xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์ใต้ สถานการณ์ “ปกติ” ที่นโยบายและ “แม่ทัพ” ต้องมีความสำคัญเท่าเทียมกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุกราดยิงและวางระเบิดที่ อบต.มะกรูด จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 4 ราย เจ็บอีกหลายราย เป็นเหตุร้ายล่าสุดที่สะท้อนประสิทธิภาพการแก้ปัญหาของผู้รับผิดชอบ
รายงานพิเศษ
โดย..ศูนย์ข่าวหาดใหญ่


การบุกยิงเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น และการวางระเบิดแสวงเครื่องในที่ทำการเทศบาลตำบลมะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อกลางวันของวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา จนทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเสียชีวิต 4 ศพ และมีผู้บาดเจ็บ รวมทั้งประชาชนอีก 7 ราย และต่อเนื่องด้วยการยิงถล่มที่ทำการปกครองท้องถิ่นใน จ.ปัตตานีอีก 2 แห่ง และตามมาด้วยการระเบิดเส้นทางรถไฟที่ ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทั้งหมดคือการ “ตอบโจทย์” ว่า สถานการณ์ที่แผ่นดิน “ปลายด้ามขวาน” ยังเป็น “ปกติ” เหมือน 10 ปีที่ผ่านมา

ที่บอกว่า “ปกติ” เนื่องจากตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดเหตุรุนแรงระลอกใหม่ขึ้นที่แผ่นดินปลายด้ามขวานแห่งนี้ ไม่เคยมีวันไหนที่แผ่นดินนี้จะเงียบจากเสียงระเบิด เสียงปืน และงานศพ ของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน ทั้งที่เสียชีวิตจากการเป็น “เหยื่อ” ของสถานการณ์ และการเสียชีวิตจากการ “เจาะจง” ของผู้ “กระทำ”

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเทศบาลตำบลมะกรูด และต่อเนื่องถึงการวางระเบิดเส้นทางรถไฟที่ ต.ตันหยงลิมอ จึงเป็นสถานการณ์ “ปกติ” ที่อย่าได้นำไป “ยึดโยง” กับเรื่องการเดินทางไป “ปูทาง” เพื่อการ “พูดคุยสันติสุข” ของนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ “สมช.” ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา และอย่าได้นำไป “ยึดโยง” กับการโยกย้ายแม่ทัพภาคที่ 4 ให้วุ่นวายอย่าง “เลเพลาดพาด”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 ต่อเนื่องถึงวันที่ 12 กันยายน จึงเป็นเหตุการณ์ “ปกติ” ที่ “แนวร่วม” หรือกลุ่มก่อการร้ายยังเกาะติดในพื้นที่ เกาะติดเจ้าหน้าที่ และเห็น “ช่องว่าง” ของการรักษาความสงบของแผน “โคกโพธิ์โมเดล” มองเห็น “ช่องโหว่” ของ “ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า” หรือ “ศปก.” อำเภอโคกโพธิ์ จึงได้ปฏิบัติการก่อเหตุเพื่อสร้างความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

เป็น “อีกครั้งหนึ่ง” ซึ่งหมายถึงไม่ได้เป็น “ครั้งแรก” เพราะปฏิบัติการเช่นนี้เคยเกิดขึ้น ทั้งใน จ.ปัตตานี และ ใน จ.นราธิวาส หลายครั้ง ดังนั้น ปฏิบัติการครั้งนี้จึงไม่ใช่ “ครั้งสุดท้าย” ซึ่งคงจะเป็น “โจทย์” อีกข้อหนึ่งที่ทิ้งให้บรรดา “เสนาธิการ” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า หรือ ศปก.อ. ได้นำไป “แก้ทาง” เพื่อหาทางป้องกันการเกิดเหตุในครั้งต่อไป

