xs
xsm
sm
md
lg

ตัดสิทธินักการเมืองเก่า ผลของ (4) ในมาตรา 8, 20 และ 35 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

พอจะมองเห็นทิศทางของการเปลี่ยนผ่านระยะที่ 3 เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 เลา ๆ แล้วละจากการอ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในอย่างน้อย 3 มาตรา คือ มาตรา 8 (4) มาตรา 20 (4) และมาตรา 35 (4)

รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศนี้ที่มีบทบัญญัติระบุลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกสถานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. ไว้ในมาตรา 8 (4) ว่า

"เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง"

ไม่เคยมีบทบัญญัติเช่นนี้มาก่อนนะครับนับตั้งแต่มีบทบัญญัติและมาตรการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งขึ้นมาในประเทศไทย ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 หรือรัฐธรรมนูญ 2540 ลักษณะต้องห้ามใกล้เคียงกันนี้ที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็แค่ “อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็มีระยะเวลาเพียง 5 ปี หมายความว่าในช่วง 5 ปีจะมาสมัครส.ส.หรือส.ว.ไม่ได้ ซึ่งต่างกับบทบัญญัติมาตรา 8 (4) ลิบลับ เพราะเพียงแค่ “เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” แล้วแม้ว่าจะพ้นระยะเวลา 5 ปีแล้วก็ยังเป็นบุคคลต้องห้ามเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

อันที่จริงคือถือเป็นบุคคลต้องห้ามตลอดชีวิต !

มาตรา 8 (4) นี้เป็นเหตุให้ พล.อ.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ต้องตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็เพราะเหตุที่ท่านเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากเมื่อครั้งที่เข้าไปเป็นกรรมการพรรคมัชฌิมาธิปไตยแล้วพรรคนั้นถูกยุบโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

แม้มาตรา 8 (4) จะเป็นเพียงลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกสถานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังโยงไปเป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วยตามมาตรา 20 (4)

"ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8"

ซึ่งก็เป็นปรกติดของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ที่ลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะโยงไปเป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกวุฒิสภาและรัฐมนตรีด้วย

ผลเฉพาะหน้าในอนาคตอันใกล้ก็คือใครที่เคยกะเก็งว่าบุคคลที่ช่วยงานคสช.บางท่านอย่างเช่นดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หนึ่งในที่ปรึกษาคสช.ที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ จะเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี เป็นอันเลิกคิดได้เลย เพราะท่านเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพราะเหตุเป็นหนึ่งในกรรมการพรรคไทยรักไทยที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบเมื่อกลางปี 2550 หรือที่เรียกกันว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 นั่นเอง จึงมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 20 (4) ประกอบมาตรา 8 (4)

ส่วนผลในอนาคต 1 ปีข้างหน้าที่สำคัญกว่าและผมต้องการชี้ให้เห็นในที่นี้ก็คือ ถ้าลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกสภา ซึ่งจะโยงไปเป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย ตามมาตรา 8 (4) นี้เป็นมรดกตกทอดไปยังรัฐธรรมนูญถาวรที่มีโร้ดแมปว่าจะประกาศใช้ในปี 2558 ด้วยละก็ การเมืองไทยจะพลิกโฉมหน้าไปพอสมควร

เพราะจะเป็นการตัดสิทธินักการเมืองที่ต้องคำสั่งยุบพรรคและตนถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในช่วงตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาไปได้เป็นรัอย ๆ คนเลยไม่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราฎร สมาชิกวุฒิสภา และไม่มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

กลุ่มใหญ่ ๆ ในช่วงตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาก็คือพวกนักการเมืองที่ถูกสื่อมวลชนเรียกว่าบ้านเลขที่ 111 กับบ้านเลขที่ 109 นั่นแหละ

เป็นการตัดสิทธิตลอดชีวิต !

ไม่เพียงแต่คนที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นอย่างดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์จะโดนอีก แต่จะโดนกันทั้งนั้น โดนอีกเป็นร้อย ทั้ง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, บรรหาร ศิลปอาชา, พินิจ จารุสมบัติ และ ฯลฯ

รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร !

บรรดานักการเมืองแถว 1 แถว 2 ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมายาวนานนี่แทบจะเหลือแต่นักการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เลย เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยถูกยุบ กรรมการพรรคจึงไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

นักการเมืองที่จะลงสนามเลือกตั้งในการเลือกตั้งปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 ก็จะมีแต่นักการเมืองเก่าจากพรรคประชาธิปัตย์ และนักการเมืองหน้าใหม่สังกัดพรรคการเมืองใหม่

ดูแล้วยากมากที่มาตรา 8 (4) จะไม่เป็นมรดกตกทอดไปยังว่าที่รัฐธรรมนูญถาวร 2558

เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศนี้อีกเช่นกันที่มีบทบัญญัติกำหนดกรอบบังคับการออกแบบรัฐธรรมนูญถาวรเอาไว้ในมาตรา 35 ที่เรียกกันว่าบัญญัติ 10 ประการ “The Ten Commandments” เพราะมีอยู่ 10 อนุมาตรา

ในมาตรา 35 (4) ระบุไว้ว่ารัฐธรรมนูญถาวรจะต้องมีบทบัญญัติดังนี้

"กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด"

เขียนบังคับไว้อย่างนี้ ผมจึงยังมองไม่เห็นเลยว่าจะเป็นอื่นไปได้อย่างไร

มาตรา 8 (4) ลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกสภาที่จะเชื่อมโยงไปเป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่ระบุว่า “เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” นี้จะต้องอยู่ในว่าที่รัฐธรรมนูญถาวร 2558 แน่นอน

เท่านั้นยังไม่พอครับพี่น้อง

กรอบตามมาตรา 35 (4) ตรงคำว่า “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย..” หากรวมถึงคำวินิจฉัยชี้มูลความผิดขององค์กรอิสระอย่างปปช.และกกต.ด้วยแล้ว ยังจะเป็นการตัดสิทธินักการเมืองไปได้อีกเป็นร้อยทีเดียว รวมทั้งอดีตประธานสภา 2 สภาและอดีตนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด

แปลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ ป.ป.ช.มีคำสั่งชี้มูลความผิดแล้วก็จะถูกตัดสิทธิด้วย ?

นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องขยายความกันต่อไป วันนี้เอาเฉพาะประเด็นเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อน

ถูกต้องแล้วหรือไม่ ?

แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ?

และจะสร้างปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมาหรือไม่ ?

นั่นก็เป็นอีกหลายประเด็นที่จะต้องค่อย ๆ เสวนากันต่อไป โดยด้านหนึ่งจะต้องดูบทบัญญัติอื่นของว่ารัฐธรรมนูญถาวร 2558 ประกอบด้วย และอีกด้านหนึ่งก็ต้องดูปฏิกิริยาของนักการเมืองที่ “เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ทั้งหลายด้วยว่าจะมีท่าทีอย่างไร และ คสช.จะสนองตอบอย่างไร หรือไม่

นับจากนี้ไป 1 ปีเร้าใจแน่นอน !
กำลังโหลดความคิดเห็น