xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพงษ์” เหน็บ “บิ๊กตู่” อยากได้ประชาธิปไตยนะจ๊ะใช่ไหม - “อุดมเดช” เถียงโพล ปชป.นำไม่เป็น ปชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำเพื่อไทยดาหน้าแถลง “อ้ายปึ้ง” เหน็บ “ประยุทธ์” ยกเลิก คกก.สรรหา สปช. ไม่ต่างจากเลือก สนช. ยกมือปุ๊บผ่านปั๊บทุกเรื่อง ถามจะเป็นประชาธิปไตยนะจ๊ะใช่หรือไม่ ซัดสังคมโลกไม่ยอมรับ ถอยหลัง 8 ปีแล้วถอยอีกก็ลองดู “อุดมเดช” ขวาง สนช. พ่วงอำนาจถอดถอนนักการเมือง หยันเรื่องตลก ไม่หวั่นกรุงเทพโพลล์ระบุ ปชป.ขาขึ้น บ้านเมืองตอนนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย “หมอเชิดชัย” แนะเอาเวลาไปแก้ปัญหาชาติดีกว่า ไม่อย่างนั้นไม่ปรองดอง

วันนี้ (21 ก.ย.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ความจริงการตั้งกรรมการขึ้นมาในตอนต้นก็ดูเข้าท่า ประชาชนรับทราบแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร จู่ๆ มายกเลิกไปเสีย ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่ามันคืออะไร การจะกลับไปให้ คสช.เลือกทั้งหมด ก็ไม่ต่างจากการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ผ่านมา เป็นพรรคพวกตัวเองทั้งนั้น ประเภทยกมือปุ๊บผ่านปั๊บทุกเรื่อง

ดังนั้น ที่บอกว่าจะมาปฏิรูปประเทศนั้น สังคมคงต้องตั้งคำถามเสียแล้ว และการทำแบบนี้มันสอดคล้องกับที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าเราจะเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ตรงนี้ความหมายคืออะไร จะเป็นประชาธิปไตยนะจ๊ะใช่หรือไม่ อาจเป็นประชาธิปไตยแบบพม่า กัมพูชา จีน อาจเป็นประชาธิปไตยที่สังคมโลกไม่ยอมรับ ฉะนั้นขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาอธิบายให้ชัด ทุกคนตั้งใจฟังท่านอยู่แล้ว จะเอาอย่างไรก็บอกมาเลย วันนี้ประเทศถอยหลังไป 8 ปี แล้ว จะถอยอีกก็ไม่เป็นไรลองดู

ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่ สนช.จะพิจารณาข้อบังคับการประชุม สนช.ว่าด้วยหมวดการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีการบังคับใช้อยู่นี้ ไม่ได้ให้อำนาจการถอนถอนแก่ สนช. หากจะมีการแก้ไขข้อบังคับขยายอำนาจให้ตัวเองต้องระมัดระวัง และมองว่าไม่น่ากระทำได้และไม่ควรกระทำ แต่ที่สุดแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับการตีความข้อกฎหมาย และเรื่องของการถอนถอนนั้นก่อนหน้านี้เป็นหน้าที่ของ ส.ว.ที่มีสมาชิกมาจากทั้งการแต่งตั้งและเลือกตั้ง ก็มีความชอบธรรมมากว่า สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด การจะให้ สนช.ที่มาจากการแต่งตั้ง ไปถอดถอนผู้ที่มาจากการเลือกตั้งต่างชาติอาจมองว่าเป็นเรื่องตลก

นายอุดมเดชยังได้กล่าวถึงกรณีผลสำรวจความคิดเห็นของศูนย์วิจัยมาหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมดีกว่าพรรคเพื่อไทยว่า ตนยังไม่กังวลในเรื่องนี้ เพราะบรรยากาศในขณะนี้ไม่ได้ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนยังไม่มีสิทธิไปออกเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นยังไม่ถึงเวลาที่จะถามค่านิยมพรรคการเมือง ควรถามว่าประชาชนอยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย หรือให้ปกครองแบบไม่เป็นประชาธิปไตย และเมื่อบรรยากาศในประเทศกลับมาเป็นประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง ค่อยมาถามว่าคะแนนนิยมของพรรคไหนดีกว่ากัน จะดีกว่า

นายอุดมเดชกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่สมาชิกรัฐสภา 308 คนที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 291 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มองว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกฉีกไปแล้ว และอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ว.ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้ถูกฉีกไปแล้วด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าจะมีเหลุผล ในการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาถอดถอน อดีตสมาชิกรัฐสภาที่ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้

ขณะที่ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ สนช.จะพิจารณาข้อบังคับการประชุม สนช.ว่าด้วยหมวดการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าไม่เห็นด้วย เพราะจะเกิดความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และ สนช.มาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะไปถอดถอนคนที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่ได้ อีกทั้งในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่ได้มีการเขียนเรื่องการถอนถอนไว้ชัดเจน

ทั้งนี้ หากยังจะเดินหน้าออกข้อบังคับดังกล่าวจะบ่งชี้ให้เห็นว่ามีความต้องการกลั่นแกล้งทางการเมือง กับกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เนื่องจาก สนช.มีกลุ่ม 40 ส.ว.ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากกลุ่มรัฐบาลที่ผ่านมาอยู่ และในขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็อยู่ระหว่างการพิจารณากรณีที่ สมาชิกรัฐสภาจำนวน 308 คนที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว. และอาจจะมีการส่งเรื่องให้ถอดถอนได้ จึงมองว่าหากมีการเดินหน้าเรื่องดังกล่าวจะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ

“ผมว่า สนช.เอาเวลาไปออกกฎหมายที่มีความเร่งด่วน เช่นการแก้ปัญหา เศรษฐกิจ และกฎหมายที่ออกในสภาปกติยาก จะดีกว่าเอาเวลามาดำเนินการเรื่องถอดถอน เพราะจะสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นใหม่ได้อีก” นพ.เชิดชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น