 
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเทศบาลตำบลมะกรูดได้ “ตอกย้ำ” ให้เห็นว่า แม้แต่พื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนของ “ไทยพุทธ” ยังไม่ใช่พื้นที่ “ปลอดภัย” เพราะการวางระเบิดที่ “บ่อนไก่” เมื่อหลายวันก่อน และการก่อเหตุที่เทศบาลตำบลมะกรูด ล้วนเป็นพื้นที่ “ไทยพุทธ” เป็นส่วนใหญ่ แต่ “แนวร่วม” ยังสามารถที่จะก่อเหตุได้อย่าง “อิสรเสรี” ที่บอกว่า “อิสรเสรี” เพราะก่อนปฏิบัติการครั้งนี้ “หน่วยข่าว” ในพื้นที่ ไม่มีหน่วยไหนระแคะระคายว่าจะมีการก่อเหตุครั้งใหญ่ต่อองค์การบริหารท้องถิ่นแห่งนี้ และหลังเกิดเหตุ “แนวร่วม” หรือ “คนร้าย” หลบหนีได้อย่าง “ลอยนวล” ท่ามกลางความ “มืดมน” ของเจ้าหน้าที่ เพราะยังไม่รู้ว่ากลุ่มที่ก่อเหตุเป็นใคร ซึ่งสุดท้าย เจ้าหน้าที่คงใช้วิธีเดิมๆ ในการสรุปความคืบหน้าด้วยการกาง “รายชื่อ” ของ “แนวร่วม” ในพื้นที่ซึ่งเคยก่อเหตุ และมีหมายจับ พร้อมระบุว่า เป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุในครั้งนี้

ทั้งที่ก่อนหน้าจะมีการปฏิบัติการ “แนวร่วม” ในพื้นที่ได้ทำการเผากล้องวงจรปิดในพื้นที่ ต.มะกรูด เพื่อป้องกันการ “จับภาพ” ของคนร้าย เป็นการเตรียมการล่วงหน้า แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้สนใจต่อเหตุที่เกิดขึ้น ไม่มีการ “วิเคราะห์” ถึงการเผากล้องวงจรปิด เพื่อหาทางป้องกันเหตุ รวมทั้งก่อนเกิดเหตุที่เทศบาลตำบลมะกรูด “แนวร่วม” ได้ฆ่าชิงรถกระบะจากเจ้าของรถยนต์ในพื้นที่ บ้านล่องมุด อ.เทพา จ.สงขลา และนำรถยนต์ไปใช้ก่อเหตุ หลังจากพบว่ามีการฆ่าชิงรถ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ไม่ได้ “สำเหนียก” ว่าจะมีปฏิบัติการ “คาร์บอมบ์” หรือ “กราดยิง” เกิดขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องมีการตั้งข้อสังเกตคือ การที่ “แนวร่วม” เลือกที่จะก่อเหตุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.ปัตตานี 3 แห่งพร้อมๆ กัน มาจากสาเหตุอะไร และหวังผลอะไร มีเรื่อง “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องมีการสรุปออกมาให้ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านเลยไปอย่างที่เคยเกิดขึ้นขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง แต่ไม่เคยมีบทสรุปที่ “ชัดเจน” ว่าเกิดจากอะไร ทุกเหตุการณ์เหมือนกับการ “ซุกขยะ” เอาไว้ “ใต้พรม” ทั้งสิ้น

และสิ่งสำคัญ เมื่อเป้าหมายการ “ทำลายล้าง” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าเป็นเทศบาล หรือเป็น อบต. ไม่ได้จบลงที่เทศบาลตำบลมะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น จะร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

ซึ่งคงจะเป็น “หน้าที่” ของบรรดา “เสนาธิการ” ทั้งหลายของกองทัพ ที่จะต้อง “ขบคิด” ให้ได้ “แนวทาง” ในการป้องกัน เพื่อแสดงให้เห็น “ศักยภาพ” ของการเป็น “เสธ.” ที่จะต้องเก่งกว่า “เสธ.” ของกลุ่มก่อการร้าย ที่อาจจะเป็นแค่ “ดอเลาะ, ซาและ” ซึ่งเป็นแค่ “อุซตาส” ที่ทั้งชีวิตไม่เคยผ่านโรงเรียนเสนาธิการแม้แต่เสี้ยววินาที

 
ส่วนความคิดเห็นของภาคประชาชน และภาคประชาสังคมที่มีต่อการแก้ปัญหา “ไฟใต้” นั้น คงไม่มีความหมายที่จะ “ส่งผ่าน” ความเห็นไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบต่อปัญหา “ไฟใต้” เพราะจากการตั้งข้อสังเกตการณ์ทำหน้าที่ดับ “ไฟใต้” นับตั้งแต่มี คสช. ทุกอย่าง “รวมศูนย์” จากส่วนกลาง มีวิธีคิที่ถูกสรุปจากส่วนกลางแล้ว ในระดับพื้นที่เพียงต้องการผู้ปฏิบัติที่สามารถทำตามคำสั่งเท่านั้น

