แม้โพลบอกว่าประชาชน สนับสนุนในสถานการณ์อย่างนี้ แล้วเข้าใจว่าสนับสนุนให้ทำในการเลือกตั้งด้วย ถือเป็นการเข้าใจที่ผิดต่ออารมณ์ ความรู้สึกในขณะนี้ หากพรรคราชการสร้างทางเลือกจุดต่างจาก 2 พรรคใหญ่ แล้วเป็นข้อเสนอที่ประชาชนสนใจ ถือว่าเป็นพรรคที่ 3 อย่างแท้จริง แต่ถ้าเข้าไปรวมกับทางหนึ่งทางใด คนมองว่าเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ ซึ่ง สปช.ต้องคิดในเรื่องพวกนี้เพราะต้องจะออกแบบระบบการเมืองและ กติกาสูงสุด จะต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นไปแล้วด้วย” นายอภิสิทธิ์กล่าว