“บิ๊กตู่” ยันคุม รบ.-รมต.ได้ โกงผิดนโยบาย แนะให้ฟ้อง ลั่นไม่ซ้ำรอย รบ.ก่อน เหตุไม่หวังผลประโยชน์ โวไม่กดดัน จริงใจกับชาติ ย้อนรู้ได้ไง รบ.ไม่มีอะไร ชี้ทำให้บังคับใช้ กม.ได้ ขอนักวิชาการอย่าเพิ่งโวย รับไม่ชินทำงานทำเนียบแต่ชินปัญหา อย่ากังวลปฏิรูปไร้ล็อกสเปก ยันสั่ง สปช.ไม่ได้ สั่งรื้อคดีมาเฟีย ฟัน จนท.มีเอี่ยว ขอให้วางใจทหารอยู่ในพื้นที่เกาะเต่าแล้ว
วันนี้ (24 ก.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลไม่ให้รัฐบาลมีการทุจริตว่า ตนคุมรัฐบาลและคุมรัฐมนตรีได้เพราะเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องบังคับบัญชา การทำงานก็เหมือนกับทหาร ผู้บัญชาการทหารบกก็บังคับบัญชาแม่ทัพ และแม่ทัพก็ไปบังคับบัญชาระดับกองพลและระดับล่าง ตนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องคุมรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และคณะทำงานที่เป็นฝ่ายการเมืองให้ได้ ส่วนระดับราชการก็ต้องไปควบคุมตามลำดับ ทุกอย่างมีความรับผิดชอบตามกฎหมายอยู่แล้ว ในเมื่อมีนโยบายชัดเจนอยู่แล้วก็จะต้องปฏิบัติ ถ้าไปทำทุจริตและผิดกฎหมายถือว่าผิดนโยบายซึ่งทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนี่คือระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน แต่ต้องไปดูและให้ความเป็นธรรม เรื่องใดก็ตามที่ดูแล้วไม่ถูกต้องก็ต้องไปร้องเรียนหรือฟ้องร้อง เพื่อที่จะให้โอกาสในการดำเนินการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการ ไม่ใช่สอบสวนกันแค่ 2-3 วันแล้วจบ เป็นไปไม่ได้ ต้องใช้ระยะเวลา โทษทัณฑ์ที่ว่าจะมีเบาไปหาหนัก ทหารก็มีภาคทัณฑ์ กักขัง จำขัง ซึ่งข้าราชการก็คงจะเหมือนกัน แต่จะให้ขังเเบบทหารคงไม่มี แต่จะถูกดำเนินคดีอาญาและแพ่ง
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าจะไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยรัฐบาลชุดที่เเล้ว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะซ้ำได้อย่างไรในเมื่อเจตนาตนไม่ทำ เจตนาของรัฐบาลคือไม่ต้องการผลประโยชน์แม้แต่นิดเดียว เท่าไหร่ก็ไม่ต้องการ และรัฐมนตรีทุกคนก็ไม่ต้องการ อยากจะถามว่าจะซ้ำตรงไหน วันนี้ทำทุกอย่างมาตั้งแต่การจัดทำนโยบาย จัดทำงบประมาณ รวมถึงการบริหารจัดการต่างๆ ตนได้สั่งอย่างละเอียดและการประชุม ครม.ก็ได้สั่งการ 20-30 เรื่อง ไม่ได้เป็นการประชุมเเค่นำเรื่องเข้ามาแล้วอนุมัติ มันไม่ใช่ ตนได้สั่งการว่าจะทำงานอย่างไรด้วย ทุกครั้งที่มีการประชุม ครม.จะใช้เวลามากพอสมควร เราป้องกันในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างถูกต้อง ไม่มีการทุจริตและให้เกิดผลประโยชน์โดยตรงกับประเทศชาติ ไม่อย่างนั้นงบประมาณจะสูญเปล่าและเสียไปเรื่อยๆ ถ้าสื่อหรือใครได้ข่าวการทุจริต ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และประชาชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังเพื่อแจ้งขึ้นมา หลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนหรือจะดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งเป็นตามขั้นตอนทุกอย่าง ถ้าผู้บริหารไม่ต้องการผลประโยชน์ มันจบแล้ว แต่อย่างอื่นก็ต้องว่าไปตามระบบเนื่องจากมีกฎกติกาอยู่แล้ว