บทบาทของภาคประชาชน และภาคประชาสังคมที่เป็นอยู่ ณ วันนี้ คงเป็นเพียง “พิธีกรรม” เพราะให้เห็นถึงความสมบูรณ์ตามรูปแบบเท่านั้น เพราะแม้แต่ตัวแทนภาคประชาชน ที่มี “กฎหมาย” กำหนดอย่าง “สภาที่ปรึกษาการบริการและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็น พ.ร.บ.ก็ยังถูกละเลย โดยการเมินเฉยที่จะแต่งตั้งจากรัฐบาล แล้วจะนับประสาอะไรกับตัวแทนภาคประชาชนและประชาสังคมที่ไม่มีกฎหมายรองรับ

โดยข้อเท็จจริง สถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะ “รุนแรง” มากขึ้น หรือ “ลดน้อย” ลงนั้นองค์ประกอบสำคัญย่อมมาจากผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ด้วย ซึ่งในอดีตก่อนที่จะมีการรัฐประหาร และมี คสช. ผู้มีอำนาจหน้าที่ ประกอบด้วย แม่ทัพภาคที่ 4 และ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการมีผู้มีอำนาจและหน้าที่ 2 คน ถูก กองทัพมองว่าเป็นความ “ขัดแย้ง” และไม่มี “เอกภาพ” ในการดับไฟใต้

ดังนั้น หลังการกำเนิดของของ คสช. หลังรัฐประหาร อำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต. จึงถูกลดบทบาท ให้เป็น ศอ.บต.ส่วนหน้า อยู่ภายใต้การสั่งการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้สั่งการที่มีอำนาจที่เด็ดขาดแต่เพียงหนึ่งเดียว

โดยมี พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นแม่ทัพคนแรกที่มีอำนาจเด็ดขาด รับผิดชอบทั้งงานด้านยุทธการ และงานด้านการพัฒนา เพื่อที่จะทดลองให้เห็นว่า การมีแม่ทัพที่ใหญ่ที่สุดเพียงคนเดียวนั้น จะสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ และนอกจากจะให้อำนาจแม่ทัพในการสั่งการอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ยังมีการใช้กฎอัยการศึก เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาตามแบบฉบับของกำปั้นเหล็ก เพื่อการควบคุมพื้นที่ และควบคุมสถานการณ์
 
พล.ท.วลิต โรจนภักดี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
 
6 เดือนบนตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าของ พล.ท.วลิต โรจนภักดี ซึ่งถือเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ที่โชคดีที่สุด เพราะเป็นแม่ทัพภาค 4 ที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด และได้รับการอวยยศให้เป็น “พล.อ.” หลังพ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ในวันที่ 30 กันยายนนี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การให้แม่ทัพภาค 4 มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเพียงผู้เดียว ในการทำตามคำสั่งที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ได้ทำให้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยลงหรือไม่ และประชาชนพึงพอใจต่อนโยบายดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งเห็นเอกภาพของหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้นแล้วยัง

วันนี้ มีการเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 จาก พล.ท.วลิต โรจนภักดี มาเป็น พล.ต.ปราการ ชลยุทธ ซึ่งการเปลี่ยนแม่ทัพ ย่อมมีความหมายต่อสถานการณ์ความรุนแรงไม่มากก็น้อย จริงอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี จะย้ำอยู่ทุกบ่อยว่าแม่ทัพ ใครจะมาเป็นก็ได้ เพราะนโยบายของการดับไฟใต้มีความชัดเจน ใครมาเป็นแม่ทัพก็ต้องปฏิบัติตามนโยบาย ดังนั้น ใครมาเป็นแม่ทัพ ก็ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน

แต่ .. โดยข้อเท็จจริงสำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ความคิดเช่นนี้อาจจะผิดแผกไปจากข้อเท็จจริงตรงที่ นโยบาย เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ถ้าได้แม่ทัพ ที่มีความเข้าใจ มีวิสัยทัศน์ มีบุคลิก และมีความศรัทธาของประชาชน และผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นที่ตั้ง ความร่วมมือที่แม่ทัพได้รับจากทุกภาคส่วนก็จะผิดแผก แตกต่างกัน และความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น หรือ ผลสัมฤทธิ์ที่ออกมาก็จะไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น “ไฟใต้” จะดับได้เร็วได้ช้าไม่ได้อยู่ที่นโยบายเพียงด้านเดียว แต่ตัว “บุคคล” ที่ถูกส่งมาเป็นแม่ทัพก็ย่อมมีความสำคัญไม่น้อยกว่านโยบาย เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะได้บ่งบอกถึงนัยที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนว่า วิธีคิดจากส่วนกลาง ด้วยการมี “พระเอก” เพียงคนเดียว ได้สร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในการดับ “ไฟใต้” ได้แล้วหรือยัง
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น