xs
xsm
sm
md
lg

ดับไฟใต้คืนความสุข องค์ประกอบพร้อม-ความหวังครั้งสุดท้าย !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวในเวลานี้ทำให้เข้าใจว่ากระบวนการในการพูดคุย “เพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” กำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในเวลาอันใกล้นี้ และคราวนี้จะจะเป็นความหวังครั้งสำคัญว่าผลจากการพูดคุยดังกล่าวน่าจะออกมาในทางบวก มีผลต่อการคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะถือว่าในเวลานี้มีองค์ประกอบพร้อมทั้งตัวบุคคล อำนาจความร่วมมือน่าจะมีความพร้อมมากที่สุดครั้งหนึ่ง

ขณะเดียวกัน หากทุกอย่างล้มครืน หรือไม่มีความคืบหน้ามากกว่าเดิม ก็ต้องบอกว่าเป็นการ “ดับฝัน” ครั้งสำคัญ ในอนาคตคงต้องปล่อยไปตามบุญตามกรรมกันแล้วหรือเปล่า

หากจะปูพื้นให้เห็นความเคลื่อนไหวในการรื้อฟื้นการเจรจา (พูดคุย) ขึ้นมาอีกครั้งโดยเริ่มจากการเดินทางไปเยือนมาเลเซียเมื่อวันที่ 9-10 กันยายนที่ผ่านมาของเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ “ถวิล เปลี่ยนศรี” และคณะที่ประกอบด้วยรองเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ ด้านจังหวัดชายแดนใต้ “อนุสิษฐ คุณากร” ลักษณะเป็นการนำร่องเพื่อไปทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมกันล่วงหน้าก่อนที่จะมีการพูดคุยในคราวต่อไป

แน่นอนว่าการพูดคุยดังกล่าวทางฝ่ายมาเลเซียจะทำหน้าที่เป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” รวมทั้งติดต่อประสานงานให้ในบางเรื่อง และที่น่าจับตามองนอกเหนือจากนั้นก็คือคราวนี้ทาง “สภาความมั่นคงฯ” ยังคงทำหน้าที่ในการเป็นแกนหลักในการเจรจาพูดคุยในภาพใหญ่เช่นเดิม เหมือนเมื่อครั้งในรัฐบาลชุดที่แล้วคือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มอบหมายให้ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เป็นหัวหน้าทีม

แม้ว่าก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวออกมาว่าทางฝ่ายไทยต้องการให้ฝ่ายทหารเป็นหัวหน้าทีม โดยมีการกำหนดตัวบุคคลขึ้นมาคือ พล.อ.อกนิษฐ หมื่นสวัสดิ์ ที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารบก แต่มีเสียงติติงมาจากอีกฝากหนึ่งกลับมาในทำนองว่าเขามีทัศนคติที่มีความแข็งกร้าวมากเกินไป อีกทั้งธรรมเนียมปฏิบัติในมาเลเซียที่ฝ่ายการเมืองอยู่เหนือฝ่ายกองทัพย่อมมีความคุ้นเคยในการประสานงานผ่านทางเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ มากกว่าและเพื่อความต่อเนื่องจากการพูดคุยคราวที่แล้วจึงทำให้มาลงตัวที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ สมช.) เป็นกลไกสำคัญ แม้ว่าสำหรับฝ่ายไทยยังไม่ชัดเจนเต็มร้อยว่าใครเป็นหัวหน้าทีม เพราะ ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติคนปัจจุบันกำลังจะเกษียณฯในปลายเดือนนี้ แต่ตามรายงานก็มีรองเลขาฯ ติดตามไปด้วยก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นเลขาฯสมช.คนต่อไปก็เป็นได้

สำหรับทีมพูดคุยเจรจา จากรายงานข่าวก่อนหน้านี้ยืนยันว่าจะมีฝ่ายละ 15 คน ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายทางการไทยต้องมีฝ่ายทหารเข้าร่วมอยู่แล้วและในจำนวนนั้นอาจจะยังมี พล.อ.อกนิษฐ หมื่นสวัสดิ์ ที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารบกด้วยก็ได้ และที่น่าจับตาก็คือรายละเอียดที่พอรับรู้มาก็คือคราวนี้จะมีการเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มที่ก่อเหตุในพื้นที่เข้าร่วมพูดคุย เช่น บีอาร์เอ็น บีไอพีพี และพูโล เป็นต้น และการพูดคุยจะเป็นการพูดคุยไปเรื่อยไม่กำหนดระยะเวลา ขณะเดียวกันยังมีการเจรจาในทางลับอีกทีมหนึ่ง ซึ่งตามข่าวยืนยันว่ามีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นทีมของฝ่ายทหารเพียวๆ

อย่างไรก็ดี เท่าที่จับทางการเจรจาทั้งในทางลับและการส่งสัญญาณออกมาในทางเปิดเผยพิจารณาจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ย้ำว่าจะไม่มีการพูดถึงเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” เนื่องจากไทยเป็น “รัฐเดี่ยว” มีระบุในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าหากมีการพูดคุยกันในภายหน้าผลจะออกมาแบบไหน

เมื่อวกกลับมาที่องค์ประกอบที่บอกว่าในยุคนี้น่าจะมีความพร้อมมากที่สุดก็ต้องอธิบายจากตัวบุคคลที่คลุกคลีเรียนรู้สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากระดับนโยบายสูงสุดตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรงมาตั้งแต่เป็นเสนาธิการทหารบก ที่โดยตำแหน่งเป็นเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มาจนถึงเป็นผู้บัญชาการทหารบก มาจนถึงเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ว่าที่ผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) และพล.ต.ปราการ ชลยุทธ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ซึ่ง ที่ผ่านมาก็เคยเป็นผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจยะลา เคยคลุกคลีกับพื้นที่รู้จักผู้นำชุมชนมากมาย นี่ยังไม่นับเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการแต่งตั้งคนใหม่เข้ามาแทน

เมื่อพิจารณาจากตัวบุคคล ตัวแทนอำนาจรัฐ และกองทัพ ถือว่าเป็นทีมที่มี “เอกภาพ” มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาเลยก็ว่าได้ ดังนั้นไม่ผิดนักที่จะบอกว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ในเรื่องการคืนความสงบให้กลับมาถือว่ามีความหวัง และอาจจะเป็น “ความหวังครั้งสุดท้าย” ก็ได้ เพราะในอนาคตข้างหน้าจะหาความพร้อมแบบนี้ได้ยาก อีกด้านหนึ่งถ้ายังไม่สำเร็จ สถานการณ์ไม่ดีขึ้นหรือยังไม่มีแนวโน้มที่ดีอย่างน้อยภายใน 3 เดือนนับจากนี้มันก็ต้องถือเป็นความล้มเหลว ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกัน!
กำลังโหลดความคิดเห็น