เมื่อถามว่ารู้สึกกดดันหรือไม่กับการถูกจับตามองจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กดดันเรื่องอะไร ไม่เคยกดดัน ใครจะจับตามองก็จับตามมองมา จะมากดดันตนด้วยเรื่องอะไร ในเมื่อตนทำในสิ่งที่บริสุทธิ์ใจและจริงใจกับประเทศชาติจะกดดันไปทำไม ถ้ากดดันก็ทำงานลำบาก ตนฟังความคิดเห็นของทุกคนเพื่อนำมาวิเคราะห์มาตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ฟังความคิดเห็นทุกคน แแม้กระทั่งกลุ่มต่อต้านก็ฟัง อยากเรียกร้องขอให้เขาดูสถานการณ์ของประเทศไปก่อนขณะนี้ได้ไหม ให้ประเทศชาติผ่านวันเวลาที่ยากลำบากตอนนี้ไปก่อนได้ไหม เราต้องการแก้ไขปัญหาที่จะต้องไม่เกิดขึ้นในอนาคต ฉะนั้นไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ตนก็ไม่ต้องมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมีการควบคุมอำนาจ และท่านคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันดีหรือไม่ หรือจะเกิดต่อไป ไปถึงไหนก็ไม่รู้ ถ้ามีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นจะทำอย่างไร บางคนบอกว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาก็ไม่เห็นมีอะไร ก็เพราะว่ามาถึงไม่มีอะไร ท่านรู้ได้อย่างไรว่าไม่มีอะไร ที่ผ่านมามีเหตุการณ์มาโดยตลอด การดำเนินคดี การบังคับใช้กฎหมายก็ไม่เต็มที่ แต่ตอนนี้เราใช้เต็มที่ อาจจะดูว่ารุนแรงไปหน่อย แต่ตนอยากถามว่าที่ผ่านมามันแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้าง ถ้าเราไม่ใช้กฎหมายที่เหมาะสม เป็นธรรม มันก็จะเกิดคดีความอย่างนั้นไปเรื่อยๆ บุกรุกป่า ปัญหายาเสพติดที่มีมากมาย หรืออาชญากรรมต่างๆ และอาวุธสงคราม ตนอยากถามว่าจะทำอย่างไร
“ช่วงก่อนวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องการบริหารราชการเเผ่นดินที่เป็นเรื่องใหญ่ ส่วนเรื่องอื่นเป็นเพียงแค่องค์ประกอบ ทั้งเรื่องการทุจริตต่างๆ ซึ่งมีกระบวนการของมันอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือบริหาราชการแผ่นดินไม่ได้ งบประมาณใช้ไม่ได้ และที่ผมทำไม่ใช่ทำเพื่อช่วยใคร ผมช่วยประเทศชาติ ผมช่วยคนไทยทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ถ้าทุกคนต้องการได้เท่ากันหมดมันเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากประเทศชาติใหญ่โต เราแค่ 77 จังหวัดก็ใหญ่แล้ว ซึ่งถ้ามองจากข้างบนลงมาข้างล่างจะเห็นประชาชนเต็มไปหมด จะทำอย่างไรให้ถึงคนเหล่านั้นให้ได้ เป็นสิ่งที่ผมคิดมาโดยตลอดตั้งแต่เด็กจนโต ผมอยู่กับคนยากจนมาโดยตลอด อยู่กับชาวไร่ชาวนา อยู่กับคนเดือดร้อน โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่ไม่มีจะกิน หาเงินซัก 10 บาทยังหาไม่ได้เลย สมัยก่อนผมก็ยังหาไม่ได้เลย วันนี้จะทำยังไงให้ดีขึ้น วันนี้ดีขึ้นส่วนน้อย ส่วนที่ไม่ดียังเยอะอยู่ ดังนั้นขอให้ช่วยกันหน่อย ทั้งนักวิชาการหรือใครก็แล้วแต่ช่วยกันเถอะ ให้ลดระดับไปก่อนได้ไหม อย่างเพิ่งมาเรียกร้องอะไรกันมากมาย เพราะเรียกมาก็ตีกันอีก มันก็จะเกิดความวุ่นวาย ผมไม่ใช่คนไม่รักประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยมันต้องพร้อมก่อน ต้องแก้ไขประชาธิปไตยของเราให้ได้ก่อน”
เมื่อถามว่า ไปนั่งทำงานที่ทำที่ทำเนียบรัฐบาลชินหรือไม่ยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะชินได้อย่างไร ตนเป็นทหารมาทั้งชีวิต อย่าใช้คำว่าชินดีกว่า แต่ให้ใช้คำว่าตนชินกับปัญหา ตนชินกับปัญหาที่มีมายาวนานแล้ว เมื่อเรามีโอกาสเข้ามาทำงาน เราต้องแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ได้ มันอาจจะมากบ้างหรือน้อยบ้าง ก็จะต้องเร่งดำเนินการ ส่วนการทำงานปฏิรูป 1 ปีตามที่วางไว้เป็นเรื่องของสภาปฏิรุปที่จะต้องดำเนินการ ตนได้ให้แนวทางตามโรดแมปไว้ เพราะเราต้องสร้างการรับรู้จากต่างประเทศด้วย สิ่งนี้ตนแฟร์กับทุกคน ดังนั้นขึ้นอยู่กับพวกเราที่ให้เวลาการทำงานรัฐบาลแค่ไหน รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์แล้วว่าจะทำงานให้ดีและเร็วที่สุด ดังนั้นอย่ากังวลในเรื่องของการปฏิรูป ไม่มีการล็อกสเปก เพราะตนไม่ได้ไปล็อคกับใคร และเขาจะมาช่วยอะไรตนได้ เพราะหน้าที่ของตนคือการดูแลประเทศชาติ จะต้องมีการระดมสติปัญญามาอยู่ในคณะทำงานของแต่ละกลุ่ม เมื่อคัดเลือกมาแล้ว 250 คน ก็จะคัดเลือกให้เหลือ 173 คน บวก 77 คน ก็จะต้องมาจัดกันใหม่ ว่าใครจะอยู่กลุ่มไหนใน 11 กลุ่ม ไม่ใช่ว่ามัครกลุ่มไหนแล้วได้กลุ่มนั้น หลังจากนั้นจะมีการเลือกประธาน สปช. ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย การดำเนินการจะคล้ายกับ สนช. ยืนยันว่าตนไม่ได้มีแนวทางให้กับ สปช. ให้เขาไปคิดกันเอาเอง ปัญหาเขารู้อยู่แล้ว เพราะเราทำปฏิรูปครั้งที่ 1 ไปแล้ว โดยให้มีคณะไปศึกษามาแล้ว ทั้งนายประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส รวมทั้งนายคณิต ณ นคร ถ้าจะทำให้เร็วก็เอาคนพวกนี้มาดู หากมีความเห็นต่างก็เสนอเข้ามา ก่อนที่จะนำเข้าไปสู่คณะกรรมธิการร่างรัฐธรรมนูญ อีกส่วนหนึ่งจะเข้าไปที่ สนช. เพื่อให้ออกมาเป็นกฏหมาย เพื่อปฏิบัติ ตนสั่งเขาไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของ สปช.ที่จะต้องโหวตยกมือกันว่าเห็นด้วยหรือไม่
“ผมจะไปล็อกสเปกเขามาทำไม ถ้าล็อกสเปกมาทั้งหมดมันก็ได้คนไม่มีความรู้หลากหลาย ที่จะลงมาทำงานทั้ง 11 กลุ่ม ซึ่งมันทำไม่ได้ แต่ปัญหาขณะนี้บางกลุ่มมีเยอะ โดยเฉพาะการศึกษาที่มีประมาณ 700-800 คน ขณะที่ด้านสื่อมวลชนมีเพียง 100 กว่าคน ถือว่าน้อยมาก ซึ่งรัฐบาลก็มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ จะเดินทางเยือนยูเอ็น เพื่อชี้แจงรายละเอียดในการดำเนินการ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคม แล้วทั้งช่องทางผู้ช่วยทูตทหาร และเอกอัครราชทูต หลายประเทศมีความเป็นห่วงเป็นใย เราเป็นประเทศไทยเราต้องทำอะไรเพื่อคนไทยก่อน ส่วนต่างชาติก็ต้องใช้ระยะเวลา เราไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ส่วนจะเดินทางไปประเทศไหนเป็นประเทศแรกยังไม่บอก”
พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดีฆ่าสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า โดยเฉพาะมีเรื่องของมาเฟียเข้ามาเกี่ยวข้องว่า กำลังให้รื้อคดีกลุ่มผู้อิทธิพลมาเฟีย ตนส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูด้วย ตนทำงานไม่ได้อยู่แค่ฟังรายงาน ตนมีเเหล่งข่าวและประชาชนก็แจ้งเข้ามา รับฟังทุกคนและได้บอกไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงให้ไปดูว่ากลุ่มมาเฟียเป็นอย่างไร กลุ่มผู้มีอิทธิพลมีไหม หรือว่าคนของเราเข้าไปเกี่ยวข้อง รู้ก็ต้องไปหาให้หมด อย่าเพิ่งไปลงความเห็นว่าคนนั้นคนนี้ทำ จะต้องไปหาให้รอบคอบก่อนว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง คิดว่าน่าจะมีความก้าวหน้าไวขึ้น เนื่องจากเราให้ความสำคัญ ขณะนี้มีทหารอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งให้แม่ทัพภาคที่ 4 ดูแลอยู่ อยากให้ไว้ใจเจ้าหน้าที่เนื่องจากวันนี้ปรับปรุบทุกอย่างให้เข้าระบบมากขึ้น ที่ผ่านมาการนำอาจจะไม่เข้มแข็งพอ วันนี้จึงจะต้องเข้มแข็ง เมื่อเรานำเขาดีเขาก็ต้องทำงานให้ได้ ถ้าใช้ทหารทุกอย่างอาจจะดูว่าแรงไปหน่อยรึเปล่า อย่ากังวลให้เวลาหน่อยสิ เพิ่งทำงานมาได้ 4 เดือน ปัญหามีมากี่ปีแล้ว ทั้งนี้หากมีทหารหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการเหล่านี้ก็ต้องถูกลงโทษ เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องไม่เข้าไปร่วมกับการกระทำผิดกฎหมาย จะไปเว้นคนนั้นคนนี้คงไม่ได้