สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจมุมมองการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน พบส่วนใหญ่มองว่าไม่เหมาะสม ชี้ต้องการสร้างกระแสกดดันรัฐบาล ทำให้ประชาชนขัดแย้งเพิ่มขึ้น สถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย พร้อมฝากนึกถึงส่วนรวม และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
วันนี้ (30 เม.ย.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ ประชาชนคิดอย่างไรต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ วันนี้ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้น และการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เริ่มมีให้เห็นเป็นระยะๆ ทำให้หลายฝ่ายจับตามองและมีความเป็นห่วงว่าอาจจะสร้างความขัดแย้งในสังคมได้ โดยเฉพาะประชาชนที่ติดตามข่าวสารทางสื่อต่างๆ เป็นประจำ โดยได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,247 คน ระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย. 2559 สรุปผลได้ ดังนี้
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดอย่างไรต่อนักการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหว ณ วันนี้ พบว่า ร้อยละ 80.67 เห็นว่า ต้องการสร้างกระแส กดดันรัฐบาล รองลงมาคือ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถทำได้ ร้อยละ 67.07, ควรนึกถึงผลดี ผลเสียให้มาก ร้อยละ 61.81, รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) น่าจะควบคุมดูแลได้ ร้อยละ 60.26 และ เป็นเรื่องปกติทางการเมือง ร้อยละ 57.44
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่า “ผลดี” จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักการเมืองคืออะไร พบว่า ร้อยละ 73.08 เห็นว่าประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ร้อยละ 73.08 รองลงมาคือ เกิดการตื่นตัวทางการเมือง ร้อยละ 62.11 และกระตุ้นให้รัฐบาลทำงานด้วยความละเอียดรอบคอบ ร้อยละ 59.74
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่า “ผลเสีย” จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักการเมืองคืออะไร พบว่า ร้อยละ 76.34 เห็นว่าสร้างความวุ่นวาย ขัดแย้ง แตกแยก รองลงมาคือ กระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 74.90 และ สังคมเกิดความสับสนในข้อมูลข่าวสาร ร้อยละ 67.92
เมื่อถามว่า การที่มีนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหว ประชาชนคิดว่าเป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ พบว่าร้อยละ 63.19 เห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะควรใช้วิธีการเจรจาพูดคุยด้วยเหตุผลหรือยื่นหนังสือจะดีกว่า การออกมาเคลื่อนไหวอาจทำให้บ้านเมืองวุ่นวายมากขึ้น กลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ส่วนที่เห็นว่าเหมาะสม ร้อยละ 36.81 เพราะเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ นักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชน มีประสบการณ์ มีความเข้าใจเรื่องการเมืองเป็นอย่างดี ช่วยตรวจสอบการทำงานและกระตุ้นให้รัฐบาลตื่นตัว ทำงานรัดกุมมากขึ้น
เมื่อถามว่า การที่มีนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวจะทำให้ประชาชนขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือไม่ พบว่าร้อยละ 53.41 เห็นว่าเพิ่มขึ้น เพราะเป็นการจุดกระแสทำให้สถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขัดแย้งทางความคิด แตกแยกกันมากขึ้น รองลงมาคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 32.80 เพราะยังไม่มีการเคลื่อนไหวที่รุนแรง ต้องรอดูท่าที อาจเป็นเพียงการสร้างกระแส ไม่ควรด่วนสรุป และไม่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.79 เพราะคนไทยมีบทเรียนทางการเมืองมาแล้วหลายครั้ง มีสติวิจารณญาณมากขึ้น รัฐบาลน่าจะควบคุมดูแลสถานการณ์ได้
เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนอยากฝากบอก “นักการเมือง” ที่ออกมาเคลื่อนไหว พบว่า ร้อยละ 83.48 เห็นว่า นึกถึงส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว รองลงมาคือ อยากให้แสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ร้อยละ 72.57, นำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน ร้อยละ 71.77, ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม ร้อยละ 63.83 และควรคิดให้รอบคอบ คำนึงถึงผลดี ผลเสียที่จะตามมา ร้อยละ 62.39