xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลชี้คนโคราชส่วนใหญ่เมินตั้ง จ.บัวใหญ่ แนะให้ทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพลนิด้าสำรวจ ปชช.ชาวโคราชเรื่องการตั้ง “จังหวัดบัวใหญ่” ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ต้องการให้เป็นจังหวัดเดียวกัน เป็นหลานย่าโมเช่นเดิม เหตุผลที่ขอแยกมีไม่พอ แนะสร้างความเจริญในพื้นที่แทน เสนอทำประชามติ เพื่อทราบความต้องการที่แท้จริง


วันนี้ (21 ก.ย.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “การตั้งจังหวัดบัวใหญ่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน 2557 กรณีศึกษาจากประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา กระจายทุกอำเภอ ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,228 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเสนอแยก 8 อำเภอ ในจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย 1. อ.บัวใหญ่ 2. อ.บ้านเหลื่อม 3. อ.ประทาย 4. อ.คง 5. อ.โนนแดง 6. อ.แก้งสนามนาง 7. อ.บัวลาย และ 8. อ.สีดา ออกเป็นจังหวัดบัวใหญ่ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากผลการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแยก 8 อำเภอใน จังหวัดนครราชสีมาออกมาเป็นจังหวัดบัวใหญ่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.26 ระบุว่าไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้เป็นจังหวัดเดียวกัน ถือว่าทุกคนเป็นลูกหลานย่าโมด้วยกันทั้งสิ้น ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่ เหตุผลที่ต้องการแยกยังไม่มีน้ำหนักพอว่าจะแยกไปเพราะด้วยเหตุใด หรือมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ควรแก้ไขด้วยการพัฒนาสร้างความเจริญในพื้นที่ เช่น การสร้างเส้นทางการคมนาคม ระหว่างอำเภอ จังหวัด รองลงมาร้อยละ 38.84 ระบุว่าเห็นด้วย เพราะเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเดินทางมาติดต่อราชการสำหรับคนที่อยู่ห่างจากอำเภอเมือง เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ขนาดใหญ่ และง่ายต่อการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ ประชาชนบางส่วนต้องการให้มีการพัฒนาในพื้นที่ เป็นการกระจายอำนาจและความเจริญไปยังพื้นที่ห่างไกล ขณะที่ ร้อยละ 13.03 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 1.87 ระบุว่าเฉยๆ ไม่สนใจ อย่างไรก็ได้

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำประชามติกับประชาชนในพื้นที่กรณีการจัดตั้งหวัดใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.76 ระบุว่า ควรทำประชามติ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และต้องคำนึงถึงเสียง ส่วนใหญ่ เป็นการให้ข้อมูลข่าวสาร และทราบถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง มีเพียงร้อยละ 2.52 ที่ระบุว่าไม่ควรทำประชามติ เพราะเป็นการสิ้นเปลืองบประมาณ และทางการน่าจะมีการพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสีย หรือความจำเป็นมาก่อนหน้าแล้ว ก็ลงมติความเห็นชอบไปเลยว่าจะจัดตั้งจังหวัดใหม่หรือไม่ และใช้เหตุผลในการชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน อีกทั้งยังเกรงว่าเสียง ส่วนใหญ่ของการทำประชามติ จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับแนวคิดของตนเอง ขณะที่ ระบุว่า 6.52 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 2.20 ระบุว่าเฉยๆ ไม่สนใจ อย่างไรก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น