xs
xsm
sm
md
lg

“เสี่ยจ้อน” ปอดแหกไม่กล้าโหวตขอลงเลือกตั้ง ยันสิงสถิต ปชป.จ้อสื่ออย่าทำตัวเป็นขอนลอยน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อลงกรณ์ พลบุตร (ภาพจากแฟ้ม)
“อลงกรณ์” อดีต ส.ส.ปชป.หงอไม่กล้าโหวตสวนขอลงเลือกตั้ง ยันตายรังค่ายพระแม่ธรณี แต่ขออย่ากดดันทั้งในและนอกพรรค ก่อนหน้าจ้อสื่อบี้ยอมร่วมวงเลือกตั้งใหม่ อย่าทำตัวเป็นขอนลอยน้ำ อ้างพรรคใหญ่ต้องแสดงภาวะผู้นำ หาทางออกประเทศควบคู่กับปฏิรูป ชี้ถึง กปปส.ชนะปัญหาไม่จบ เสื้อแดงออกมาต่อต้าน


วันนี้ (28 มี.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ว่า ตนจะขอหารือในที่ประชุมถึงกรณีการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พูดชัดเจนว่าพรรคพร้อมที่จะลงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการปฏิรูป แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ถือเป็นท่าทีที่ชัดเจนระดับหนึ่ง เพราะในปี 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ในการเลือกตั้งเป็นโมฆะ มีการกำหนดวันเลือกตั้งใม่ในเวลา 6 เดือน ตนคิดว่าครั้งนี้เราได้บทเรียนจากครั้งนั้น และบทเรียนจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะ โดยกำหนดขั้นตอนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าที่เป็นที่ยอมรับของแต่ละฝ่าย

“ผมคิดว่าวันนี้ประเทศจะเดินหน้าไปได้ จะไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะชนะฝ่ายเดียวแน่นอน หาก กปปส.ชนะไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นก็จะมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยออกมาชุมนุมต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน บ้านเมืองก็จะเหมือนอยู่ในกงกรรมกงเกวียน และเราจะอยู่กันได้อย่างไร ที่สุดประเทศไทยก็จะกลายเป็นรัฐล้มเหลว ดังนั้นในฐานะพรรคการเมือง จะต้องยึดหลักสร้างความเป็นผู้นำ ด้วยการนำเสนอแนวทางที่นำประเทศไปสู่ทางออก พ้นจากวิกฤต ด้วยการแสดงความชัดเจนว่าเราพร้อมจะลงเลือกตั้ง ในระหว่างนี้ก็สนับสนุนให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาข้อยุติและกำหนดวันเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ก็มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ดำเนินการปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน ถ้ามีความชัดเจนเช่นนี้ ก็จะทำให้ความเชื่อมันมั่นกลับคืนมาทั้งในและต่างประเทศ” นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าพรรคสามารถอธิบายให้ประชาชนได้อยู่แล้ว แต่การแสดงจุดยืนในวิธีการประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ ในภาวะที่วันนี้พรรคการเมืองแทบจะไม่มีที่ยืนทางการเมือง เพราะยุบสภาแล้วการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็ไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร และประเทศจะหวนกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อีกเมื่อไร และจะเลี่ยงการเผชิญหน้าความุรนแรง การนองเลือด มีหนทางเดียวคือการที่พรรคการเมืองต้องก้าวออกมาเป็นหลักของประเทศ ชูการเมืองเป็นธงนำในแนวทางประชาธิปไตย และกำหนดร่วมกันในเรื่องการเลือกตั้งและดำเนินการปฏิรูป เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม

เมื่อถามว่า มั่นใจได้อย่างไรว่าหากให้มีการเลือกตั้งและการปฏิรูปไปพร้อมกัน จะไม่มีการนองเลือดเกิดขึ้น นายอลงกรณ์ ย้อนถามกลับว่า แล้วมีวิธีการใดที่ดีไปกว่านี้ แม้ กปปส.จะมองว่ามีการเลือกตั้งใหม่การเมืองก็ยังเป็นรูปแบบเดิม แต่ตนคิดว่า พรรคจำเป็นต้องมีอิสระในการตัดสินใจ ซึ่ง กปปส.หรือกลุ่มต่างๆ มีสิทธิ์ที่จะคิด หรือเชื่อถือในแนวทางอย่างหนึ่งอย่างใด แต่พรรคใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ต้องมีจุดยืนและความคิดเป็นของตัวเอง และวิธีทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแนวทางหลักสำคัญของพรรค ดังนั้นพรรคต้องกลับมายืนเป็นผู้นำทางความคิด และแสวงหาทางออกให้กับประเทศ เพราะที่ผ่านมาเราได้บทเรียนแล้วว่าประเทศสูญเสียมหาศาลโดยเฉพาะเงินภาษีของประชาชน เสียเวลาและโอกาส แล้วปัญหาก็กลับมายืนที่จุดเดิม การเลือกตั้งโดยไม่มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติก่อน จะไม่เกิดประโยชน์

เมื่อถามว่าควรจะมีการเจรจาหาข้อยุติก่อนที่จะมีท่าทีของพรรคหรือไม่ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า พรรคควรจะเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ตาม “อย่าเป็นขอนลอยน้ำรอว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วพรรคถึงจะเดินตามเหมือนเป็นการฉวยโอกาส” เมื่อถามว่าหากพรรคตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้ง นายอลงกรณ์จะตัดสินใจอนาคตทางการเมืองตนเองอย่างไร นายอลงกรณ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่ารอให้ถึงวันนั้นก่อน ตนยังคิดว่าหากพรรคยังยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยนั่นคืออุดมการณ์ที่ถูกต้องแต่ถ้าเบี่ยงเบนไปจากแนวทางนี้ก็ต้องมาพิจารณา ส่วนการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยใช่หรือหรือไม่ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการประชุมอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีอดีต ส.ส.ของพรรคเข้าร่วมประชุมบางส่วน ขณะที่นายอลงกรณ์ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ตนยืนยันว่าจะลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่มีการออกไปตั้งพรรคใหม่ แต่ขออย่าได้ไปกดดันตนทั้งในพรรคและนอกพรรค และควรจะมีการปฏิรูปก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม นายอลงกรณ์ไม่ได้เสนอให้ที่ประชุมโหวตความเห็นว่าควรจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ขณะที่การประชุมใช้เวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น