ที่ประชุม สนช.เห็นชอบกำหนดหลักเกณฑ์ถอดถอนไว้ในข้อบังคับการประชุม แม้บางคนขอแปรญัตติหวั่นประธานอยู่ไม่สุขเพราะเจอเรียกแขก ที่สุดเห็นชอบร่างทั้งฉบับแล้ว 148 เสียง
วันนี้ (25 ก.ย.) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สนช. หลังนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ในฐานประธานในที่ประชุมได้สั่งพักการประชุมชั่วคราวเพื่อให้คณะ กมธ.ของนายพีระศักดิ์ไปประชุมหารือกัน เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง นายพรเพชรได้ให้สมาชิกลงมติ โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้มีการแยกเรื่องอำนาจด้านความมั่นคง ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการสามัญการต่างประเทศ ออกไปอยู่ในส่วนของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนเรื่องของการต่างประเทศก็ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญต่างประเทศอีกชุดหนึ่ง
ส่วนการพิจารณาข้อ 149 หมวด 10 เรื่องการถอดถอนและการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง นายธานี อ่อนละเอียด สนช. ผู้เสนอแปรญัตติได้อภิปรายว่า เนื่องจากร่างข้อบังคับดังกล่าวระบุว่าให้ตัดอำนาจการถอดถอนออกไป และให้กำหนดให้เขียนระเบียบการถอดถอนขึ้นมาแทนโดยเป็นอำนาจของประธาน สนช. โดยความเป็นชอบของที่ประชุม สนช.แทน เนื่องจากหากเป็นร่างของกรรมาธิการ หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดจากการถูกกล่าวหาตามกฎหมาย ป.ป.ช. ประธานต้องมีหน้าที่ต้องบรรจุเป็นเรื่องเร่งด่วนภายใน 30 วัน หากทำตามนี้ประธานก็จะอยู่ไม่เป็นสุข และกระทบต่อตำแหน่งแน่นอน เพราะเป็นการเรียกแขก เนื่องจากประเด็นดังกล่าวนี้ยังมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะขณะนี้รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว อาจส่งผลให้มีคนไปร้องศาลต่างๆ เพื่อขอความเป็นธรรมอีกเช่นกัน หากประธาน สนช.ไม่ยอมทำก็จะถูกดำเนินคดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีก ถือว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง และเป็นการติดกับดักในการยกร่าง
นายธานีกล่าวว่า ทางออกของเรื่องนี้ คือ ให้ตั้งกรรมการชุดหนึ่งจำนวน 19 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนจากกรรมาธิการสามัญชุดต่างๆ คณะละ 1 คน รวมเป็น 16 คน และจากวิป สนช.อีก 3 คน มากลั่นกรองปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ ว่ามีอำนาจในการถอดถอนในแต่ละประเด็นหรือไม่ ก่อนจะนำมาวินิจฉัยชี้ขาดในที่ประชุม โดยอาศัยมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดำเนินการจารีตประเพณี เพื่อสร้างเกราะคุ้มกันการทำหน้าที่ของประธาน สนช. และสมาชิก สนช.
“ผมไม่มีเจตนาปกป้องหรือไม่ให้มีการถอดถอน ผมเห็นต่าง ไม่ได้เห็นตาม อย่าผลักผมไปอยู่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เพราะไม่เคยฝักใฝ่พรรคการเมือง ไม่เล่นการเมือง และไม่คิดจะเล่นการเมือง แต่ยืนยันว่าขบวนการเรียกแขกจะเกิดขึ้นทันที หากร่างข้อบังคับนี้ประกาศใช้ จึงต้องการเสนอทางออกเพื่อประโยชน์ความสุขแก่ประชาชนและประเทศชาติ” นายธานีกล่าว
ด้านนายตวง อันทะไชย สนช.ในฐานะกรรมาธิการชี้แจงว่า ประเด็นเรื่องการถอดถอนได้หรือไม่ได้ เป็นอีกเรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไป แต่ขณะนี้เป็นเรื่องของ สนช.มีอำนาจยกร่างหมวดการถอดถอนหรือไม่ เพราะดูจากมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว. ประกอบกับคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 11 ที่ให้อำนาจการถอดถอนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เอาไว้อยู่ตามกฎหมาย ป.ป.ช. จึงเห็นว่า สนช.สามารถยกร่างข้อบังคับประเด็นดังกล่าวได้ เพื่อรองรับอำนาจของกฎหมาย ป.ป.ช. และกฎหมายขององค์กรอิสระอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกยกเลิกไป
“เราจึงไม่สามารถตัดเรื่องการการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก 17 ตำแหน่งตามกฎหมาย ป.ป.ช. ออกไปได้ และยืนยันว่าพวกเราต้องมีเครื่องมือในการถอดถอนเอาไว้ทำงานเมื่อยกร่างเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ว่าเราสามารถถอดถอนได้ทันที เพราะจะถอดถอนได้ต้องเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของหลายองค์กรที่กำหนดไว้ ส่งสำนวนมา” นายตวงกล่าว
จากนั้นที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบหมวด 10 เรื่องการถอดถอนตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอมาด้วยคะแนน 128 ต่อ 9 เสียง และไม่เห็นด้วยต่อการตั้งคณะกรรมการ 19 คนเพื่อกลั่นกรองตามที่นายธานีเสนอ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯยังได้ขอถอนมาตรา 145/1 ที่ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช.พิจารณาตรวจสอบคำร้องดังกล่าวว่าอยู่ในอำนาจสภาหรือไม่ด้วย ภายหลังพิจารณาครบทั้ง 221 ข้อบังคับแล้ว ที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเสียง 148 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.เป็นต้นไป จากนั้นประธานได้สั่งปิดประชุมเวลา 16.00 น.