xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกอ้างถอดชื่อ “ทักษิณ” ออกจากตำราเรียน ม.ปลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เว็บนอก “นิวยอร์กไทมส์” อ้างนักวิชาการไทยเผยแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ไม่มีเนื้อหา “ทักษิณ” ในแบบเรียน ม.ปลาย ด้านเลขาธิการ กพฐ.ปฏิเสธ บอกยังใช้แบบเรียนเดิมตามปกติ

วันนี้ (16 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า เว็บไซต์เดอะนิวยอร์กไทมส์ นำเสนอรายงานข่าวที่ชื่อว่า "Loved and Hated, Former Premier of Thailand Is Erased From Textbook" (รักและชัง, อดีตนายกรัฐมนตรีถูกลบออกจากตำรา) เขียนโดย นายโทมัส ฟูลเลอร์ (Thomas Fuller) อ้างถึงนักวิชาการไทยกล่าวอ้างว่าแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เขาเขียนร่วมกับคณะ ไม่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในเนื้อหาแบบเรียน ซึ่งแบบเรียนดังกล่าวในรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์ระบุว่ารัฐบาลเพิ่งมีคำสั่งให้ใช้ในโรงเรียนรัฐ

ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวได้อ้างถึงนายถนอม อานามวัฒน์ นักวิชาการผู้เขียนแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ อาจารย์ด้านวิชาประวัติศาสตร์ ได้บอกว่าชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณถูกให้นำออกจากแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการ

“กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งให้โรงเรียนมัธยมฯ ของรัฐทั้งหมดใช้ตำราเรียนใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะปลูกฝังความรักชาติให้เยาวชนไทย และการเรียนรู้ถึงช่วงความรุ่งโรจน์ของราชอาณาจักรสยามในอดีต” นายถนอม กล่าวกับนิวยอร์กไทมส์

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ปฎิเสธว่าไม่ได้รับคำสั่งดังกล่าว แต่ต้องตรวจสอบดูก่อนว่าหนังสือแบบเรียนดังกล่าวจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ใด และมีการกระทำดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่มีนโยบายในการถอดชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากหนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะในระดับชั้นใด นักเรียนยังคงใช้หนังสือแบบเรียนเดิมตามปกติ

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้นในเรื่องของวิชาประวัติศาสตร์ นายวินัย รอดจ่าย ประธานกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ระบุเพียงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ฯ ได้หารือเรื่องการแยกการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง ออกมาเป็นวิชาเฉพาะ ตามแนวคิดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทั้งนี้ เดิมเนื้อหาทั้งสองวิชา อยู่ในส่วนของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมแล้วเห็นว่า การแยกออกมาตั้งเป็นกลุ่มสาระที่ 9 จะต้องมีการแก้ไขระเบียบกฎหมายรองรับซึ่งใช้เวลานาน ที่สำคัญเป็นวิชาที่ไม่สามารถเรียนโดดได้ ต้องเรียนควบคู่ไปกับสาระอื่นๆ ในกลุ่มสังคมศึกษา เช่น ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ที่ประชุมจึงลงความเห็นว่า ไม่แยกประวัติศาสตร์ออกมาตั้งเป็นกลุ่มสาระวิชาใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น